ครั้งหนึ่งเมืองคามิคัตสึเคยเผาขยะทิ้งทั้งหมดเหมือนเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่น มีการเผาขยะทั้งวันและมีควันดำลอยออกมา แต่ในวันนี้เมืองคามิคัตสึเป็นเมืองแรกในญี่ปุ่นที่สามารถจัดการขยะได้อย่างยอดเยี่ยมจนรีไซเคิลขยะได้มากกว่า 80% และจะทำให้ได้ 100% ในปีนี้ ที่นี่ชาวเมืองแยกขยะที่บ้านกันสูงสุด 28 ชนิด มีศูนย์รวบรวมขยะที่แยกขยะอีก 45 ชนิด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมผู้คนจากหลายประเทศพากันเดินทางมาที่เมืองกลางภูเขาแห่งนี้เพื่อดูโมเดลการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ มาดูกันว่าเขาจัดการขยะกันอย่างไร
เทศบาลสนับสนุนเครื่องกำจัดขยะอาหาร
ภาพจาก Tzu Chi Culture & Communication Foundation
เริ่มจากขยะประจำบ้านอย่างขยะอาหาร เรากินอาหารทุกวันก็มีเศษอาหารทุกวันใช่ไหมละ แทนที่จะเอาใส่ถุงทิ้งถังขยะไป ชาวเมืองคามิคัตสึทุกคนจะจัดการขยะอาหารที่บ้านของตัวเอง เพราะพวกเขามีเครื่องกำจัดขยะอาหารไฟฟ้าที่เปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยได้ จะเอาปุ๋ยไปใช้ในไร่หรือเอาไปไว้ที่ศูนย์รวบรวมขยะให้คนอื่นเอาไปใช้ต่อก็ได้ แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าเครื่องนี้เองทั้งหมด เพราะเทศบาลเมืองคามิคัตสึช่วยจ่ายเงินค่าเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารไฟฟ้าส่วนหนี่งให้ 10,000 เยนด้วย (ประมาณ 3,000 บาท) น่าอิจฉาไหมละ
ศูนย์รวบรวมขยะเมืองคามิคัตสึที่แยกขยะ 45 ชนิด
ไม่ใช่แค่สนับสนุนค่าเครื่องจัดการขยะอาหารเท่านั้น เทศบาลเมืองคามิคัตสึยังตั้งศูนย์รวบรวมขยะของเมืองด้วย ศูนย์นี้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนหลักคือกระดาษ พลาสติก เหล็ก และขวดแก้ว แยกขยะออกเป็น 45 ชนิด ชาวเมืองทุกคนจะแยกขยะที่บ้านอย่างน้อย 7 ชนิด มีบ้านที่แยกเยอะมากที่สุดถึง 28 ชนิด พอแยกขยะที่บ้านแล้วก็เอามาไว้ที่นี่
ถ้าไม่แน่ใจว่าของที่อยู่ในมือจะแยกอย่างไรดีก็ไม่ต้องกังวล ที่ศูนย์นี้มีเจ้าหน้าที่ใจดีคอยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อธิบายการแยกขยะและตอบคำถามอย่างละเอียด ที่นี่จึงไม่ได้เป็นแค่ที่แยกขยะแต่เป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย คนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ศูนย์รวบรวมขยะเมืองคามิคัตสึเปิดทุกวันตั้งแต่ 07.00-14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ 2 คน
ภาพจาก Tzu Chi Culture & Communication Foundation
การลดขยะอยู่ในชีวิตของชาวเมือง
การลดขยะอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวเมืองคามิคัตสึจริงๆ ชาวเมืองคามิคัตสึทุกคนมีกระบอกน้ำของตัวเอง และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ลดขยะ แม้แต่เด็กเล็กก็ลดขยะได้ด้วยผ้าอ้อม! เช่น ลูกสาวอายุ 4 เดือนของคุณแม่ยามาเบะได้รับชุดผ้าอ้อมที่ทำจากผ้าจากเทศบาลเมืองคามิคัตสึ ใน 1 วันคุณแม่จะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ 10 ครั้ง และต้องซักผ้าอ้อมด้วย ถึงแม้จะลำบากหน่อยแต่ก็ช่วยประหยัดเงินได้มากและดีต่อสิ่งแวดล้อม ลูกๆ อีก 2 คนของยามาเบะ อายุ 6 ขวบและ 3 ขวบก็สนุกกับการแยกขยะกันมาก
ภาพจาก Tzu Chi Culture & Communication Foundation
อาซุมะ ชาวเมืองอีกคนหนึ่งทำมายองเนสเองแทนที่จะซื้อมายองเนสสำเร็จรูป เธอบอกว่า “ถ้าฉันซื้อมายองเนสสำเร็จรูปมา ฉันต้องแยกฝาพลาสติก ล้างขวดพลาสติก แล้วก็ตากให้แห้ง มันยุ่งยากมากนะ สำหรับฉันทำมายองเนสทานเองง่ายกว่าเยอะเลย” สำหรับชาวเมืองคามิคัตสึ พลาสติกเป็นวัสดุที่แยกได้ลำบากมากที่สุดเพราะต้องล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งเพื่อให้รีไซเคิลได้คุณภาพดี สำหรับพลาสติกที่ทำความสะอาดยาก ชาวเมืองจะทิ้งในโซน “พลาสติกสกปรก” ที่ศูนย์รวบรวมขยะ แต่คนส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดพลาสติกก่อนคัดแยกอยู่ดี เมื่อการลดขยะเป็นวิถีชีวิต ลูกชายอายุ 4 ขวบของเธอก็ซึมซับไปด้วย วันหนึ่งลูกชายของเธออยากซื้อขนมปัง แต่ไม่ได้เอากล่องมา ซึ่งปกติเวลาที่อาซุมะไปซื้อของ เธอจะพกกล่องไปซื้อขนมปังเสมอจะได้ไม่ต้องใช้ถุง เธอจึงคุยกับลูกว่า “วันนี้เราซื้อไม่ได้เพราะไม่ได้เอากล่องมานะ” ปรากฎว่านอกจากเขาจะไม่ร้องไห้งอแงแล้ว ยังพูดด้วยว่า “อ้อ จริงด้วยเนอะ ถูกแล้วครับ”
สำหรับร้านอาหารหรือธุรกิจต่างๆ มีการให้ใบรับรองกับธุรกิจที่สนับสนุนแนวปฏิบัติ Zero-Waste ธุรกิจที่อยากได้ใบรับรองต้องมาเข้าร่วมการอบรม ตั้งเป้าหมายและวางแผนร่วมกันด้วย ตัวอย่างเช่นร้าน The Rise & Win Brewing Company เป็นร้านอาหารที่ได้ใบรับรองถึง 5 ใบ ที่นี่เอาของเหลือใช้จากศูนย์รวบรวมขยะของเมืองมาใช้ใหม่ เช่นการตกแต่งร้านด้วยกรอบหน้าต่างเก่า กระดานไม้ และโคมไฟทำจากขวดแก้วใช้แล้ว
ภาพจาก Tzu Chi Culture & Communication Foundation
Cafe Polestar เป็นอีกร้านหนึ่งในเมืองที่มีแนวคิด Zero-Waste ที่นี่ใช้ใบไม้และดอกไม้ที่ปลูกในท้องถิ่นตกแต่งอาหาร และยังมีชั้นสำหรับขายข้าว ชา เมล็ดกาแฟ น้ำมันงาตามน้ำหนักให้ลูกค้านำภาชนะมาซื้อที่ร้านได้ด้วย
ภาพจาก Tzu Chi Culture & Communication Foundation
เมืองคามิคัตสึทำได้อย่างไร
