Share this :

ระหว่างที่ทีมงาน (ส่วนหนึ่ง) ของ Chula Zero Waste ต้อง WFH แน่ล่ะเราทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง! แต่จะให้ทำงานตลอดเวลาก็คงไม่ไหวแต่ละคนก็เลยมีกิจกรรมบำบัดใจกันหน่อย ลองมาดูกันว่าใครทำอะไรกันบ้างนะ ที่แน่ๆ คือรับประกันความกรีนทุกคน

 

พี่กุ๊ก – นักหมักปุ๋ย

หัวหน้าโครงการสุดขยันของเรามากับไอเดียทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ที่ทำทั้งที่คอนโดและที่บ้าน เจ้าตัวบอกว่าไม่ต้องไปซื้อถังปุ๋ยหมักเลย แค่ใช้ตะกร้าผ้าที่พังแล้วมาใช้เป็นถังปุ๋ย ง่ายๆ ไม่เสียเงินซักบาทแถมยังเป็นการ reuse อีกด้วย และกรีนเข้าไปอีกเพราะถังหมักปุ๋ยใบล่าสุดก็เอาลังกระดาษที่เหลือทิ้งของที่บ้านมาเจาะรูใช้เป็นถังปุ๋ย (ใครสนใจอยากทำตาม เราจะมีคอนเทนต์วิธีทำถังหมักปุ๋ยจากกล่องลังตามมาเร็วๆ นี้) สำหรับสูตรที่ทำอยู่เป็นสูตรปุ๋ยหมักไม่กลับกองของ ม.แม่โจ้ พอได้ปุ๋ยหมักมาแล้วก็เอาไปใส่ต้นไม้ที่บ้านและเอาไปแจกจ่ายให้เพื่อนที่ทำงานด้วย

 

มี่มี่ – นักวางแผนและรังสรรค์มื้ออาหาร

ปัญหาโลกแตกของหลายๆ บ้านคงหนีไม่พ้น “มื้อนี้จะกินอะไร” มีมี่นักออกแบบของเรา (ที่ตอนนี้ไปอยู่ต่างจังหวัด) ก็เลยวางแผนการกินทำตารางอาหารประจำสัปดาห์เพื่อจะได้วางแผนการซื้อ และลดเศษอาหารที่จะมีเหลือทิ้ง ในตารางจะมีช่องให้เขียนว่าแต่ละมื้อจะกินเมนูอะไร ส่วนช่องด้านขวาสุดก็ใช้เช็กว่ามีวัตถุดิบอะไรอยู่แล้วบ้าง ต้องซื้ออะไรเพิ่ม จำนวนเท่าไร เวลาไปซื้อของมาทำอาหารจึงซื้อมาได้พอดี ไม่เน่าคาตู้เย็นแถมเวลาไปซื้อก็ปั่นจักรยานไปตลาดท้องถิ่นเอากระเป๋า เอาถุงผ้าไปใส่ของห้อยกับตะแกรงท้ายจักรยาน ผักไม่โดนลมก็ไม่เหี่ยว ได้ผัก, ผลไม้, เนื้อสัตว์กลับมาแบบไม่ต้องมีแพคเกจจิ้งพลาสติกสักนิด ….ว่าแต่เมนูที่เห็นนี่ไดเอ็ตมากเลยนะ (ฮา)

 

