Share this :

จุฬาฯ จับมือภาคีเปิดตัว “แผนปฏิบัติการ จุฬาฯ Zero Waste” ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2564  และสร้างวัฒนธรรมองค์กรปลอดขยะ มุ่งสู่ต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่เรือนจุฬานฤมิต  ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เป็นประธานพิธีเปิดตัว “แผนปฏิบัติการ จุฬาฯ Zero Waste” ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 – 2564  โดยในปีแรก มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินโครงการ “พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่เมือง” เพื่อผลักดันให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำในการสร้างวินัยเยาวชนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยและร่วมลดและแยกขยะอย่างจริงจัง โดยศ.ดร.บันฑิต เอื้ออาภรณ์ ได้กล่าวถึงแผนปฏิบัติการ จุฬาฯ Zero Waste ว่า “เป็นกิจกรรมที่แสดงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เราได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อันดับ 1 ของประเทศไทยติดต่อกันมาสองปีแล้ว โดยแผนปฏิบัติการ จุฬาฯ Zero Waste จะเป็นตัวอย่างการทำงานเชิงบูรณาการทุกส่วนงานและครอบคลุมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเราจะปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายภายในมหาวิทยาลัยและพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการลดและแยกขยะซึ่งเราจะทำงานร่วมกับคณาจารย์โรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม เพื่อสร้างต้นแบบเยาวชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ผู้จัดการโครงการจุฬาฯ Zero Waste ได้กล่าวถึงที่มาของแผนปฏิบัติการฯ จุฬาฯ Zero Waste” ว่า “จุฬาฯ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีนิสิตและบุคลากรกว่า 45,000 คน ดังนั้น หากจุฬาฯ สร้างการเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลต่อสังคมอย่างมาก เราได้ตั้งเป้าลดปริมาณขยะเหลือทิ้งไม่น้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับปริมาณขยะในปี 2559 ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่ต้นทางและการแยกขยะอย่างจริงจัง แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราคาดหวังเรื่องจิตสำนึกของนิสิตและบุคลากรในเรื่องการบริโภคที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพยายามลดการก่อขยะให้ได้มากที่สุด”

ด้านบทบาทของนิสิตต่อโครงการนี้ น.ส. กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ ประธานชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาฯ ได้แลกเปลี่ยนในช่วงของการเสวนาว่า “ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมสนใจเรื่องการรณรงค์เพื่อลดขยะพลาสติกอยู่แล้ว โดยก่อนหน้าที่จะรู้จักโครงการจุฬาฯ Zero Waste ชมรมฯ ก็ได้มีการสำรวจปริมาณถุงพลาสติกในร้านเซเว่นและสำรวจตู้กดน้ำดื่มในมหาวิทยาลัย เพื่อจะทำแคมเปญรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและขวดพลาสติก เมื่อได้รู้จักกับโครงการจุฬาฯ Zero Waste จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการในหลายๆ ด้าน เช่น ทำสื่อรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกผ่าน Facebook ของโครงการ ร่วมจัดทำกล่องรับบริจาคถุงพลาสติกที่ใช้แล้วและร่วมออกบูธรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกที่ตลาดนัดวันอังคารและวันศุกร์ เป็นต้น”

ไม่เพียงแต่การมีส่วนร่วมของนิสิต โครงการฯ ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนด้วย ได้แก่ บริษัทซีพีออลล์ที่ดูแลร้านและบูธเซเว่นอีเลฟเว่นที่เข้าร่วมโครงการลดใช้ถุงพลาสติกซึ่งคุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัทซีพีออลล์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของเซเว่นอีเลฟเว่นต่อการดำเนินโครงการลดใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยต่างๆ และในระดับมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการชื่อ  “คิดถุ๊ง คิดถุง“ และ “เครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนิสิตนักศึกษา และน้องๆ เยาวชนเป็นอย่างดี และมีแผนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป  นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนที่ทำธุรกิจร้านกาแฟ ได้แก่ Café Amazon,  Inthanin, True Coffee, Meraki ที่เข้าร่วมโครงการ My Cup กับมหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้ชาวจุฬาฯ พกแก้วน้ำส่วนตัวมากขึ้น โดยทางร้านกาแฟยินดีให้ส่วนลดค่าเครื่องดื่ม 5 บาทสำหรับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้าน ส่วนร้าน Tealicious มอบแสตมป์สะสมเพิ่ม

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งปณิธานที่จะพัฒนาองค์กรไปสู่มหาวิทยาลัยต้นแบบแห่งการจัดการขยะอย่างยั่งยืนในพื้นที่เมืองและการบริโภคอย่างยั่งยืน ตามรอยพระราชจริยวัตรแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ติดตามข้อมูลข่าวสาร จุฬาฯ zero waste ได้ที่ Facebook CHULA Zero Waste

Share this :