ฟูจิ โซโนเอะ นักประชาสัมพันธ์ของโปรแกรมขยะเป็นศูนย์ของเทศบาลเมืองคามิคัตสึบอกว่ากุญแจสำคัญของความสำเร็จคือวิธีคิดเกี่ยวกับการทำขยะให้เป็นศูนย์ จำนวนขยะที่แยกเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สำเร็จ สิ่งที่สำคัญคือหลังจากที่เข้าใจหลักการและคุณค่าของการทำเมืองคามิคัตสึให้มีขยะเป็นศูนย์แล้ว แต่ละที่ต้องหาแนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมกับตัวเองต่อ
เมืองคามิคัตสึไม่ได้ทำได้เพราะปาฏิหาริย์ และไม่ได้ทำได้สำเร็จแค่เพราะสร้างพื้นที่ที่มีถังกับตะกร้าแยกขยะอยู่เยอะๆ พวกเขาใช้ความพยายามและความคิดอย่างหนักเพื่อทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ต่อไปนี้คือวิธีการบางอย่างที่เมืองคามิคัตสึใช้
อย่างแรกคือ ที่ศูนย์รวบรวมขยะมีป้ายแยกขยะที่สื่อสารได้ชัดเจน ตะกร้าทุกใบมีคำอธิบาย มีการบอกว่าจะเอาขยะไปรีไซเคิลอย่างไร ที่ไหน มีราคาเท่าไหร่ มีกระบวนการอย่างไร บอกละเอียดสุดๆ เหตุผลที่ต้องละเอียดขนาดนี้เพราะถ้าทุกคนคิดว่าสุดท้ายขยะจะนำไปเผา จะทำให้การจัดการขยะให้เป็นศูนย์สำเร็จยากมาก
มีโปรแกรมให้คะแนนแลกของรางวัลเพื่อให้คนอยากแยกขยะมากขึ้น โปรแกรมนี้เกิดขึ้นเพราะพบว่ามีกระดาษที่ขายได้จำนวนมากถูกทิ้งไปกับขยะทั่วไป จึงมีโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนอยากแยกและรีไซเคิลกระดาษ เมื่อแยกแล้วจะได้คะแนนไปแลกสินค้าต่างๆ นอกจากกระดาษแล้ว ในช่วงหลังได้เพิ่มแปรงสีฟัน ถุงน้ำยาซักผ้าแบบรีฟิลให้ใช้รับคะแนนแลกของรางวัลได้เช่นกัน
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือชาวเมืองทุกคนที่เอาขยะมาที่ศูนย์รวบรวมขยะ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์นี้ ที่เมืองนี้ไม่มีรถเก็บขยะ ชาวเมืองจึงต้องเอาขยะมาส่งที่ศูนย์เอง เวลาพวกเขาออกมาทำธุระจะแวะเอาขยะมาไว้ที่ศูนย์ด้วย สำหรับคนที่ไม่มีรถหรือขับรถไม่ได้ เทศบาลมีบริการเก็บขยะให้ทุก 2 เดือน
การจัดการขยะอย่างยอดเยี่ยมของเมืองคามิคัตสึยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำรายได้ให้เมืองหลายล้านเยน ในปี 2017 เมืองคามิคัตสึได้เงินจากการแยกและรีไซเคิลขยะ 286 ตันมา 5.93 ล้านเยน (ประมาณ 1.7 ล้านบาท) ซึ่งถ้าส่งไปเผาหรือฝังกลับจะต้องเสียเงิน 14.7 ล้านเยน (ประมาณ 4 ล้านบาท) เท่ากับว่าประหยัดเงินไปได้ 60% และยังมีเหล็กกับกระดาษที่ขายได้ 2.13 ล้านเยน (ประมาณ 6 แสนบาท)
สุดท้ายแล้วการทำขยะให้เป็นศูนย์ไม่ควรเป้าหมายหลักของเมืองคามิคัตสึ แต่เป็นความยั่งยืนและการเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ในการริเริ่มทำเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างหากที่เป็นหัวใจของสิ่งที่เมืองคามิคัตสึทำ เมืองที่อยู่ใกล้ๆ อย่างคามิยามะและซานาโกชิก็ลดขยะได้มากขึ้นด้วย
เมืองคามิคัตสึทำได้ขนาดนี้ ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง
____________________
เรียบเรียงข้อมูลจาก