นี้ด – นักสร้างสรรค์เมนูประจำบ้าน

หนึ่งในทีมคอนเทนต์ที่ชอบทำอาหารมากๆ พอได้ WFH เหมือนขึ้นสวรรค์เพราะได้อยู่บ้านทำอาหารแทบทุกมื้อ การที่กลัวคนที่บ้านจะเบื่อ บวกกับไม่ชอบทำอาหารซ้ำๆ แต่ละวันก็เลยนั่งคิดเมนูใหม่ๆ จากของที่มีอยู่แล้วในตู้เย็น จะเรียกว่าคิดเมนูจริงจังกว่าทำงานก็ได้ (ฮา) เมนูที่ออกมามีทั้ง ข้าวตับหมูทอดกระเทียมพริกไทย พาสต้าหมูสับ น้ำพริกปลาทู ข้าวผัดกุนเชียง พิซซ่า และอีกหลายเมนู เรียกว่า ตั้งแต่ WFH มาทำครบทั้งอาหารไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น และก็จะไม่ปล่อยให้มีขยะเศษอาหาร เพราะว่าทำอร่อยมากทุกคนในบ้านเลยทานอาหารหมดเกลี้ยง (ฮา…อีกแล้ว) ส่วนเศษผักจากการทำอาหารก็เอาไปใส่ในพื้นที่ทำปุ๋ยที่บ้าน ช่วงนี้ทำอาหารบ่อยจนคิดว่าพอจบเทศกาล WFH แล้วอาจจะลองไปสมัครมาสเตอร์เชฟดูสักที

 

จีน – นักดองผักเหลือจากตู้เย็น

ทีมคอนเทนต์คนแรก เอาผักเหลือไปทำปุ๋ย ทีมคอนเทนต์อีกคนกลับลองเอาผักที่เหลือทำผักดองไว้กินเอง หัวไชเท้าเหลือจากการต้มมะระ และแครอทเหลือจากต้มจืดวันก่อน ปกติผักที่เหลือๆ อยู่ในตู้เย็นจะไม่มีใครเหลียวแล ก็เลยจับมาแปลงร่างเป็นผักดองเกาหลี สูตรที่ทำเป็นสูตรลดน้ำตาล เปรี้ยวสะใจ กินกับไก่ก็ดี กินกับข้าวก็เริ่ด ยืดอายุผักไปได้อีกหลายเดือน (แต่ได้ยินมาว่าจะหมดแล้ว) ที่จริงผักดองทำไม่ยากเลยนะ แค่มีผักที่ชอบ หั่นเต๋าแล้วเอามาใส่ในโหลที่ลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค เทน้ำส้มสายชู เกลือ น้ำตาลที่ผสมให้เข้ากันแล้วลงไป แช่ไว้ในตู้เย็นสัก 24 ชม. ก็เปิดกินได้แล้ว หรือถ้ารสชาติยังไม่เข้าเนื้อก็แช่ต่อไปอีกสัก 2-3 วันก็ได้

 

เฟิร์น – นักซัก นักตากผ้ามือวางอันดับ 1

จะซักผ้าต้องทำยังไง…ก็โยนผ้าใส่เครื่องซักผ้าสิ ง่ายจะตาย! แต่ไม่ค่ะ เฟิร์นนักประสานงานสิบทิศของเราไม่ทำอะไรง่ายๆ แบบนั้น ในช่วง WFH ที่อยู่กับบ้านนี้เฟิร์นก็เลยซักผ้าด้วยมือหมดเลย พอซักเสร็จก่อนยกตากก็สะบัดผ้าแรงๆ ให้ผ้าหมาด ยิ่งช่วงนี้แดดร้อนแรงตากผ้าแป๊บเดียวก็แห้ง ไม่ต้องใช้เครื่องซักผ้าหรือเครื่องอบผ้าเลย (ต้องขอบคุณแดดเมืองไทย) แถมการสะบัดผ้าก่อนตากยังช่วยให้ผ้าเรียบ พอแห้งปุ๊บผ้าก็เรียบเลย เก็บเข้าตู้ได้โดยไม่ต้องรีดให้เปลืองไฟ เปลืองเวลาเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ

 

