Share this :

ที่ร้าน Well All Coffee นอกจากจะมีกาแฟ ขนมหลากหลายให้เลือกซื้อแล้ว มุมหนึ่งของร้านยังเป็นชั้นวางแกลลอนน้ำยานานาชนิดจากร้าน Get Well Zone มีทั้งสบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน และอุปกรณ์สายกรีนน่ารักๆ ที่ผลิตในไทยและต่างประเทศอีกเพียบ รับรองว่าชาวจุฬาฯ จะตื่นเต้นจนเลือกซื้อไม่ถูกเลยทีเดียว

ว่าแต่อะไรทำให้ของเหล่านี้มาปรากฏอยู่ในร้านกาแฟได้ วันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณหยุย – มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ และคุณตูน – กิตติยา บุญยัง จอห์นสัน ผู้ก่อตั้งร้าน Get Well Zone กัน

ร้าน Get Well Zone มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

ตูน: ก่อนที่จะมีเทรนด์สิ่งแวดล้อมเข้ามา หยุยจะหิ้วปิ่นโต พกถุงผ้าอยู่แล้ว ส่วนเราเดินทางต่างประเทศบ่อย ก็จะได้ไปเห็นและรู้จักร้านแนว Bulk Shop (ร้านที่ขายของแบบเติม) หรือร้านแนวรีฟิลหลายร้าน ด้วยความที่เราสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน พอมีโอกาสได้ทำธุรกิจร่วมกันก็เลยคิดว่าร้านค้าแนวรักษ์โลกน่าจะเหมาะกับพวกเรา ประจวบเหมาะกับที่ตอนนั้นเทรนด์เรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจ จึงตัดสินใจเปิดร้าน Get Well Zone โดยเลือกพื้นที่ตรงเอกมัย (ร้าน Get Well Zone ตั้งอยู่ชั้น 2 ของร้าน Zakka Shop & Cafe ซอยเอกมัย 24) เพราะอยู่ใกล้บ้าน สะดวกกับการที่ต้องดูแลลูกอีกด้วย ส่วนของที่นำมาขายที่ร้าน เราสองคนก็ตระเวนเลือกตามตลาดกรีน ซื้อมาลองใช้เอง ก่อน เราจะเป็นคนเลือกของเข้าร้าน ส่วนหยุยก็รับหน้าที่เปิดเพจและดูแลเรื่องโซเชียล เพราะเป็นสิ่งที่เขาถนัด

หยุย: เราจะดูแลสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ก เป็นหน้าที่หลัก เราทำงานด้านนิเทศศาสตร์มาสิบกว่าปี เรารู้ว่าผู้รับสารเขาต้องการอะไร เขาต้องการเสพสื่อแบบไหน การทำคอนเทนต์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เราถนัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นงานหลักๆ ของเราจะเป็นหน้าที่หลังบ้านมากกว่า ส่วนงานหน้าบ้าน ก็เป็นของตูน เค้าจะคัดเลือกของเข้ามาขายในร้าน เพราะว่าเขาเป็นแม่บ้าน ก็จะเชี่ยวชาญสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จะรู้ว่าของแบบไหนดีสำหรับครอบครัว และ ตัวเอง

ร้านที่เอกมัยเปิดมาตั้งแต่เมื่อไร

หยุย: ถ้าย้อนกลับไปปีที่แล้วเทรนด์สิ่งแวดล้อมยังไม่ได้บูมขนาดนี้ เทรนด์เริ่มมาช่วงปลายปี แต่เราเปิดร้านตั้งแต่ต้นปีประมาณเดือนเมษายน แล้วเปิดอย่างเป็นทางการจริงๆ วันที่ 9 มิถุนายน

