Share this :

“ขยะ” คือ ทุกสิ่งที่เราไม่ต้องการที่ถูกทิ้งลงในถังขยะบ้าง ไม่ลงถังขยะบ้าง รัฐบาลกำลังสร้างวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศสู่ Thailand 4.0 แต่ระบบจัดการขยะของท้องถิ่นและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทยยังคงอยู่ในระดับ 2.0 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนได้จากภาพกองขยะเต็มคลองในกรุงเทพมหานคร (ซึ่งมีแม้กระทั่งฟูกที่นอน) ปัญหาไฟไหม้บ่อขยะในหลายพื้นที่ และภาพข่าวแพขยะที่พบในทะเลไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า “ขยะ” ได้กลายเป็นวิกฤตที่ลามจากบกสู่ทะเล

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญ ถึงบทบาทหน้าที่การเป็นสถาบันบ่มเพาะความรู้และเป็นแหล่งปลูกฝังจิตสำนึก สร้างวินัยด้านการลดและคัดแยกขยะ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและลดโลกร้อน จึงได้จัดทำโครงการใหญ่ ภายใต้ชื่อ “Chula Zero waste” ที่มีชื่อเต็มว่า  “แผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืน  พ.ศ.2560-2564” รวมระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการการจัดการขยะอย่างยั่งยืน มีนโยบายและแนวปฏิบัติรองรับ เพื่อให้ชาวจุฬาฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะด้วยตนเองและสามารถเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นต่อไป

Chula Zero waste ประกอบด้วย 6 แผนงาน 17 โครงการ ดำเนินโครงการโดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน จัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ได้แก่

  • ต้นทาง : ลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขยะและปรับปรุงระบบแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด
  • กลางทาง : ปรับปรุงระบบเก็บรวบรวมขยะภายในมหาวิทยาลัยให้ถูกสุขลักษณะ
  • ปลายทาง : ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการจัดการขยะอินทรีย์ เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพ

รวมไปถึงการพัฒนากลไกการทำงาน นโยบายและข้อมูลพื้นฐานก่อนนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย ลดปริมาณขยะเหลือทิ้งไม่น้อยกว่า 30% และมีค่านิยม “ขยะเป็นศูนย์” เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยที่ดีขึ้น

แผนการทั้งหมดนี้จะไม่สำเร็จได้เลย หากพวกเราไม่ช่วยกัน มาทำให้แผนการจัดการขยะให้อยู่หมัดเป็นจริงได้ ด้วยการช่วยกันแยกขยะ คิดก่อนทิ้ง ลดการใช้ ใช้ซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่

            ติดตามกิจกรรมดีๆ หรือแชร์ไอเดีย zero waste ของคุณ ได้ที่ Facebook: Chula Zero waste

            Together we can มั่นใจเราทำได้!

Share this :