Share this :

ขยะทั่วไปที่เราเห็นกันอย่างชินตา มักจะมีลักษณะสกปรก มีขยะล้นออกมานอกถังและมีขยะทุกประเภทปะปนกันไป รวมถึงส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์จนใครๆ ต่างเมินหน้าหนี ไม่กล้าทิ้ง จะดีกว่าไหม? ถ้าเราลองแยกขยะก่อนทิ้ง แบ่งหมวดหมู่ขยะให้ถูกประเภท ลดการปนเปื้อน สะอาด ลืมภาพลักษณ์ถังขยะเน่าๆ ไปได้เลย

มาทำความรู้จักถังขยะแต่ละประเภท เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ดึงสติ ประลองปัญญาตัวเอง สะกิดต่อม “เอ๊ะ!” ก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง

มาแยกขยะกันเถอะ! ตอน “ขยะอันตราย”

ขยะอันตราย (Hazardous waste) ถังขยะชนิดพิเศษพบได้บ่อยตามห้องแล็ปทดลองและโรงพยาบาลมีสีส้มหรือสีแดงบ่งบอกถึงความเป็นอันตรายของขยะชนิดนี้ ต้องมีวิธีการบรรจขยะเหล่านี้ก่อนนำมาทิ้ง ซึ่งได้แก่ หลอดไฟ แบตเตอรี่หรือถ่านไฟเก่า กระป๋องสเปรย์ ยา เครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์เคมีในครัวเรือน สารเคมีอันตราย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ

นิยามของขยะอันตรายคือ บรรจุภัณฑ์หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เสื่อมสภาพมีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนสารอันตราย วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุไวไฟ ต้องมีการรวบรวมและขนส่งอย่างถูกวิธี ส่งไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กำจัดและบำบัดของเสียชนิดนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนในระยะยาว และไม่ทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่นโดยเด็ดขาดเพราะอาจทำให้ขยะปนเปื้อนและเกิดอุบัติเหตุระหว่างทิ้งทั้งตนเองเจ้าหน้าที่เก็บขยะ

วิธีทิ้งขยะให้ถูกต้อง

หลอดไฟ: คัดแยกหลอดไฟที่เสียและหลอดไฟที่แตกออกจากกัน หลอดไฟที่แตกให้ใส่ถุงที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์หรือเศษกระดาษห่อหุ้มอย่างหนาแน่นเขียนกำกับข้างถุงให้ชัดเจนว่าเป็นหลอดไฟแตก ส่วนหลอดไฟที่หมดอายุการใช้งานให้ใส่ในปลอกหลอดไฟที่ติดมากับหลอดไฟใหม่และทิ้งใน “ถังขยะอันตราย”  หรือกล่องที่รองรับขยะอันตรายโดยเฉพาะ
แบตเตอรี่เหลือถ่านไฟเก่า: ทิ้งลง “ถังขยะอันตราย” ได้ทันที หากมีบรรจุภัณฑ์ที่รองรับถ่านไฟหรือแบตเตอรี่โดยเฉพาะให้ใส่ในที่รองรับนั้น
กระป๋องสเปรย์/ บรรจุภัณเคมีในครัวเรือน: แยกจากขยะทั่วไปภายในบ้าน หากมีสารระเหยให้ปิดฝาให้เรียบร้อย รวบรวมใส่ถุงขยะและทิ้งลงใน “ถังขยะอันตราย”
ยา/ เครื่องสำอาง: แยกบรรจุภัณฑ์ออกจากตัวยาและเครื่องสำอาง (ซึ่งบรรจุภัณฑ์บางชนิดสามารถแยกลงถังขยะรีไซเคิล+ ได้หรือมีชิ้นส่วนอลูมิเนียมสามารถบริจาคทำขาเทียมได้) นำตัวยาและเครื่องสำอางใส่ถุงขยะและทิ้งลงใน “ถังขยะอันตราย”
สารเคมีอันตราย: สารเคมีอันตรายที่ใช้เฉพาะในห้องทดลองหรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ใช้สารนี้โดยเฉพาะ โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดและทิ้งในที่จัดเตรียมไว้ ส่วนสารเคมีอื่นๆ เช่นสารเคมีสำหรับการช่างให้แยกใส่ลังกระดาษ ปิดฝาบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยและค่อยๆ หย่อนลงใน  “ถังขยะอันตราย” หรือติดต่อส่งทิ้งกับเทศบาลในเขตโดยตรง
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์: แยกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะประเภทอื่นออกจากกัน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ใส่ในถุงขยะมัดปากถุงให้เรียบร้อย ทิ้งลงใน “ถังขยะอันตราย”
โทรศัพท์มือถือ: ถอดซิมและลบข้อมูลส่วนตัวออกก่อนทิ้ง แล้วทิ้งลงในถังขยะเฉพาะ ปัจจุบันตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าจะมีกล่องรับรองโทรศัพท์มือถือเก่าที่ไม่ใช้แล้ว สามารถทิ้งได้ทันทีปลอดภัยแน่นอน

เห็นไหมล่ะทิ้งขยะง่ายนิดเดียวเอง พอลองทิ้งเป็นหมวดหมู่ก็ดูสะอาดขึ้นเยอะ แต่สำหรับใครที่ขี้ลืม จำไม่ได้ว่าขยะชิ้นนี้ควรทิ้งถังไหนก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะถังขยะในจุฬาฯ มีป้ายรูปภาพและสัญลักษณ์ของขยะแต่ละชนิดอย่างชัดเจน สีสันสดใส รูปทรงสวยงามมีทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ทิ้งง่ายเข้าไปอี๊กกก…(เสียงสูง)

อยากให้จุฬาฯ สะอาด อยากให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมดีๆ มาแยกขยะกันเถอะ!
Together we can มั่นใจเราทำได้!

Share this :