ลีลี่ – นักเดลิเวอรีสายเขียวๆ เหลืองๆ

หิวข้าวแล้วสิ ถ้าไม่เปิดตู้เย็นทำอาหารเองก็กดสั่งเดลิเวอรีเอา ลีลี่นักประสานงานสิบทิศของเราก็มาสายเดลิเวอรีนะ แต่เป็นเดลิเวอรีจากวัด! ด้วยความที่หลวงลุงที่วัดเป็นญาติกัน ถ้าวันไหนมีอาหารจากการบิณฑบาตเยอะ หลวงลุงก็จะเรียกให้ไปรับอาหาร ขนม ผลไม้มาทานที่บ้าน ส่วนมากจะไปเอาช่วงเช้า และนำมาคิดต่อกันที่บ้านว่าจะกินอะไร มื้อไหน บางอย่างก็กินเลย บางอย่างก็เอามาปรุงเพิ่ม เพราะอาหารที่ใส่บาตรหลายๆ อย่างค่อนข้างมัน แถมสิ่งที่มากับอาหารใส่บาตรก็หนีไม่พ้นถุงพลาสติกจำนวนมาก ลีลี่ก็เลยล้างถุงและเก็บรวมไว้รอส่งเป็นขยะเชื้อเพลิงด้วย แอบคิดว่าปกติเวลาใส่บาตรเราก็มักเอาอาหารใส่ถุงพลาสติกกัน ถ้าลองปรับเป็นแพคเกจจิ้งอื่นใส่อาหารใส่บาตรบางอย่างได้คงดีไม่น้อย เช่น เอาข้าวห่อใบตองแทน

 

เน้า – นักคืนชีพเสื้อผ้า

นักออกแบบอีกคนในทีม ผู้เสียจริตตอนที่กางเกงตัวโปรดขาดระหว่างการทำงาน กางเกงที่ขาดเป็นตัวที่ชอบมาก ใส่ง่าย ใช้มานานร่วม 10 ปี และถือว่าเป็นกางเกงที่แพงที่สุดที่เคยซื้อมา พอได้สติก็มาคิดปลอบตัวเองว่าใส่มันมานานและบ่อยพอที่จะคุ้มค่าเงินแล้ว แต่เอาเข้าจริงกลับทำใจทิ้งไม่ลง ทั้งเสียดาย และรู้สึกว่าว่ามันต้องยังใช้ได้อยู่ ทีแรกตั้งใจจะตัดให้เป็นกางเกงสามส่วน ตัดฉับ แล้วก็เย็บเลยง่าย ๆ แต่ก็คิดดีๆ ถ้าเป็นทรงนั้นคงไม่ค่อยได้ใส่ เลยเก็บไว้รอมีเวลาจะมาซ่อม จนกระทั่งต้องกักตัวทำงานที่บ้านถึงสามารถหยิบมันมาพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรกับมันได้บ้าง ที่จริงที่บ้านก็มีจักรแต่ไม่อยากเปลืองไฟ (พูดให้ดูดีดูรักโลกไปอย่างนั้น) แต่เรื่องจริงคือตรงที่มันขาดมันยากเกินกว่าความสามารถที่มีพอจะใช้จักรซ่อมได้ เลยใช้มือ เข็มด้ายสอยเอา กว่าจะเสร็จออกมาเป็นแบบที่เห็นในรูป ก็แก้ไปแก้มาอยู่หลายรอบ ลายเบี้ยวบ้าง ยัดขาลงไปไม่ได้บ้าง เลยกลั้นใจตัดให้ขาดกว่าเดิมแล้วเอาผ้ามารองอีกชั้น ดูตลกแต่พอลองใส่ก็รู้สึกว่ามันก็พอจะใส่ไปข้างนอกได้ ทีนี้กางเกงก็ไม่ถูกทิ้งไม่กลายเป็นขยะ แถมไม่ต้องซื้อใหม่ จะว่าไป ตั้งแต่อยู่บ้านมาซ่อมเสื้อผ้าไปหลายตัวแล้ว ทั้งกางเกงพ่อ เสื้อหลาน เสื้อตัวเอง…พอดีกว่าเยอะกว่านี้เดี๋ยวจะโดนหาว่าไม่ทำงานละ(ฮา)

 

Share this :