Share this :

ถ้ามีใครมาบอกว่า มาจัดงานอีเวนต์ที่ไม่มีขยะหลังจบงานกันสิ หลายคนคงส่ายหน้าแล้วบอกว่า มันจะเป็นไปได้ยังไง งานอีเวนต์ต้องมีอาหาร มีของตกแต่ง มีเวทีกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ของมากมายมหาศาล แค่เตรียมงานก็ปวดหัวแล้วจะให้จัดการขยะให้เหลือศูนย์อีก เป็นไปไม่ได้หรอก

แต่เดี๋ยวก่อน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ผ่านมาบอกพวกเราว่า มันเป็นไปได้! ทั้งๆ ที่งานนี้เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของการจัดการขยะเลยทีเดียว ด้วยสเกลงานขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้ร่วมงานมากกว่าหมื่นคน สตาฟอีก 5,000 กว่าคน รวมถึงกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นในงาน แต่กลับสามารถจัดการขยะและหาที่ไปให้กับขยะเกือบ 7,000 กิโลกรัมได้ จนผู้ใหญ่และศิษย์เก่าที่มาร่วมงานยังต้องทึ่งในความสามารถของน้องๆ ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้จะเป็นใครไม่ได้นอกจากทีมนิสิตผู้จัดงาน จุฬาฯ และที่ปรึกษาอย่าง Tact นั่นเอง

Tact แท็กทีมปั้นโครงการพัฒนาสังคม

จากจุดเริ่มต้นของผู้ก่อตั้งและทีมงานหลักที่เป็นนิสิตจุฬาฯ และเป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน ทั้งแม็ก – ชยุตม์ สกุลคู CEO และ ซึง – ปวรรัตน์ ลิสกุลรักษ์ Co-Founder ของ Tact เห็นศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีความฝันอยากเปลี่ยนแปลง อยากพัฒนาสังคม เพียงแต่ขาดปัจจัยสนับสนุน เช่น ทรัพยากร ความรู้ เงินทุน ในขณะที่ภาคเอกชนมีปัจจัยเหล่านี้พร้อม Tact จึงดึงภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการสร้าง Social Solution โดยคนรุ่นใหม่ มี Tact เป็นทั้งที่ปรึกษาการทำโครงการต่างๆ และรับจัด Organize ในบางงาน จนเกิดเป็นโครงการเพื่อสังคมอย่าง Waste Runner, Anacoach, Localscape, Waste – Free Consulting จนถึงแคมเปญล่าสุดอย่าง Waste This Way รักษ์โลกให้ถูกทางในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74

ปวรรัตน์ ลิสกุลรักษ์ (ซึง) ชยุตม์ สกุลคู (แม็ก) เชาวนะ วิชิตพันธุ์ (ป้อง)

จูนกันด้วย ‘ความคาดหวัง’ และ ‘คุณค่า’

ป้อง – เชาวนะ วิชิตพันธุ์ Project Management Officer เล่าให้เราฟังว่า สิ่งที่สำคัญที่ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมคือความคาดหวังและคุณค่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มี Identity ค่อนข้างสูง “ยิ่งเป็นคนที่ทำกิจกรรมมา หรืออยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม เขาก็จะมีความตั้งใจหรือความอยากทำอะไรบางอย่างในใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าสำคัญเลยคือต้องจูนสิ่งที่เขาคิดและเขาเชื่อ เขาอยากทำให้มาตรงกับเราว่า เราเชื่อสิ่งเดียวกันนะ หรือเราให้คุณค่าในสิ่งที่เขาคิดเหมือนกัน มันคงไม่ตรงกันเป๊ะๆ แต่มันยังพอจูนกันได้ และสุดท้ายมันจะเชื่อมกัน”

ไม่ใช่แค่ความคาดหวังและคุณค่า แต่การสื่อสารให้โดนใจกลุ่มเป้าหมายก็มีความสำคัญ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาป้องพบว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีวิธีการสื่อสารต่างกัน เด็กธรรมศาสตร์จะชอบการสื่อสารที่สนุกสนาน เฉียบคม ส่วนเด็กจุฬาฯ จะชอบเนื้อหาที่จริงใจ เป็นเรื่องราวที่เพื่อนเล่าให้ฟัง “อย่างโครงการ Anacoach เราให้คนที่มาทำโครงการลองเล่าให้เพื่อนๆ เขาฟังว่าเขาได้อะไร เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งต่อสังคม และต่อตัวเขาเอง ปรากฏว่าซีรีส์นั้นทำเป็น Ad. ปล่อยไปแล้วประสบความสำเร็จมากๆ คือเพื่อนเขาเองก็เห็นเพื่อนตัวเองพูดและแชร์ เขาก็อยากแชร์ต่อ เขาเชื่อและรู้สึกว่ามันน่าจะเล่าต่อได้”

