“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า….”
ท่องกันมาตั้งแต่รุ่นแม่ แต่ทำไมขยะเศษอาหารยังมีอยู่เยอะ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย?
พอเริ่มอ่านข่าว และดูสารคดีที่เกี่ยวกับขยะเศษอาหาร (หรือ Food Waste) บวกกับการสังเกตอาหารเหลือทิ้งบนจานข้าวตัวเอง และคนรอบตัว ความคิดแรกที่พุ่งเข้ามาให้หัว คือ เออ ขยะเศษอาหารนี่มันเป็นปัญหาตลกร้าย และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดถึงความบกพร่องในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์
“อาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาบนโลกนี้ 1 ใน 3 เกิดการสูญเสียและถูกทิ้งไป ขณะที่ร้อยละ 11 ของประชากรโลกกำลังเผชิญกับความอดอยาก ไม่มีจะกิน โดยปัจจุบัน (21 มีนาคม 2018) อาหารที่ถูกทิ้งสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (31 ล้านล้านบาท) และคิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก” (thaipublica)
“และ 25 % ของอาหารเหลือทิ้งนั้น จริง ๆ แล้วสามารถส่งต่อให้กับผู้ขาดแคลนอาหารได้อีก 795 ล้านคนทั่วโลก!” (StopFoodWasteDay)
เราเห็นความย้อนแย้งนั้นหรือเปล่า? ความย้อนแย้งระหว่าง “ของดี” ที่เหลือทิ้งไปโดยเสียเปล่า และ “ของขาด” ที่ยังไม่สามารถหามาเติมเต็มได้ มันน่าเจ็บใจที่ปัญหาทั้งสองเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ประเด็นก็คือ ตัวเลขเหล่านั้น บางทีมันก็ทำให้ปัญหาขยะเศษอาหารช่างดูห่างไกลกับตัวเราเหลือเกิน เห็นตัวเลขแต่ไม่เคยสามารถจินตนาการได้เลยว่ามันเยอะขนาดไหน และสัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างไร
แต่ต้องขอบคุณสารคดีสั้นเรื่องวิกฤตอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ที่ช่วยทำให้เห็นภาพหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยจากกรุงเทพมหานคร (ที่ตอนนี้กลายเป็นภูเขาขยะไปแล้ว) เห็นภาพชีวิตของคนทำงานที่คลุกคลีกับสิ่งของที่เรารังเกียจ และเห็นว่าขยะเศษอาหารเหล่านี้มีต้นทางมาจากตัวเรานั่นเองคุ้มค่าเวลา 12 นาทีที่จะช่วยเปิดมุมมองต่อปัญหาขยะเศษอาหารที่เรามองข้ามมาโดยตลอด
ต่อไปหันกลับมาสังเกตตัวเองว่าพฤติกรรมการกินของเรามีส่วนเพิ่มปริมาณขยะอาหารเหล่านั้นรึเปล่าถ้ามองอย่างตรงไปตรงมา “มีแน่นอน” แต่มากหรือน้อย อยู่ที่“วิธี”การจัดการของเรา วิธีแก้ปัญหาที่ลงมือทำได้ทันที คือ ตักให้น้อย กินให้หมด ทำไปสักพัก จนเผลอคิดไปว่าทำได้แค่นั้น จนมาวันหนึ่ง เพื่อนก็แนะนำให้รู้จักกับหนังสือ ชื่อ Waste Free Kitchen Handbook; A guide to eating well and saving money by wasting less food. เขียนโดย Dana Gunders เออแฮะ ปัญหานี้เป็นกันทุกที่จริงๆ จนขนาดมีคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งเขียนหนังสือหนา 200 หน้า พยายามที่จะโน้มน้าวเราว่า แค่เราคิดล่วงหน้ามากขึ้น ใช้จ่ายอย่างฉลาดขึ้น รู้จักคำนวณปริมาณการกิน หรือ จัดเก็บของในตู้เย็นให้ถูกที่ เราก็สามารถลดปริมาณขยะเศษอาหารได้มากกว่าการกินข้าวให้หมดจาน
อ่านไปซักพักแล้วก็สงสัยว่า เอ.. แล้วเราจะมาปรับใช้กับชีวิตเราได้อย่างไรบ้างน้า? คิดไปคิดมา ลองทำเลยน่าจะเห็นผลชัดกว่าลงมือแรกเริ่ม; การวางแผนมื้ออาหาร (Meal Planning)
การวางแผนมื้ออาหาร (Meal Planning) สำคัญไฉน?
