หลังจากที่ทำความเข้าใจภาพรวมของ Circular Economy ในตอนแรกไปแล้ว บทความนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่อง EPR หรือ Extended Producer Responsibility ว่าจะช่วยส่งเสริม Circular Economy ได้อย่างไร และเรียนรู้การขับเคลื่อน Circular Economy ของประเทศมาเลเซีย
EPR กับการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย
โดย อ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย Circular Economy for Waste-free Thailand (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
“การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ได้แก้แค่ผลิตภัณฑ์ ถ้าออกแบบระบบดีๆ ให้ผลประโยชน์ต่อเนื่องกัน จะไปถึง Circular Economy ได้ เพราะกระบวนการทางสิ่งแวดล้อมจะถูกรวมไปในต้นทุนของธุรกิจแล้ว”
แนวคิดของ EPR
ระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ในปัจจุบันเป็นการ Take-Make-Dispose ซึ่งมีขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดการขยะเป็นจุดอ่อนที่สุด EPR เข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ เพราะแนวคิดของ EPR ระบุว่า ผู้ผลิตเป็นผู้เล่นสำคัญที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ มีอิทธิพลในการออกแบบระบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และสามารถออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้ เพราะการแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ ไม่ได้แก้แค่ผลิตภัณฑ์ เช่น ถ้าเรามีรถการออกแบบรถใหม่ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่รถมีหน้าที่พาเราจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาของรถ ต้องมองถึงระบบเชื้อเพลิง ถนนหนทาง ทางเลือกในการเดินทางด้วย
Fuji Xerox ตัวอย่างโมเดลต้นแบบธุรกิจแบบหมุนเวียน
Fuji Xerox เป็นธุรกิจขายเครื่องถ่ายเอกสาร แต่เครื่องถ่ายเอกสารมีอายุการใช้งานยาวนานและอะไหล่ในเครื่องถ่ายเอกสารก็ราคาสูง Fuji Xerox มองว่าอะไหล่ในเครื่องเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่ขยะ แทนที่จะขายเครื่องถ่ายเอกสารจึงเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาทำ Product as Service คือการขายบริการระบบให้เช่าเครื่องถ่ายเอกสารแทนการขายสินค้าคือตัวเครื่องถ่ายเอกสาร ทำให้เกิด Circular Economy ภายในวงจรผลิตภัณฑ์โดยอัตโนมัติ เครื่องถ่ายเอกสารจึงกลายเป็นทรัพย์สินของ Fuji ที่รู้ว่าให้ลูกค้าเช่ากี่ปี เครื่องนั้นอยู่ที่ไหนของโลก เมื่อชิ้นส่วนหมดอายุก็เอากลับมาสู่วงจรได้
โมเดลธุรกิจนี้ทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Fuji เปลี่ยนไปทันที Fuji ผลิตอะไหล่ให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อให้นำกลับมา Reuse ได้ ซึ่งการ Reuse ใช้พลังงานน้อยกว่าการ Recycle และยังไม่ขายอะไหล่ที่ไม่จำเป็นด้วย
Fuji Xerox เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ถ้าออกแบบระบบดีๆ ให้ผลประโยชน์ต่อเนื่องกัน จะไปถึง Circular Economy ได้ เพราะกระบวนการทางสิ่งแวดล้อมจะถูกรวมไปในต้นทุนของธุรกิจแล้ว
ความรับผิดชอบของผู้ผลิต
EPR ขยายความรับผิดชอบไปที่ผู้ผลิต โดยแบ่งประเภทความรับผิดชอบของผู้ผลิตออกเป็น