เปลี่ยนจนเป็นนอร์ม

“การเปลี่ยนแปลงยากแน่นอน แต่จะทำยังไงให้ยากขึ้นน้อยที่สุด

ใช้ความพยายามน้อยที่สุด และมีระบบสนับสนุน”

ก่อนจะมาทำแคมเปญ Waste This Way Tact ได้ทำโครงการลดขยะร่วมกับจุฬาฯ อยู่แล้วคือโครงการ Waste – Free Consulting เป็นการจัดการขยะในงานอีเวนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจุฬาฯ ทั้งงานลอยกระทง    งานวิ่งของคณะต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะในงานกิจกรรมจนเป็นสิ่งที่ทำกันทุกงาน แน่นอนว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำจนเคยชิน อย่างเปลี่ยนจากที่เคยรับแก้วพลาสติก เป็นพกแก้ว เปลี่ยนจากที่เคยซื้อของแล้วมีถุงพลาสติกใส่ให้ เป็นไม่รับถุงพลาสติก

จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา Tact เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้คือการมีระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่นการคัดแยกขยะ ถ้ามีถังแยกขยะ มีป้ายติดไว้ว่าถังไหนทิ้งอะไรก็จะอ่านก่อนและพยายามทำความเข้าใจว่าขยะที่อยู่ในมือต้องทิ้งลงถังไหน “เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งก็คือทำให้มันเป็นนอร์ม ทำให้มันเป็นเรื่องปกติ อย่างเรื่องแจกถุงพลาสติก แน่นอนแรกๆ ทุกคนต้องด่า ทุกคนต้องไม่เอา แต่ถ้ามันเป็นนอร์มไปเรื่อยๆ สักวันคนมันก็จะชินไปเอง การเปลี่ยนแปลงแรกๆ มันมีแรงต้านอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องรู้สึก ต้องทำและพอมันเริ่มมีคนทำเยอะๆ มันจะเป็นแรงกดดันทางสังคม เป็นนอร์มทางสังคมว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะทำ ใน Tact เองก็ทำหลาย        โปรเจ็กต์ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ชุมชน คนที่ไม่ได้ทำเรื่องโปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม ตอนแรกเขาก็จะไม่ได้สนใจหรอก แต่ว่าพอมาอยู่ในออฟฟิศของ Tact มาใช้ชีวิตอยู่ในออฟฟิศ ก็จะเริ่มมีคนบอกว่ารู้สึกบาปมากที่ถือแก้วพลาสติกเข้ามา รู้สึกว่านอร์มทางสังคมมีผลนะ พอทุกคนทำและมีตัวอย่างให้เห็น คนที่เข้ามาใหม่ๆ ก็จะเริ่มทำตาม จนไปถึงจุดหนึ่งก็จะรู้สึกบาปเวลาที่ถือถุงพลาสติกเข้ามาเต็มเลย”

ภาพจาก Tact

สำหรับเด็กมหาวิทยาลัย กิจกรรมเป็นจุดรวมที่ดึงดูดให้คนจำนวนมากมาทำงานร่วมกันและเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลัง ถ้าในกิจกรรมมีการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ก็จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ทั้งสตาฟและผู้ร่วมกิจกรรมเริ่มทำสิ่งนั้นไปด้วย “ถ้ากิจกรรมต่างๆ ทำเรื่องขยะให้จริงจัง อาจจะไม่ 100% เพียงแต่ว่าทำ อย่างน้อยมีความตระหนักเรื่องนี้ แยกขยะ พยายามใช้พลาสติกให้น้อยลง คนที่เข้าไปเขาก็จะซึมซับไป อ๋อ ที่นี่มันต้องทำแบบนี้ แล้วถ้ามันเริ่มได้แล้ว มันก็จะถูกส่งต่อไปในปีถัดไป พี่ก็จะมาเล่าให้น้องฟังว่าปีที่แล้วทำอย่างนี้นะ ต้องเตรียมอันโน้นอันนี้ สิ่งนี้มันก็จะถูกฝังเข้าไปในโครงสร้างของการทำกิจกรรม เรารู้สึกว่าตรงนี้มีอิมแพค ทั้งในแง่ของการจุดประกายให้คนอยากทำและมันจะถูกส่งต่อไปในปีถัดๆ ไปได้ด้วย” ซึ่งในจุฬาฯ หากนิสิตต้องการให้มีการแยกขยะในกิจกรรม จุฬาฯ ก็พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนนิสิตอย่างเต็มที่ เพราะจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริงอยู่แล้ว

