Share this :

นอกจากเดือนสิงหาคมจะมีวันสำคัญอย่างวันแม่หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังมีวันที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ก็คือ “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” นั่นเอง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทางด้านดาราศาสตร์ ได้ถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม ตามที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากวันนี้ในปี พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หรือ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ได้อย่างแม่นยำ

งานวิจัยถือได้ว่าเป็นด้านหนึ่งหรือศาสตร์หนึ่งของงานวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมมากมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนั้น Chula Zero Waste จึงขอหยิบเอาผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ ที่สร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนกำลังพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านนี้อยู่

ใครจะรู้ว่าการแปรรูปยางพาราจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาลพอๆ กับการสร้างมูลค่า เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจและพืชส่งออกหลักของประเทศ ซึ่งในขั้นตอนการผลิตยางพาราแผ่นหรือยางพาราอัดก้อนต้องใช้น้ำผสมน้ำยาเคมีเพื่อทำให้ยางจับตัวเป็นก้อน หลังผ่านกระบวนการต่างๆ น้ำที่ถูกคั้นออกมาก็จะกลายเป็นพิษต้องเข้ากระบวนการบำบัดเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากบำบัดจะมีเศษตะกอนขนาดจิ๋วเป็นผลผลิตสุดท้ายของการผลิตยาง เมื่อรวมกันก็น่าจะได้เศษยางที่เป็นก้อนใหญ่พอสมควร ซึ่งสุดท้ายต้องกลายเป็นขยะอุตสาหกรรม สำหรับอาจารย์จุฬาฯ สายวิจัยไม่คิดว่าเศษเล็กๆ นี้ไร้ค่า แต่กลับมองว่าสามารถสร้างมูลค่าทางการเงินและสามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้

ศาสตราจารย์ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ อาจารย์นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิจัยปัญหาการบำบัดน้ำเสียและไม่มองข้ามเศษตะกอนเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในน้ำจากกระบวนการบำบัด ในระหว่างที่คิดหาวิธีบำบัดน้ำเสียเพื่อให้น้ำกลับมาใสสะอาด และนำกลับไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็ปิ๊ง! ไอเดีย โดยการนำเศษตะกอนมาผสมกับเม็ดพลาสติกทำให้สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์และวัสดุต่างๆได้

ซึ่งผลการวิจัยนี้ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำตะกอนยางมาทดลองผลิตเป็นบล็อกยางปูพื้น ยางรองแท่นเครื่องจักร ไปจนถึงของใช้จุกจิกในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องเขียนถ้วย ช้อน จาน กระถาง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลามและมีแผนจะพัฒนาต่อยอดไปสู่ชิ้นงานอื่นๆ อีกด้วย

ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในส่วนของการบำบัดน้ำเสียก็มีขั้นตอนทางเทคนิคที่ช่วยทำให้น้ำสะอาดมากขึ้น จับตะกอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย หาตกค้างเหลือทิ้งก็ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ แถมกระบวนการบำบัดที่คิดค้นก็สามารถบำบัดได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สามารถอ่านบทความงานวิจัยนี้ได้ที่สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีอีกหลายผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีล้ำๆ แล้วจะรู้ว่างานวิจัยไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

Together we can มั่นใจเราทำได้
ข้อมูลจาก TK Park, สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(คลิก↵)

Share this :