คุณดาน่า (ผู้เขียนหนังสือ) บอกว่า “การไปตลาดโดยไม่มีรายการสินค้าที่ต้องซื้อก็คล้ายๆ กับการเดินทางไปที่ที่ไม่เราเคยไปโดยไม่ใช้แผนที่ ถ้าโชคดีเราก็จะตรงไปจุดหมายปลายทางได้อย่างง่ายดาย แต่โอกาสที่จะแวะระหว่างทาง ชมนกชมไม้นั้นมีมากเหลือเกิน”
เห็นด้วยที่สุด โดยเฉพาะการเดินตลาดบ้านเรา ผักนี้ก็สวย มังคุดกับทุเรียนก็น่าทานมาก หมูสามชั้นสวยๆ นี่นานๆ มาทีนะ มันล่อตาล่อใจขาช้อปไปหมด จนบางทีเราก็ซื้อมังคุดกลับมาอีก 3 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่มะยงชิดอีก 2 กิโลกรัม ในตู้เย็นยังไม่พร่องเลย
มองเผินๆ อาจจะคิดว่าการวางแผนมื้ออาหารช่วยแค่ลดขยะเศษอาหาร แต่จริงๆ แล้วยังช่วยประหยัดเวลาและเงินของเราด้วย เพราะเราจะมีสุขภาพการบริโภคที่ดีมากขึ้น คุณดาน่าอ้างอิงถึงสถิติที่บอกว่า “1 ใน 4 ของชาวอเมริกันที่สามารถซื้อของตามรายการ ที่จดได้จริงๆ พวกเขาจะมีวินัย ไม่ค่อยซื้อของนอกเหนือจากที่จดไว้ในรายการ ทั้งยังจ่ายเงินน้อยกว่า และออกไปซื้อของน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ซื้อของตามรายการเสียอีก” (popai.cz) นอกจากนั้นการวางแผนก่อนซื้อของเข้าบ้านยังช่วยให้เราคิดถึงอาหารที่ทานมากขึ้น เพราะส่วนมากเราจะพยายามเลือกอาหารที่กินแล้วดีต่อสุขภาพไว้ก่อน ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วจะทำได้ยากมากก็ตาม
10 ข้อช่วยคิดวางแผนมื้ออาหารของเรา
การวางแผนมื้ออาหาร ไม่ยากเลย แค่เขียนชื่อเมนูที่อยากทำในสัปดาห์หน้า แล้วก็จดออกมาว่าต้องไปซื้อวัตถุดิบอะไรที่ตลาดบ้าง แต่เคล็ดลับที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนมื้ออาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1. เริ่มจากสิ่งที่เรามี
เมนูประจำใจ เมนูที่ชอบ เมนูที่กินบ่อย เมนูที่ถนัดทำ เมนูที่ทำซ้ำได้ทุกสัปดาห์ เริ่มจากเมนูใกล้ตัวเหล่านี้จะเป็นฐานใจที่ดีก่อนจะเริ่มลองอะไรใหม่ๆ
2. ตรวจตราตู้เย็น
ตู้เย็นเป็นประตูสู่การวางแผนมื้ออาหารสัปดาห์ต่อไป มีอะไรที่ต้องใช้ให้หมด? ถ้าอยากใช้โหระพาให้หมด ทำเมนูอะไรดี? เส้นสปาเกตตีที่กินเหลือเมื่อคืนทำอะไรได้บ้าง? พริกแกงเขียวหวานก็ยังมีเหลืออยู่นิดนึง ดู ๆ แล้ว คืนพรุ่งนี้น่าจะทำสปาเกตตีแกงเขียวหวานไก่ได้ ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ต้องซื้อเพิ่มมีเพียงสะโพกไก่ 1 แพ็คเท่านั้น สำหรับมื้อนี้
3. คำนวณสัดส่วนวัตถุดิบ
