Share this :

ผ่านมาแล้วอีกหนึ่งเดือนกับเหตุการณ์ที่ไม่มีคนไทยคนไหนลืมเลือน จากเหตุการณ์วิปโยคที่สุดในรอบ 70 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 Chula Zero Waste จึงขอหยิบยกเรื่องราว  Zero Waste ของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเรา

คำสอนของพระองค์ท่านสะท้อนผ่านการกระทำที่ทำให้ “เห็น” มากกว่า “การพร่ำสอน” แม้ท่านจะเสด็จทั่วถิ่นแดนสยาม แต่ฉลองพระบาทก็ยังคงเป็นคู่เดิมและคู่เดียวไม่มีเปลี่ยนแปลง

“ช่างไก่” หรือนายศรไกร แน่นศรีนิล ช่างทำรองเท้าร้าน ก.เปรมศิลป์ ผู้ที่มีโอกาสถวายงานซ่อมฉลองพระบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลาหลายสิบปีเล่าว่า…

สภาพฉลองพระบาทที่นำส่งซ่อม มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ภายในหลุดลอกหลาย บ้างก็พื้นสึก บ้างก็มีรอยสุนัขทรงเลี้ยงกัด บางก็ซ่อมส้น หรือฉลองพระบาทลำลองขาด ก็ซ่อมแซมกันตามอาการไป

แม้เป็นเพียงรองเท้าแค่คู่เดียวแต่พระองค์ก็ทรงใช้ได้อย่างคุ้มค่า หรือแม้กระทั่งรองเท้าลำลองที่มีราคาถูกกว่ารองเท้าทรงงานท่านก็ส่งซ่อม ลองคิดเล่นๆ ดูว่าใน 1 ปีเรามีรองเท้ากี่คู่? ใช้งานจริงกี่คู่? ทิ้งไปแล้วกี่คู่? และสร้างขยะไปแล้วกี่ชิ้น? จากจำนวนรองเท้าที่เราซื้อมาเพียงเพราะแฟชั่นหรือความสวยงาม

ช่างไก่ได้ถอดบทเรียนสำคัญที่พระองค์ฝากไว้ให้ทุกครั้งที่นำฉลองพระบาทมาส่งซ่อม นั่นก็คือ “ความพอเพียง” แม้จะซ่อมแล้วซ่อมอีก แม้หนทางที่ท่านเสด็จไปเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขจะยาวไกล ขรุขระ และอาจทำให้ฉลองพระบาทชำรุดอีก แต่ท่านก็ยังคงพอใจที่จะใส่ฉลองพระบาทเก่าๆ คู่เดิม

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาเมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517

 …Chula Zero Waste ขอน้อมนำคำสอนของพระองค์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด…

Share this :