Share this :

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ บริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จัดงานแถลงข่าว “ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในการแปลงขยะเป็นพลังงาน” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ บริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในการแปลงขยะเป็นพลังงาน” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาะแวดล้อมและเลขานุการคณะกรรมการ กล่าวแนะนำแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน และ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาะแวดล้อม และดำรงตำแหน่งผู้จัดการโครงการกล่าวแนะนำโครงการจุฬาฯ Zero Waste และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมและบริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง โดยส่งขยะไปฝังกลบให้น้อยที่สุด ตามแนวคิด zero waste  จากประสบการณ์แยกขยะในสำนักงาน พบว่า ขยะบางประเภทไม่สามารถขายเป็นขยะรีไซเคิลได้เนื่องจากมีมูลค่ารีไซเคิลต่ำ หรือไม่คุ้มค่าในการรีไซเคิล เช่น หลอดพลาสติก ฝาครอบแก้ว ถ้วยกระดาษเคลือบไข  กล่อง และแก้วพลาสติกบางชนิด ซึ่งเป็นประเภทขยะที่พบมากในมหาวิทยาลัย จึงได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ในการนำขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่มีค่าความร้อน นำไปปรับสภาพให้เหมาะสมเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์  (co-processing in cement kilns) ที่สระบุรี ซึ่งนอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถลดปริมาณขยะเหลือทิ้งได้มากขึ้นแล้ว โรงปูนยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งเป้าส่งขยะไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ ไม่น้อยกว่า 10 ตันต่อปี โดยรวมขยะแห้งจากศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคที่สระบุรีด้วย และจะเริ่มส่งขยะตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นไป

ดร.วินเซนต์ อาลอยซีอุส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าวว่า “บริษัทยินดีที่จะสนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบรรลุเป้าหมาย zero waste และในขณะเดียวกันช่วยให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยขยะที่ส่งไปเผาร่วม 1 ตัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ 1.846 ตันคาร์บอน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอื่นๆ เนื่องจากเตาเผาปูนซีเมนต์เป็นเตาเผาที่ใช้อุณหภูมิสูง และมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่ทันสมัย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยรับรองกระบวนการเผาของเสียในเตาปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

เพื่อให้ได้ขยะที่แห้งพอสมควรสำหรับส่งเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ จึงได้จัดระบบแยกขยะใหม่ที่เป็นลักษณะเฉพาะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ “รีไซเคิลพลัส” (RECYCLE+) มาจาก “Recycle plus Energy Recovery” โดยใช้ลักษณะถังขยะรีไซเคิลสีเหลือง นอกจากทิ้งขยะรีไซเคิลที่ขายได้ เช่น ขวดพลาสติก กระป๋องอลูมีเนียม ยังสามารถทิ้งวัสดุและบรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษที่แห้ง ที่เทน้ำและเศษอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ หรือผ่านการล้างด้วยน้ำ โดยมีพนักงานทำความสะอาดคัดแยกขยะที่ขายได้ออก ส่วนขยะที่ส่งแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สำนักบริหารระบบกายภาพจะเก็บรวบรวมเพื่อนำไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ต่อไป

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Chula Zero waste   หรือติดต่อดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ จุฬาฯ zero waste โทร 02 218 8217

Share this :