Share this :

“ดื่มกาแฟ 1 ครั้ง = สร้างขยะ 1 ชิ้น” หากยังคิดอย่างนี้อยู่คงต้องบอกเลยว่า คิดผิดนะจ๊ะ! เพราะหากเราลองแยกส่วนประกอบของแก้วกาแฟจะพบว่า มีชิ้นส่วน 4-5 ชิ้น ที่สามารถกลายร่างเป็นขยะได้ภายใน 5 นาทีหลังจากที่เราดูดน้ำหมด

เพื่อความกระจ่าง จึงต้องมาแถลง เราจะมาชำแหละแก้วกาแฟจากร้านกาแฟทั่วๆ ไปให้ดูว่าการดื่มกาแฟในแต่ละครั้งเราสร้างขยะกันกี่ชิ้น

  1. แก้วน้ำ: แน่นอนว่า ซื้อน้ำก็ต้องใส่แก้ว…แก้วน้ำจึงเป็นชิ้นส่วนหลักในการบรรจุเครื่องดื่มปริมาณต่างๆ ตามที่เราสั่ง ซึ่งมีการผลิตจากวัสดุหลากหลายประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ ทั้งแบบหนาและแบบบาง เคลือบไข เคลือบพลาสติก วัสดุผลิตแก้วบางชนิดสามารถรีไซเคิลได้ โดยการส่งต่อเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการเผาไหม้ แต่ก็ไม่ใช่แก้วทุกใบจะรีไซเคิลได้ เพราะฉะนั้น บทบาทหลักของแก้วน้ำ จึงมีแค่ใส่น้ำแล้วกลายเป็นขยะเสียมากกว่าที่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้
  2. ฝาครอบแก้ว: นอกจากกันน้ำหกและป้องกันฝุ่นละอองในอากาศแล้ว ฝาครอบแก้วยังสามารถสร้างความกิ๊บเก๋และเป็นแฟชั่นให้กับแก้วน้ำ ด้วยรูปทรงที่หลากหลาย ทั้งแบบกลม ทั้งแบบแบน หรือแบบหัวเหลี่ยม ช่วยสร้างมูลค่า สร้างราคาให้กับแก้วกาแฟดูน่าสนใจยิ่งขึ้น รวมไปถึงสร้างขยะโดยไม่จำเป็นได้อีกด้วย
  3. หลอดดูดน้ำ: ถือว่าขาดไม่ได้เลยสำหรับเมนูเครื่องดื่มเย็น หลอดดูดน้ำยังแอบสร้างขยะชิ้นเล็กๆ ที่เป็นแพ็คคู่กันมา นั่นก็คือบรรจุภัณฑ์ห่อหลอด ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือกระดาษที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มหลอดก่อนถูกใช้งาน เป็นการสร้างขยะซ้อนการสร้างขยะที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจริงๆ

4.ถุงหูหิ้ว กระดาษกันร้อน: เพื่อความสะดวกในการถือและป้องกันความร้อนความเย็นจากเครื่องดื่มที่อยู่ภายในแก้ว…ถุงหูหิ้วจึงถูกคิดค้นขึ้น ซึ่งเกิดเป็นขยะอีกหนึ่งชิ้นที่เกิดจากความคิดสะดวกสบายที่เราได้รับเพียง 5 นาที

5. ทิชชู่: ขยะชิ้นยุ่ยๆ ที่เกิดจากไอเดียสร้างพรอบเก๋ๆ ในการถือแก้วกาแฟ เราอาจจะบอกว่า ทิชชู่ช่วยป้องกันความร้อนและเย็นจากแก้วได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านที่ข้อ 4 ก็จะพบว่าเรามีถุงหูหิ้วอยู่แล้ว หรือจะอ้างว่าเอาไว้เช็ดปากก็คงจะทำไม่ได้ เพราะในกรณีที่เราสั่งเครื่องดื่มเย็น ทิชชู่จะซับไอน้ำที่ขึ้นเป็นหยอดรอบๆ แก้วกาแฟ ทำให้กระดาษเปื่อยยุ่ยเกินกว่าจะเช็ดปากได้ เพราฉะนั้น ทิชชู่ที่ห่อหุ้มรอบแก้วกาแฟจึงไม่ตอบโจทย์การใช้งาน นอกจากสร้างความสวยงามเพียงอย่างเดียว

6. เศษน้ำแข็ง: หลายคนอาจค้านหัวชนฝาว่า “น้ำแข็งจะเป็นขยะได้อย่างไร?” คำถามนี้เรามีเฉลย…เมื่อเราดูดน้ำจนหมดแก้ว จะเหลือเพียงน้ำแข็งเปล่าเปื้อนกาแฟมากกว่าครึ่งแก้ว หากเราไม่ใช่คนชอบทานน้ำแข็ง เราก็จะทิ้งน้ำแข็งเหล่านั้นไปพร้อมกับแก้วกาแฟ ลงในถังขยะ เมื่อเวลาผ่านไปน้ำแข็งก็จะละลายกลายเป็นน้ำ หกไหลนองไปทั่วถังแล้วทำให้ขยะชิ้นอื่นเปียกชื้นไปด้วย ส่งผลให้ขยะเกิดการเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นและเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าแมลง…คิดว่าทุกคนคงนึกภาพออกนะ!

อาจไม่ต้องถึงขั้นเลิกทานกาแฟไปเลยก็ได้ เพียงแค่เราต้องปรับพฤติกรรมนิดหน่อยเพื่อสร้างทางเลือกที่ดีกว่าอย่างเช่น มีกระบอกน้ำหรือแก้วคู่ใจสักใบไว้สำหรับใส่เครื่องดื่ม ใช้งานได้หลายครั้ง แถมลดขยะได้เป็นอย่างดี หรือวันไหนลืมเอาแก้วมา จำเป็นต้องใช้แก้วพลาสติกจริงๆ ก็อย่าลืมแยกขยะให้ถูกถัง เทเศษน้ำแข็งลงในภาชนะที่รองรองให้เรียบร้อย หากมีก๊อกน้ำอยู่บริเวณนั้นหรือมีน้ำเปล่าอยู่ในมือ ก็อย่าลืมทำความสะอาดแก้วน้ำที่เราจะทิ้ง เพื่อป้องกันแมลงและป้องกันการเน่าเสียที่เกิดจากน้ำในแก้ว เท่านี้เราก็จะมีถังขยะสะอาดน่าทิ้ง และไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

ทางที่ดีเอาแก้วมาเองดีกว่า…ลดขยะเห็นๆ มาลองทำดู แล้วจะรู้ว่าทำได้
Together We Can มั่นใจเราทำได้!
ติดตามกิจกรรมและความเคลื่อนไหวโครงการ Chula Zero waste ได้ที่ Facebook: Chula Zero waste

Share this :