ของที่ขายในร้านดูมีหลายประเภท ตอบความต้องการของคนในบ้านได้ครบเลย

ตูน: เรียกว่ากระจายความต้องการของลูกค้าดีกว่า อาศัยว่าเรารู้ความต้องการของคนในครอบครัว แล้วที่ร้านกาแฟที่อยู่ด้านล่างเขาเลี้ยงแมวตัวหนึ่ง แล้วก็มีกลุ่มคนรักสัตว์มาใช้บริการ เราเลยมีน้ำยาอาบน้ำหมาแมวมาขายเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคด้วย เราลงทุนกับสินค้าเยอะมาก พยายามคัดคุณภาพให้ดีที่สุด

หยุย: เราลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ อะไรขายได้เราก็ขายต่อ อะไรขายไม่ได้ก็เอาออก เช่นของกิน จะขายได้ช้ามาก  เก็บรักษาก็ยากด้วย ก็เลยถอดของกินออก ทำให้ของในร้านส่วนมากสินค้าประเภท household หรือสินค้าที่ใช้ในบ้านจะขายได้ง่ายกว่า

สินค้าที่เอาเข้ามาขายในร้าน ลองใช้เองทุกตัวเลยหรือ

ตูน: บางตัวก็ไม่ได้ใช้ อย่างสินค้าของหมาแมวเพราะที่บ้านไม่ได้เลี้ยง และการทดลองใช้สินค้าไม่ได้หมายความว่าถ้าเราแพ้สินค้าตัวนี้เราจะไม่เอาเข้ามาขายนะ แต่จะทำให้เราจะรู้ว่าถ้าเกิดแพ้จะมีอาการอย่างไร  ผื่นขึ้น  ผมเป็นรังแค หรือสิวขึ้นตามไรผม จะอธิบายให้ลูกค้าฟังได้ อย่างเช่นพี่แพ้น้ำมันบริสุทธิ์อย่าง Argan Oil, Olive Oil เราแพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นของที่ไม่ดี

แสดงว่าของออร์แกนิกบางอย่างอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน เราต้องเลือกใช้

ตูน: ใช่ บางคนแพ้สารที่ทำให้เกิดฟองหรือฟลูออไรด์ในยาสีฟัน จะมีสิวที่ปาก พอรู้ว่าเขาแพ้ เราก็จะสามารถอธิบายและแนะนำสูตรที่เหมาะสมให้ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าพอเค้าแพ้ แล้วเราจะเลิกนำมาขายนะ เคยไม่เอาสินค้าที่มีคนแพ้เข้ามา กลายเป็นว่าลูกค้าคนอื่นๆ ต้องการของนั้นนะ

หยุย: สินค้าที่จะนำเข้ามาขายในร้านเราจะขอใบจดแจ้ง ใบอย.มาประกอบการคัดเลือกด้วย แต่ถ้าสินค้าเป็นออร์แกนิกก็ต้องมีเอกสารบอกแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ เอกสารพวกนี้เราจะเก็บไว้ เวลามีลูกค้ามาขอดูเราก็มีให้ หรือเวลาไปออกงานที่ไหนก็ติดไปด้วย เอกสารเหล่านี้สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ เช่น สินค้าบางอย่างที่เราเอามาขายเค้ามีส่งออกไปต่างประเทศ ได้รับเครื่องหมาย USDA เป็นการรับรองมาตรฐานออร์แกนิกของอเมริกา คนที่รู้จักสัญลักษณ์นี้เขาก็โอเค รู้สึกมั่นใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ร้านที่จุฬาฯ มีที่มาที่ไปอย่างไร

ตูน: เรารู้จักกับพี่บี๋ซึ่งเป็นพี่สาวเจ้าของร้าน Well All Coffee (พี่บอย) ก่อนหน้านี้เราไปออกร้านขายของด้วยกันบ่อยๆ พอพี่บอยย้ายรานจากจุดหนึ่งในจุฬาฯ มาเปิดร้านตรงนี้ ที่คณะครุฯ จุฬาฯ ก็เสนอว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ร้าน Get Well Zone สนใจไหม เรายินดีมาก เพราะเราเห็นว่าในจุฬาฯ ก็ยังไม่มีร้านแบบนี้และเป็นโอกาสที่ดี คิดแป๊บเดียวก็ตอบตกลงเลย

