หลังจากการเรียนเทอมสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมจบลง ก็ถึงเวลาที่พี่ๆ บัณฑิตจะเก็บชุดนิสิตเข้าตู้ แล้วเปลี่ยนไปใส่ชุดใหม่ตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง ในเวลาเดียวกันก็เป็นเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ของน้องๆ นิสิตที่จะก้าวเข้าสู่รั้วจามจุรี แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่น้องๆ ขาดไปไม่ได้ในฐานะสมาชิกใหม่ก็คือชุดนิสิตนั่นเอง
จะดีแค่ไหนถ้าเราได้ส่งต่อชุดดีๆ ให้น้องๆ เฟรชชี่ได้ใส่ชุดนิสิตต่อด้วย
พราว–วรัมพร เล้าประเสริฐ และ แวว–ปริชญา สระแก้ว เจ้าของโครงการ Chula Wardrobe
เมื่อ พราว–วรัมพร เล้าประเสริฐ บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ และ แวว–ปริชญา สระแก้ว บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์ เรียนจบปริญญาตรีในปีที่แล้ว ทั้งสองคนเห็นว่ามีชุดนิสิตที่จะไม่ได้ใช้แล้วหลังเรียนจบอยู่เต็มตู้ หลายๆ ชุดก็ยังอยู่ในสภาพดีมาก แต่ถ้าจะนำไปบริจาคผู้รับทั่วไปก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ประกอบกับในตอนนั้นพราวได้ดูสารคดีเรื่อง The True Cost ที่เล่าเบื้องหลังอันโหดร้ายของอุตสาหกรรมแฟชั่นและร่วมกิจกรรมแลกเสื้อผ้ามือสอง (Clothes Swap) กับเครือข่าย Fashion Revolution Thailand เป็นจุดที่ทำให้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสอง
“ตอนแรกเราก็เฉยๆ กับเสื้อผ้ามือสอง มีอคติว่าเสื้อผ้ามือสองคือเสื้อผ้าที่คนไม่ได้อยากใส่ แต่พอเราไปงานของ Fashion Revolution มันก็เปลี่ยนวิธีคิดว่าเสื้อผ้ามือสองนี่ ที่คนไม่ใส่ไม่ใช่เพราะว่ามันน่าเกลียด แต่เขาอาจจะมีเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่ได้ใส่ชุดนั้นต่อ การเอาเสื้อผ้ามือสองมาแลกกันแทนที่จะเอาไปทิ้งก็ทำให้เกิดมูลค่าขึ้นด้วย การไปงานนี้จึงทำให้เรารู้ว่าการแลกเสื้อผ้ามือสองดีๆ มันทำได้” แถมงานนี้ยังจุดประกายให้สนใจปัญหาเรื่อง Fast Fashion และการผลิตเสื้อผ้าจำนวนมากในอุตสาหกรรม
ทั้งสองคนจึงเกิดไอเดียทำโครงการให้รุ่นพี่ได้ส่งต่อชุดนิสิตให้รุ่นน้อง และตั้งชื่อโครงการนี้ว่า ‘Chula Wardrobe : ตู้ส่งต่อชุดนิสิต’ โดยสร้างเพจเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ จัดการระบบด้วย Google Form ให้รุ่นพี่ได้กรอกข้อมูลชุดที่ต้องการส่งต่อ และเปิดช่องทางให้รุ่นพี่สามารถส่งชุดทางไปรษณีย์หรือมาส่งชุดด้วยตัวเองก็ได้ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเกินความคาดหมายเพราะได้ชุดนิสิตกลับมา 700 กว่าชุดให้คัดเลือกกันอย่างละเอียดก่อนส่งต่อให้ตรงกับความต้องการของรุ่นน้องโดยดูข้อมูลชุดที่รุ่นน้องต้องการจากการให้รุ่นน้องกรอกข้อมูลใน Google Form เช่นกัน ไม่ต้องกลัวว่าชุดนิสิตมือสองจะเลอะเทอะไม่น่าใส่ เพราะมีหลักการคัดเลือกอย่างคิดถึงผู้รับว่า “คิดว่าเราเป็นตัวน้อง ถ้าเขาได้ชุดมาเขาจะกล้าใส่ไหม เพราะเราก็ไม่อยากให้น้องได้ไปแล้วรู้สึกผิดหวัง” ชุดที่ผ่านการคัดเลือกจึงเป็นชุดที่มีสภาพดี ปกเสื้อไม่เหลือง เสื้อไม่ยุ่ย และไม่มีตำหนิมากเกินไป ในตอนนั้นเมื่อถึงเวลาส่งต่อชุดนิสิตก็ส่ง sms แจ้งให้น้องๆ มารับชุดในวัน CU First Date ซึ่งก็มีเรื่องน่ารักๆ เกิดขึ้นคือ มีน้องผู้ชายที่ใจรักอยากใส่กระโปรงแต่ไม่ได้ไปซื้อตามร้านขายชุดนิสิต เมื่อมาพบกับ Chula Wardrobe ก็เลยได้กระโปรงไปใส่สมใจ