Waste This Way – Extreme Case ก็ให้รู้ว่ามันทำได้

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 74 เป็นโจทย์ท้าทายของการจัดการขยะด้วยสเกลงานขนาดใหญ่ จำนวนผู้เข้าร่วมงานหมื่นกว่าคน รวมทั้งกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นภายในงาน แต่งานนี้ก็สามารถจัดการขยะให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้เกือบ 5,000 กิโลกรัมจากขยะทั้งหมดเกือบ 7,000 กิโลกรัม

เบื้องหลังความสำเร็จเริ่มตั้งแต่ทีมงานได้ปรับ Waste Management Hierarchy ให้เข้าใจง่ายด้วยการสรุปคอนเซ็ปต์ใน 3 คำ คือ “ลด เปลี่ยน แยก” ที่ฟังแล้วเข้าใจทันทีว่ามีวิธีการจัดการขยะอย่างไร  แล้วดูว่าจะสามารถ “ลด เปลี่ยน แยก” อะไรในงานได้บ้าง ดูความเหมาะสมว่าในแต่ละส่วนของงานจะ “ลด เปลี่ยน แยก” ได้ในระดับไหน เช่น ไฮไลต์ของงานอย่างขบวนพาเหรด จะลดไปเลยด้วยการไม่มีขบวนพาเหรดคงไม่ได้ จึงใช้การเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในขบวนพาเหรดและวัสดุตกแต่งสแตนด์เชียร์แทนด้วยการขอไม้ที่ใช้ในงานละครสถาปัตย์และละครวารสารมาใช้ต่อในขบวนพาเหรด ใช้ไม้ตกแต่งสแตนด์เชียร์ ขอผ้าจากคณะศิลปกรรมศาสตร์มาใช้ สำหรับสแตนด์เชียร์ที่ต้องมีการแจกข้าวให้ผู้เข้าร่วมงานก็ลดถุงซอสและถุงเครื่องเคียงให้ในกล่องเหลือแค่ข้าวและช้อน และเปลี่ยนไปใช้กล่องข้าวไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้

ภาพจาก CU Photo และ SGCU Camera

เมื่อจบงานแล้วก็หาที่ไปต่อให้วัสดุเหล่านี้ให้ตรงกับความต้องการของผู้รับมากที่สุด ไม้จากขบวนพาเหรดซึ่งเป็นไม้ขนาดใหญ่ได้ส่งต่อให้มูลนิธิกระจกเงาที่ต้องการไม้ขนาดใหญ่เหล่านี้ไปสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยอยู่แล้ว ส่วนผ้าและไวนิลก็นำไป Upcycling เป็นกระเป๋า ให้นิสิตนักศึกษานำไปแจกน้องๆ ในชนบทเวลาออกค่ายอาสา สำหรับน้องๆ ที่ชอบเล่นกีฬา ก็มีขวดพลาสติกในงานก็นำไป Upcycling เป็นรองเท้ากีฬาคุณภาพดีให้น้องๆ ใส่เล่นกีฬา