ที่จุฬาฯ เลือกของที่มาวางขายอย่างไร

หยุย: ด้วยความที่พื้นที่วางของจำกัด เราก็ต้องเลือกของที่คิดว่าทุกคนต้องใช้ เราจึงแบ่งสินค้าเป็น 3 ประเภท คือ อย่างแรกคือน้ำยาใช้ภายในบ้าน เช่นน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า สบู่ล้างมือ น้ำยาถูพื้น อย่างที่สองคือสกินแคร์ เครื่องสำอาง อย่างสบู่ แชมพู ก็จะมีสูตรที่ขายดีมาก กลิ่นหอม คิดว่าเด็กๆ สาวๆ น่าจะชอบของที่มีกลิ่นหอม

ตูน: สบู่น้ำมันมะพร้าวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ส่วนสบู่ผลไม้เวลาที่ได้กลิ่นแล้วจะรู้สึกสดชื่น สบาย และสินค้าอีกตัวนึงที่เอามาให้ลองก็คือน้ำมันมะพร้าวกับเบกกิ้งโซดา คือบางคนอยากจะใช้ยาสีฟันที่เป็นสูตรที่ทำเอง เราก็เอาเบกกิ้งโซดามาวางคู่กับน้ำมันมะพร้าวให้เอาไปทดลองใช้ดู แต่สองอย่างนี้จะซื้อแยกเอาไปทำอย่างอื่นก็ได้ น้ำมันมะพร้าวสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ได้เอาไว้หมักผมอย่างเดียว สามารถเอาไปกินได้ บ้วนปากได้ เรียกว่าครอบจักรวาล เบกกิ้งโซดาก็เอาไปทำอาหารได้เหมือนกัน

หยุย: บลัชออนเป็นของที่หลายคนลองใช้แล้วก็ชอบ ตัวนี้เป็นออร์แกนิก เจ้าของสินค้าเป็นเภสัชกรอยู่ที่เชียงใหม่ ปกติเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ค่อนข้างใช้พลาสติกเยอะ แต่ว่าเจ้านี้เขาบอกว่าเขาอยากจะลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ ก็เลยเอาบลัชออนใส่กระปุกอะลูมิเนียม เราถามว่าสามารถรีฟิลได้ไหม เขาบอกว่าไม่แนะนำ ของบางอย่างลดไม่ได้เราก็ต้องยอมรับ เขาก็พยายามปรับแพคเกจที่เป็นพลาสติกให้เป็นอะลูมิเนียมที่เราสามารถเอาไปรีไซเคิลได้ หรือเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ส่วนของอีกประเภทที่เราขาย จะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถพกติดตัวและใช้ได้ในชีวิตประจำวันคือหลอดที่เรามีขายครบทุกแบบ มีถุงผ้า กระบอกน้ำ แก้วน้ำ ที่จะช่วยลดการใช้พลาสติกได้ ถุงผ้าก็จะทำมาจากผ้าที่เหลือจากออเดอร์โรงงาน เพราะญาติพี่เป็นเจ้าของโรงงานทำผ้า เวลาตัดเสื้อหรือตัดชุด จะเหลือผ้าเยอะมากแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราก็เลยเอามาออกแบบทำเป็นถุงอเนกประสงค์ ซักได้  เป็นเอกลักษณ์ของร้าน เอาไว้ไปชอปปิง ใส่ผลไม้ก็ได้ อันนี้ก็เป็นสินค้าอีกอย่างของเรา