หลังจากที่การส่งต่อชุดนิสิตประสบความสำเร็จ เป็นช่วงที่พราวเริ่มทำงานประจำและแววต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงคิดหาวิธีให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นและสามารถขยายผลในวงกว้างได้โดยที่ไม่ต้องคอยดำเนินการทุกอย่างเอง และในปีนี้ยังเกิดการระบาดของ COVID-19 แพลตฟอร์มของ Chula Wardrobe ก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงเปลี่ยนจากเพจมาเป็นเฟซบุ๊กกรุ๊ป ‘กลุ่มส่งต่อชุดนิสิต by Chula Wardrobe’ เพื่อเป็นช่องทางให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้พูดคุยกันโดยตรงและติดต่อรับชุดนิสิตกันเองโดยไม่ต้องมารวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน ลดการสัมผัสและการติดต่อกันในระยะประชิดให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการปรับมาเป็นช่องทางออนไลน์จะทำให้เจอปัญหาใหม่ๆ ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดที่ทำให้ไม่ทำโครงการนี้ต่อเป็นปีที่สองในปีนี้ และยังตั้งใจว่าถ้าการส่งต่อชุดนิสิตด้วยวิธีนี้ลงตัว ได้ผลดี ก็อาจจะเพิ่มโมเดลให้ส่งต่อชุดครุย อุปกรณ์การเรียนต่างๆในอนาคต
ในตอนแรกทั้งสองคนไม่คาดคิดว่าจะมีคนสนใจโครงการเยอะมาก จึงได้รู้ว่าในจุฬาฯ มีคนต้องการชุดนิสิตมือสองมากกว่าที่คิดไว้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลอื่นๆ และทำให้คิดต่อในระดับที่กว้างขึ้นว่า หากในจุฬาฯ ยังมีคนต้องการเยอะขนาดนี้ ในระดับที่กว้างขึ้น ระดับประเทศก็ต้องมีคนที่ต้องการอีกเยอะเหมือนกัน
หากสงสัยว่าการส่งต่อชุดนิสิตสร้างผลกระทบดีๆ ได้ขนาดไหน ก็บอกได้เลยว่าเยอะกว่าที่คิดแน่ๆ เพราะการส่งต่อชุดนิสิต 700 กว่าชุดในปีแรก
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดใหม่ไปได้ 200,000 กว่าบาท
- ประหยัดน้ำได้เกือบสองล้านลิตร
- ลดก๊าซเรือนกระจก CO2 ได้กว่า 10 ตัน
แถมการลดการทิ้งชุดนิสิตให้ได้มากที่สุด ไม่ให้กลายไปเป็นขยะในหลุมฝังกลบโดยไม่จำเป็น ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริม Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ทั้งสองคนหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้รุ่นน้องเห็นคุณค่าของเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น ต่อยอดไปสู่การเห็นคุณค่าของเสื้อผ้าอื่นๆ ที่น้องจะซื้อในอนาคตด้วย
สุดท้ายเจ้าของโครงการสองคนฝากบอกว่า “อยากให้มีชุดมาส่งต่อกันเยอะๆ เพราะมีน้องที่ต้องการรอรับอยู่เยอะมาก ไม่อยากให้คิดว่าจะไม่มีคนรับหรือไม่มีใครอยากได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วชุดของเราที่เราคิดว่าจะไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์แล้ว ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับเขาที่ต้องการมากๆ มันก็ช่วยเขาประหยัดเงินได้หลักพัน ได้เยอะเลยนะ ก็อยากให้ช่วยกันส่งต่อกันเยอะๆ”
อ่านจบแล้ว ใครติดตามโครงการนี้ก็เข้าไปที่เพจ Chula Wardrobe : ตู้ส่งต่อชุดนิสิต สำหรับรุ่นพี่ที่อยากไปค้นตู้เลือกชุดนิสิตมาส่งต่อ หรือรุ่นน้องที่ตามหาชุดนิสิตที่ใช่สำหรับตัวเองก็เข้าไปในกรุ๊ป กลุ่มส่งต่อชุดนิสิต by Chula Wardrobe ได้เลย