มื้อนี้เพื่อนมาบ้านอีก 2 คน ต้องใช้เนื้อเท่าไหร่เพื่อนถึงจะอิ่ม ลองใช้เครื่องคิดเลขคำนวณสัดส่วนวัตถุดิบต่อจำนวนคนรับประทานอาหารมื้อนั้นๆ ลองไปค้นหาสัดส่วนที่เราควรจะทำได้จาก “Portion Calculator” (Love Food Hate Waste) ถ้าวางแผนถูก เพื่อนและเราจะได้อิ่มพอดี ไม่มีเหลือ
4. อุปกรณ์พร้อมมือ
ข้าวสาร มาม่า เครื่องปรุงพื้นฐานอย่างเกลือหรือน้ำปลา สมุนไพรอบแห้ง และที่ขาดไม่ได้คือ ซอสกู้ชีพ ชุบชีวิตมื้ออาหารที่อาจจะออกมาผิดคาดไปหน่อย ให้กลับมากินได้อีกครั้ง
ในภาพด้านล่าง คือ ซอสกู้ชีพของผู้เขียนและเพื่อน อันดับแรกที่ขาดไม่ได้ คือ มายองเนสญี่ปุ่น (ขวดที่สองจากทางซ้าย) มาเป็นตัวเลือกแรกๆ เสมอ ใช้จิ้มของทอด ทาบนแซนวิช หรือบีบเล็กน้อยบนผักสลัด เพิ่มความกลมกล่อมแบบมันๆ ให้อาหารของเราได้ดี ต่อมา คือ น้ำจิ้มซีฟู้ด ปกติจะไว้ทานกับปลาย่าง เห็ดย่าง อย่างสุดท้ายที่อยากจะแนะนำก็คือ ซอสปอนซึ ยูซูกะ (ซอสถั่วเหลืองรสมะนาว) สีและความข้นของซอสจะคล้ายๆ โชยุ แต่มีรสชาติเปรี้ยวนำ เค็มเล็กๆ กลิ่นสดชื่นหอมมะนาว กินคู่กับของทอดตัดเลี่ยนได้ดี
5. จัดสรรชุดวัตถุดิบ
เลือกโปรตีน 2 ชนิด ธัญพืช 1-2 ชนิด และผักต่าง ๆ ตามชอบเป็นวัตถุดิบของมื้อแรกๆ ในสัปดาห์ หลังจากนั้นก็เอามาปรับใส่กับมื้ออื่น ๆ อย่างเช่น กระดูกหมู 3 แพค เอามาต้มกับหัวไชเท้า ถ้าเกิดทานกระดูกหมูเหลือ ก็เอาไปผัดกะปิต่อได้อีก หรือ ถ้าใช้หัวไชเท้าไม่หมด ก็นำมาดองต่อได้ จริง ๆ แล้วการวางแผนในข้อนี้จะมาจากประสบการณ์และความรู้ทางการผสมผสานวัตถุดิบของเรา การดูวิดีโอทำอาหารใน Youtube จะช่วยให้เราเห็นภาพของแต่ละขั้นตอนว่าวัตถุดิบที่ปรุงจะมีหน้าตาออกมาเช่นไร แล้วเริ่มใส่ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากความรู้ตรงนั้นต่อไป ส่วนตัวเริ่มจากทำอาหารฝรั่งก่อน เพราะง่าย เครื่องปรุงน้อย ลองผิดลองถูกได้แบบไม่เสียเวลามาก เช่น จากสเต็กไก่ เกิดย่างออกมา สุกเกิน.. แข็ง.. ก็เอามาฉีกเป็นชิ้นไปใส่ในแซนวิชได้ บีบมายองเนสเข้าไปหน่อย ก็กินได้อีกมื้อ โดยไม่ต้องทิ้งไป
เอาเป็นว่า เราเคยเรียนรู้การทำอาหารมาอย่างไร เริ่มคิดจากตรงนั้น
6. คิดถึงวัตถุดิบที่ใช้ได้กับหลายเมนู
สมมุติว่าคืนวันเสาร์จะทำซุปกระดูกหมูต้มหัวไชเท้า ถ้ามีกระดูกหมูเหลือเอาไปทำอะไรได้อีก ผัดกะปิ? ต้มยำ? เศร้าเหมือนกันที่วัตถุดิบบางอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่ได้มีปริมาณตรงตามที่เราต้องการ จึงต้องคิดเผื่อให้ วัตถุดิบ 1 อย่างเอาไปทำอาหารได้อีก 2-3 จานในมื้ออื่น หลังจากที่ตัดสินใจมื้อแรกได้ก็ลองคิดดูว่าในมื้อนั้นมีวัตถุดิบไหนต้องใช้ในปริมาณมาก แล้ววางแผนมื้อต่อไปตามวัตถุดิบนั้น