เป็นตัวอย่างของการใช้ของได้คุ้มค่ามากจริงๆ

หยุย: อะไรที่ดูแล้วสภาพของยังดีอยู่เราก็เอามาประยุกต์ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรซึ่งตรงกับคอนเซปต์ร้านเราคือ less waste living แรกเริ่มก็เอาผ้าที่ตูนสะสมจากต่างประเทศมาเย็บก่อน แล้วได้เชือกที่มาจากโรงงานรองเท้า ส่วนตอนนี้ผ้าของตูนหมดไปแล้ว เราก็ได้ผ้าจากโรงงานที่เหลือจากออเดอร์เย็บเสื้อที่ส่งออกไปต่างประเทศ เขาบอกว่ามีผ้าเหลือสิบเมตร หรือสิบกว่าเมตรก็มี เรารู้สึกเสียดายก็เลยไปออกแบบ ดูว่าผ้านี้เอามาแมตช์กับอะไรได้บ้าง จึงเกิดเป็นถุงผ้าอเนกประสงค์ลายน่ารักน่าใช้ ก็เป็นการลดทรัพยากรได้ อะไรที่ทำได้เราก็ทำเลย

เปิดร้านมาจนถึงวันนี้เรายังต้องอธิบายอยู่ไหมว่าการรีฟิลคืออะไร

หยุย: ตอนเปิดร้านมา อธิบายอย่างเดียวเลย ช่วง 4 เดือนแรกของการเปิดร้าน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงกันยายน เป็นช่วงการให้ข้อมูล นอกจากการให้ข้อมูลหน้าร้านแล้ว เราก็พยายามทำสื่อ ทำคอนเทนต์ในเฟสบุ๊ก แต่หลังๆ คนเข้าใจมากขึ้น เราไม่ต้องอธิบายแล้วว่าร้านรีฟิลคืออะไร แต่เรามีหน้าที่อธิบายสินค้ามากกว่าว่าสินค้าตัวนี้ช่วยเรื่องอะไร สินค้าตัวไหนน่าจะเหมาะกับเขา หรือถ้ามีสินค้าใหม่ๆ จากต่างประเทศก็แนะนำให้รู้ว่าคืออะไร

มีวิธีการทำคอนเทนต์เฟสบุ๊กอย่างไร

ตูน: ข้อมูลที่ลึกมากเราจะไม่อยากไปแตะ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราไม่ได้เหมือนลุงซาเล้งที่เขามีความรู้เรื่องการจัดการขยะเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นข้อมูลเชิงลึกเราจะไม่เข้าไปทำ หรืออะไรที่เราแชร์ เราก็ต้องเช็กก่อนว่าข่าวจริงหรือข่าวปลอม

หยุย: ก่อนโพสต์เราจะคุยกันก่อนว่าเรื่องนี้โอเคไหม เวลาตูนไปต่างประเทศก็จะบอกเขาว่าไปดูมาด้วยนะว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เขาจะถ่ายรูปมา แล้วเราก็ถามข้อมูลจากเขามาทำคอนเทนต์ เราอยากให้คนที่ติดตามเพจเราไม่ได้รับแต่ข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น อะไรที่ดูแล้วว่ามีประโยชน์ คิดว่าเขาควรรู้ ดีกับชีวิตเขาก็โพสต์

ร้าน Get Well Zone ไม่ได้เป็นแค่ร้านรีฟิลเท่านั้น แต่คำว่า Get Well Zone หมายถึง

พื้นที่ที่จะทำให้โลกดีขึ้น และเป็นส่วนที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

เวลาลูกค้าเข้ามาที่ร้านเขาก็จะบอกว่าเข้ามาแล้วรู้สึกสบายใจ ไม่ได้รู้สึกเหมือนอยู่ร้านขายของ เพราะเราตั้งใจแต่งร้านด้วยโทนสีเขียว ทำให้คนที่อยู่ในร้านรู้สึกผ่อนคลาย แม้แต่ในเพจเราก็ด้วย แต่เราไม่ใช่เพจโลกสวยนะ เราต้องบอกด้วยว่าตอนนี้โลกของเราเป็นอย่างไร คุณต้องตระหนักได้แล้วว่าต้องทำอะไรแล้วสักอย่างหนึ่ง