ภาพจาก Tact

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมงานรู้ล่วงหน้าว่าวันงานจะมีจุดเติมน้ำให้บริการและขอความร่วมมือให้นำขวดส่วนตัวมาเติมน้ำ มีการคัดแยกขยะที่ทำให้ผู้ร่วมงานทำได้ง่าย ด้วยการตั้งถังแยกขยะในจุดที่คนจะเดินผ่านและสังเกตเห็นง่าย ทีมงานผู้ออกแบบพบว่าคน 70-80% จะไม่ได้มองป้าย แต่มองขยะที่อยู่ในถังนั้นแล้วทิ้งตาม ถ้าตัวอย่างขยะในถังถูกต้อง คนที่มาทิ้งทีหลังก็ทิ้งถูกตามไปด้วย จึงออกแบบลำดับการทิ้งให้รองรับการแยกขยะด้วยคอนเซ็ปต์ “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ที่ออกแบบลำดับถังตามทิศทางที่คนเดิน และออกแบบถังให้คนเท ทิ้ง อย่างถูกต้อง เมื่อเดินไปถึงจุดแยกขยะ ถังแรกที่เจอคือถังสำหรับเทน้ำและน้ำแข็งที่มีตะแกรงมารองรับน้ำแข็ง ทำให้เข้าใจว่าต้องเทน้ำและน้ำแข็งออกก่อน และเดินไปทิ้งแก้วลงถังถัดไป ที่จุดแยกขยะยังมี     Green Mentor คือคนที่คอยแนะนำวิธีการทิ้งขยะและอธิบายให้คนทิ้งเข้าใจว่าทำไมต้องแยกขยะประเภทต่างๆ เมื่อเขาเข้าใจต่อไปเขาก็จะแยกขยะเองได้ถูกต้องมากขึ้น และขยะก็นำไปจัดการได้อย่างเหมาะสม โดยในจุฬาฯ มีระบบการจัดการขยะรองรับจากจุฬาฯ คือขยะแห้งนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงที่โรงปูน แก้ว Chula Zero Waste Cup* นำไปใช้เพาะต้นไม้ และเศษอาหารมีเกษตรกรมารับไป หรือนำไปใส่เครื่องทำปุ๋ย

ภาพจาก Tact

ทีมงานยังบอกว่าสิ่งที่เหนือความคาดหมายคือการพกแก้วมาเติมน้ำที่มียอดการมาเติมเกือบ 2,000 ครั้งจากผู้ร่วมงานหลักหมื่นเลยทีเดียว “พอมีการบอกให้เขารู้ก่อนว่าพกแก้วมาจะได้น้ำนะ มันเหมือนเป็นกึ่งๆ การกระตุ้นให้เอามาแหละ แต่ก็ทำให้เห็นว่าแบบนี้ก็ทำได้ ไม่ได้ยากขนาดนั้น เราคาดหวังไว้ต่ำมากคือแค่ 300 คนเอง แล้วคนที่มาเติมน้ำก็เป็นคนที่พกแก้วมาจริงๆ นะ ไม่ใช่ไปเอาขวดพลาสติกมาเติม”

ภาพจาก Tact

ภาพจาก Tact

อิมแพคที่เกิดในงานนี้ไม่ได้มีแค่ด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดขยะไปได้อย่างมหาศาลและมีหนทางให้ขยะได้ไปทำประโยชนอื่นๆ ต่อเท่านั้น สตาฟก็เห็นความสำคัญของการจัดการขยะอย่างจริงจัง และทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้ การ “ลด เปลี่ยน แยก” เกิดขึ้นได้มากที่สุด “เขาต้องปรับงานของเขาแทบทั้งหมดเพื่อจัดการขยะ ถามว่ายากไหม ยากมาก มันหมายความว่าเขาต้องปรับทุกจุด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมงานก่อนวันงาน จนถึงวันจริง เขาก็ปรับหมดเลยซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเขาใส่ใจจริงๆ วันงานเราจะเห็นสตาฟนั่งแยกอาหารของเขาเองก่อนใส่ถุงเขียว แล้วก็แยกกล่องอาหารใส่ถุงฟ้า รวมถึงกระทั่งดึกมากแล้วตอนเที่ยงคืนแล้วเขายังนั่งแยกกันอยู่เลย แม้จะเหนื่อยแค่ไหนก็ยังทำอยู่ แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่หัวหน้าเขาสั่งกันลงมา คนที่เป็นสตาฟที่หน้างานแล้วเขาก็ยังทำ แสดงว่ามันก็ไปไกลประมาณหนึ่งเลยนะ”

“คิดว่างานอื่นๆ ในสังคมภายนอกก็ควรมองสิ่งนี้บ้าง ว่ายากขนาดนี้ยังทำได้เลย

เพราะฉะนั้นง่ายกว่านี้ก็ต้องทำได้ แล้วก็ดึงส่วนที่มันง่ายไปใช้”

*อ่านเรื่องแก้ว Chula Zero Waste Cup เพิ่มเติมได้ที่: http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/zero-waste-cup/

 

 

Share this :