7. ลงตารางวันขี้เกียจ
วันขี้เกียจมีอยู่จริง จะหนึ่งวัน หรือ สองวัน หรือ สามวัน ก็แล้วแต่นิสัยเรา เพราะการทำอาหารทุกวัน มันเหนื่อยและเราไม่ได้มีเวลาหรือพลังงานในการทำอาหารอย่างต่อเนื่องมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นวางแผนตามความจริงไปเลย มื้อที่ไม่ทำเองจะซื้อใส่กล่องกลับมากิน อุ่นอาหารที่เหลือ หรือนัดเพื่อนออกไปกินข้างนอกก็แล้วแต่เรา วิธีนี้ช่วยให้ของกินที่เหลือในตู้เย็น ไม่เก็บนานเกินไปด้วย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องมีวันที่หิวๆ เดินมาเปิดตู้เย็นหาของกินให้หมด
8. เสียง่าย กินก่อน
เพื่อให้ได้กินอาหารที่สดใหม่และมีสารอาหารครบถ้วน ให้รีบใช้วัตถุดิบที่มีแนวโน้มจะเสียเร็ว อย่างเช่น กุ้ง ปลา อาหารทะเล หรือ เนื้อดีๆ (ถ้าไม่แช่ช่องฟรีซก็ควรใช้ให้เร็วที่สุด) ส่วนพวกมาม่า ไข่ นม เรายังมีเวลาเก็บไว้ทำในช่วงปลายสัปดาห์ก็ยังได้/เก็บไว้ทำวันหลังก็ยังได้
9. พึ่งพิงอาหารแช่แข็ง
ในบริบทชาวอเมริกัน คุณดาน่าบอกว่า “ฉันจะมีผักแช่แข็งติดตู้เย็นไว้เสมอ (อาจจะเป็นถั่วหรือมันฝรั่งแช่แข็ง) จะได้ไม่ต้องซื้อผักสดเยอะในแต่ละสัปดาห์ แต่ในบริบทของชาวไทย เรื่องนี้อาจจะเป็นตัวเลือกรองๆ เพราะเราหาซื้อผักสดได้ง่ายเหลือเกิน หรือ จะปลูกผักกินเองก็ดี ใช้ความเป็นต่อในทรัพยากร และสภาพอากาศบ้านเราให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าบ้านไหนไม่สันทัดการใช้ผักสด จะใช้อาหารแช่แข็งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร
10. ต้มหม้อใหญ่ แช่ฟรีซไว้
ทำอาหารในปริมาณมากขึ้นหน่อยสำหรับตุนไว้ในช่องแข็งเป็นรางวัลให้ตัวเองในวันขี้เกียจ แต่ควรเป็นเมนูที่เราชอบมาก ๆ จะได้เอาออกมาอุ่นทานร้อน ๆ ได้อย่างอุ่นใจ ส่วนตัวข้อดีที่เห็นชัดที่สุดคือมันประหยัดช่วงเวลาอันแสนสนุกอย่างตอนล้างจานได้มากทีเดียว ทำงานมาเหนื่อยๆ อยู่นิ่งๆ บ้างก็ได้
เอาละ…อ่านบทความ เสร็จ!
วางแผนมื้ออาหาร เสร็จ!
ซื้อของเข้าบ้าน เสร็จ!
ประกอบอาหาร เสร็จ!
เมื่ออาหารพร้อมทาน…เราก็มาท่องกันว่า “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า…”
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการท่องกลอน คงช่วยให้เรา “จำได้” ว่าเราต้องกินข้าวให้หมด แต่การเข้าใจสถานการณ์วิกฤตขยะเศษอาหาร จะช่วยตอบคำถามเราว่า “ทำไม” เราต้องกินข้าวให้หมด และการลงมือทำของเราทุกคน จะช่วยให้ขยะเศษอาหารลดลงไปได้จริงๆ 🙂
เรามีตัวอย่างตารางการจัดมื้ออาหารมาให้ดูด้วย หวังว่าจะช่วยเริ่มต้นให้มื้อใหม่ที่อยากลองทำได้