มีอะไรอยากฝากถึงชาวจุฬาฯ ไหม

หยุย: ตอนนี้จุฬาฯ มีร้านรีฟิลแล้วอยู่ในคณะครุศาสตร์ บางคนอาจจะเคยเห็น เคยได้ยินมาแล้วว่าร้านรีฟิลเป็นอย่างไร แต่ยังไม่เคยมาใช้บริการ ก็อยากจะให้ลองมาใช้บริการดู บางคนอาจจะไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ใช้ของที่ซื้อในห้างมาตลอด อาจจะลองเปลี่ยนมาใช้สินค้าที่คนไทยทำเอง เป็นสินค้าที่ไม่ได้ใส่สารเคมีเยอะ มันอาจจะไม่ได้หอมเหมือนที่เคยใช้มา แต่เราเชื่อว่ามันดีไม่แพ้กัน

ตูน: ร้าน Get Well Zone มีคอนเซปต์คือ less waste living คือการใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด เรายังไปไม่ถึงขั้น zero-waste ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างและรูปแบบการใช้ชีวิต แต่เราเห็นแล้วว่าโลกในตอนนี้ไม่ได้สวยงามเหมือนตอนที่เราเป็นเด็กที่เราเติบโตมา สิ่งที่เราทำวันนี้มันจะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นสิ่งที่เราจะช่วยกันได้ ช่วยรักษามันไว้ ตอนนี้ทุกคนอาจจะมองว่า ฉันยังอายุน้อยอยู่ แต่กว่าเราจะ 50-60 มันจะเหลือทรัพยากรในโลกที่จะทำให้เราซาบซึ้งกับมันอยู่อีกแค่ไหน

เพราะฉะนั้นถ้าเราลงมือทำคนละเล็กคนละน้อย ร่วมมือกัน เหมือนเราเป็นจุดเล็กๆ

แต่พอรวมกันจะกลายเป็นพลังขึ้นมา แล้วทุกอย่างมันจะดีขึ้น

เราอย่ารอนโยบายจากรัฐบาล เราแค่ทำของเรา แล้วเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

อย่างตัวบ้านพี่เองสามีก็ช่วย ลูกก็ช่วย เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเราไม่ได้พกถุงพลาสติกเข้าบ้าน เราก็ช่วยลดขยะให้โลกด้วย การเข้าไปใช้บริการร้านรีฟิลก็เป็นการลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ single-use อีกทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทำไปเถอะ เพราะวันหนึ่งมันจะเห็นผลที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่เร็ววันนี้ แต่มันจะต้องมาถึง จะต้องมีผล มีอะไรสักอย่าง มันต้องดีกว่าเดิมแน่นอน

ชาวจุฬาฯ คนไหนอยากชอปปิงสินค้ารักษ์โลกและดื่มกาแฟ ทานขนมในที่เดียว ก็แวะไปอุดหนุนร้าน Get Well Zone ได้ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ทุกวัน (วันจันทร์ – ศุกร์ 07.30-19.00 น./วันเสาร์ – อาทิตย์ 08.00 – 18.00 น.) สำหรับนิสิต อาจารย์ หรือบุคลากรที่พกขวดมาซื้อน้ำยาเอง รับส่วนลดไปเลย 5 บาท/ใบเสร็จ

ขั้นตอนการเติมสินค้า Get Well Zone

1. ชั่งน้ำหนักขวดเปล่า

2. จดน้ำหนักขวดและเขียนรหัสสินค้าที่ต้องการ (รหัสติดอยู่ที่แกลลอน)

3. เติมสินค้าที่ต้องการ

4. ชั่งน้ำหนักหลังเติม และจดน้ำหนัก นำน้ำหนักหลังเติม – น้ำหนักขวด จะได้น้ำหนักของสินค้า

5. เรียบร้อย! จ่ายเงินได้เลย

Share this :