Share this :

หลังจากโครงการ Chula Zero Waste เปิดตัวโครงการใกล้ครบรอบ 1 ปีซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวจุฬาฯ เองและบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมและตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำให้จุฬาฯ น่าอยู่อย่างไรโดยทำให้มีปริมาณขยะ = ศูนย์’

ก่อนเข้าสู่โครงการและมาตรการงดแจกถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการในร้านค้าภาคี   ทีมงานได้จัดประชุมพนักงานร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์และบทบาทของพนักงานที่มีส่วนร่วมกับโครงการให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยสื่อสารโครงการให้กับบุคคลภายในและภายนอกจุฬาฯ ได้เข้าใจถึงกิจกรรมงดแจกถุง และเพื่อให้พนักงานดำเนินมาตรการนี้ด้วยความเข้าใจและไม่อ่อนไหวต่อเสียงอ้อนวอนหรือต่อว่าจากลูกค้า นอกจากนี้โครงการได้ทำการประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้แก่ชาวจุฬาฯ อันได้แก่ ป้าย Cut-out รณรงค์ทั่วจุฬาฯ, ประกาศบนจอ LED หน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยและสยามสแควร์วัน, ธงญี่ปุ่นตามร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบูธเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) รวมทั้งเปิดรับบริจาคถุงพลาสติกสะอาดและถุงผ้าเหลือใช้ ส่งต่อให้ร้านค้าภาคีแจกให้กับลูกค้าเพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องซื้อถุงใหม่

เพื่อลดแรงต้านจากนิสิตและบุคลากร  Chula Zero Waste จึงได้คิดหาทางแก้ไขปัญหาในการงดแจกถุงเพื่อช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกและเพิ่มช่องทางความสะดวก ได้แก่ การแจกถุงสปันบอนด์ฟรีในช่วง 2 วันแรกที่ออกบูธรณรงค์ภายในจุฬาฯ, การจัดโปรโมชั่นซื้อครบ 150 บาทรับถุงผ้าฟรีที่ร้านสหกรณ์จุฬาและร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น, การบริการถุงพลาสติกสะอาดฟรีที่ได้จากการขอรับบริจาค, การบริการถุงเช่ายืมมัดจำ 10 บาท รวมไปถึงมาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก 2 บาท เพื่อแลกถุงพลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการสากลที่หลายประเทศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะจากถุงพลาสติก เช่น ไอซ์แลนด์ เวลส์ สก๊อตแลนด์ สหราชอาณาจักร จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น นอกเหนือจากนี้โครงการได้ยืดหยุ่นและผ่อนผันในกรณีซื้อของร้อน โดยร้านค้ายังคงให้บริการถุงหิ้วฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ผลดำเนินงานระยะที่ 1 ช่วงรณรงค์ให้ลูกค้าลดรับถุงพลาสติกในช่วง 3 เดือนแรก สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้เฉลี่ย 30% (เฉพาะข้อมูลการใช้ถุงของร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบูธเซเว่น-อีเลฟเว่น) เมื่อดำเนินการมาถึงระยะที่ 2 พบว่า ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงอย่างมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2560 สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 89%

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559- กรกฎาคม 2560 โครงการ Chula Zero Waste สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขยะจากถุงพลาสติกใบใหม่รวมๆ กันมากกว่า 800,000 ใบ (สมมติปริมาณถุงพลาสติกในแต่ละเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหากไม่มีมาตรการใดๆ เทียบเท่ากับปริมาณถุงพลาสติกในเดือนตุลาคม 2559) เท่ากับว่าชาวจุฬาฯ (รวมถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับถุงพลาสติกในจุฬาฯ) มีส่วนร่วมในการลดความเสี่ยงที่เต่าทะเลและสัตว์อื่นๆ อาจต้องตายจากการกลืนกิงถุงพลาสติกเพราะคิดว่าถุงพลาสติกคืออาหาร, ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยในสถานฝังกลบหรือบ่อขยะที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนตัวการร้ายสร้างก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของภาวะโลกร้อน รวมถึงช่วยกันป้องกันความเสี่ยงการอุดตันของท่อระบายน้ำสาเหตุหลักปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้ชาวกรุงเทพฯ หวั่นใจช่วยงฤดูฝนทุกปี

แม้ Chula Zero Waste จะหาวิธีรองรับต่อมาตรการการงดแจกถุงพลาสติกแล้ว ก็ยังคงมีอุปสรรคที่สำคัญนั่นก็คือบุคคลภายนอกที่เข้ามาซื้อของภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการรวมถึงนิสิตและบุคลากรบางส่วนที่ยังไม่รับทราบหรือเข้าใจวัตถุประสงค์เท่าที่ควร หรืออาจไม่ทราบประกาศมาตรการรองรับต่างๆ ที่จัดขึ้น ทางโครงการ Chula Zero Waste จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะที่เป็นวาระระดับชาติ

Chula Zero Waste ขอขอบคุณชาวจุฬาฯ ทุกคนที่ร่วมมือกันทำ “บ้านของเรา” ให้สะอาดน่าอยู่ ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีพิสูจน์แล้วว่า “ถ้าเราช่วยกัน เราทำได้” โดยเริ่มจากของชิ้นเล็กๆ อย่างถุงพลาสติก

ขอบคุณที่ทำให้จุฬาฯ น่าอยู่ we can together  มั่นใจเราทำได้!!!

Share this :