ร่างกายของมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึง 70% ซึ่งการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง บำรุงหัวใจ ชะลอวัย ผิวเด้งเต่งตึง ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ หน้าใสไร้สิว รวมไปถึงทำให้อารมณ์ดี สมองสดใส พร้อมเรียน พร้อมทำงาน มีประสิทธิภาพดีกว่ายาบำรุงหลายชนิดรวมกันเสียอีก ยิ่งดื่มเยอะยิ่งดีต่อร่างกาย
แต่ในน้ำใส ๆ ใครจะรู้ว่าปนเปื้อนอะไรอยู่ เรื่องคุณภาพของน้ำดื่มต้องใส่ใจพิเศษ หากบริโภคน้ำไม่สะอาดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายป่วย ซึ่งดูเหมือนจะให้โทษมากกว่าให้คุณประโยชน์ เพราะฉะนั้น การเลือกน้ำดื่มก็สำคัญไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพในด้านอื่นๆ Chula Zero Waste จึง ขอให้ข้อมูลสารปนเปื้อนที่มักพบได้บ่อยในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ซึ่งหากได้รับสารเหล่านี้มากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดจะทำให้ร่างกายเกิดอาการอย่างไร เพื่อสังเกตอาการ งดดื่มน้ำจากแหล่งน้ำนั้นและพบกับแพทย์ได้ทันท่วงที
การแสดงผลกรณีที่มีการปนเปื้อน ภาพ: bsmartsci
1.โคลิฟอร์ม (Coliform bacteria) เป็นกลุ่มแบคทีเรียแกรมลบสามารถเจริญเติบโตได้ในที่ที่มีอากาศและไม่มีอากาศ มักพบในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องน้ำ ทั้งในดินและพืช มีอยู่ในร่างกายสัตว์เลือดอุ่น รวมถึงอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ แม้ว่าแบคทีเรียพวกนี้จะอยู่ในลำไส้ของพวกเรา แต่ก็เป็นเพียงบางส่วนหากพบว่ามีการเจือปนในน้ำดื่มมากเกินไปสามารถบ่งชี้ถึงความไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะของแหล่งน้ำดื่มได้ โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ เป็นไข้ ปวดท้อง และท้องเสีย สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแบคทีเรียโคลิฟอร์ม สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานกว่าจุลินทรีย์อื่นๆ แต่ไม่ทนความร้อน สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้โดยผ่านกระบวนการทำความร้อนในระดับพาสเจอไรซ์หรือระบบกรองน้ำที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพก็สามารถช่วยกำจัดหรือควบคุมปริมาณของแบคทีเรียให้พอเหมาะและสามารถดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัย
2.อีโคไล (E.coli) หรือ Escherichia coli) เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ มีหลากหลายสายพันธุ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับแบคทีเรียโคลิฟอร์ม โดยมีลักษณะอาการติดเชื้อคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด มีไข้ เพิ่มเติม คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหารและอ่อนเพลีย ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดแบบฉับพลัน แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะอาการจะดีขึ้นตามลำดับภายใน 5-10 วัน สำหรับบางรายที่โชคร้ายอาจมีอาการจัดอยู่ในกลุ่มฮีโมไลติกยูเลมิก (Hemolytic Uremic Syndrome: HUS) ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ไตวาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทางที่ดีหากมีอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
3.โลหะหนัก (Heavy Metal) คือ ธาตุที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำ 5 เท่า บางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่บางชนิดก็เป็นพิษ และการนำสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยการ “กิน” เป็นช่องทางที่นำเข้าสู่ร่างกายได้มากที่สุด สำหรับน้ำดื่ม สามารถปนเปื้อนได้จากภาชนะในขั้นตอนการผลิตน้ำดื่มหรือแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน โดยโลหะหนักที่พบได้ในน้ำดื่มได้แก่…
-เหล็ก (Iron: Fe) เมื่อสะสมในร่างกายมากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลง หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลด เลือดแข็งตัวช้า ตับเสื่อมสภาพ รวมไปถึงการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย
-ปรอท (Mercury: Hg) รูปแบบที่ทำให้เกิดความเป็นพิษมากกว่าปรอทที่อยู่ในรูปของโลหะ คือ methyl และ ethyl ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ระบบประสาทผิดปกติ ตามัว มองไม่ชัด ส่งผลต่อระบบความจำทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม
-แมงกานีส (Manganese: Mn) หากมีมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารอักเสบ ร้ายแรงที่สุด คือ ระบบประสาทถูกทำลายมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต
-ทองแดง (Copper: Cu) ถ้าร่างกายสะสมทองแดง มากกว่า 100 มิลลิกรัม จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน เม็ดเลือดแดงแตกตัว จนไปถึงยับยั้งการทำงานของตับ แค่มีทองแดงสะสมเพียง 25-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ก็ทำให้ตับแข็งและเกิดอาการคลุ้มคลั่งได้ง่าย ๆ
ตารางกำหนดมาตรฐานสารต่าง ๆ ในน้ำดื่ม ดังนี้
ใครจะรู้แค่น้ำดื่มสักแก้วยังต้องเสี่ยงกับสารปนเปื้อนมากมายขนาดนี้ แต่สำหรับชาวจุฬาฯ โชคดีไม่ต้องเสี่ยงขนาดนั้น เพราะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีตู้กดน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ได้รับการตรวจสอบจากทีมงานภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มทุก 6 เดือน แถมมีบริษัทเข้ามาดูแลเปลี่ยนไส้กรองทุก 3 เดือน แค่พกแก้วน้ำหรือกระบอกน้ำก็สามารถเข้ามากดน้ำดื่มสะอาดชื่นใจ เติมได้เรื่อย ๆ เพราะเราให้กดฟรีได้ที่ตู้กดน้ำทั่วทั้งมหาวิทยาลัย
เพราะรักจึงจัดตู้กดน้ำให้ พกกระบอก(น้ำ) ลดขยะ มาเถอะมาช่วยกัน
Together we can มั่นใจเราทำได้
ข้อมูลจาก พบแพทย์(pobpad), หาหมอ(haamor), siamchemi