- Liability ความรับผิด มีบทลงโทษถ้าผู้ผลิตไม่รับผิดชอบ แต่ Liability เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ EPR เท่านั้น
- Financial Responsibility การสนับสนุนทางการเงิน
- Physical Responsibility การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การตั้งจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์
- Informative Responsibility การบอกข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบว่าผู้ผลิตมีการทำ EPR อย่างไร
ระบบ EPR สามารถออกแบบได้ว่าอยากเน้นความรับผิดชอบในส่วนไหน โดยพิจารณาจากบริบทว่าระบบที่มีอยู่ขาดอะไรแล้วเสริมตรงนั้น หากผู้ผลิตรับผิดชอบทั้งหมดจะเรียกว่า Ownership
เรียนรู้จากสวีเดน
สวีเดนมีระบบมัดจำรับคืนบรรจุภัณฑ์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ย้อนกลับไปช่วงปี ’80-’90 สวีเดนยังไม่แยกขยะด้วยซ้ำ การรีไซเคิลก็ยังมีปัญหาอยู่ จนเมื่อปี 1982 สวีเดนร่วมมือกับผู้ผลิต ออกกฎหมายใหม่ ตั้งเป้ารีไซเคิลขยะให้ได้ 75% และทำได้จริง เมื่อผ่านไป 10 ปี ก็เพิ่มเป้าหมายเป็น 90% แต่ระบบที่มีอยู่ยังไม่รองรับ จึงมีแค่กระป๋องกับ PET ที่จะรีไซเคิลให้ได้ 90% โดยมีกลไกทาง Physical Responsibility กับ Financial Responsibility เพิ่มขึ้น เช่น ขวดน้ำมีราคาขวดละ 5 บาท ที่ขวดน้ำมีราคาสูงขนาดนี้เป็นเพราะมีเงินมัดจำวนอยู่ในระบบ เวลาซื้อขวดน้ำก็จะมีเงินมัดจำอยู่ และยังมีองค์กรกลางตั้งขึ้นให้ผู้ผลิตบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ (POR) มีตู้ Vending Matchine ที่ร้านค้าปลีกใจกลางเมือง จากตัวอย่างของสวีเดนทำให้เห็นว่าเมื่อมีกลไกต่างๆ พร้อม ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนขึ้นและแก้ปัญหาขยะได้
การแก้ปัญหาขยะของประเทศไทย
ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่วงจรการไหลของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่หมุนเวียนเพราะมีจุดอ่อนที่การจัดการขยะ มีทั้งจัดการถูกต้องและไม่ถูกต้อง ที่จัดการถูกต้องส่วนใหญ่เป็นการฝังกลบ และที่จัดการไม่ถูกต้องกลายเป็นขยะที่หลุดรอดสู่ทะเล อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ปัญหาขยะของประเทศสวีเดนไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เราจึงควรมองหานโยบายที่ใกล้เคียงกับโครงสร้างสังคมและต้นทุนของไทย
“มาเลเซียมีความท้าทายใกล้เคียงกับไทย มีกฎหมายการจัดการขยะ 1 ฉบับ (Solid Waste and Public Cleansing Management) และอปท. มีบทบาทสำคัญและมีอำนาจในการจัดการขยะ”
เมื่อมองดูประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประเทศมาเลเซียนับว่ามีความท้าทายใกล้เคียงกลับประเทศไทย แต่สามารถผลักดัน Circular Economy ให้เกิดขึ้นได้ คุณปานรวี มีทรัพย์ ผู้จัดการนโยบายการจัดการขยะพลาสติก, WWF ได้เล่าเรื่องการจัดการขยะของประเทศมาเลเซียในการนำเสนอหัวข้อ Thailand Solving the Plastic Problem ไว้ว่า สิ่งที่ทำให้การทำ Circular Economy ของมาเลเซียทำได้ดีและพัฒนาได้ก้าวกระโดดคือ
- ตามบ้านของมาเลเซียมีการแยกขยะอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการคัดแยกและการจัดเก็บ
- คนเก็บขยะที่มาเลเซียมีเยอะมาก เป็น Informal Sector และขยะที่เก็บก็มีมูลค่าสูง เช่น PP, HDPE, PET มาเลเซียขายขยะได้ราคาสูงเพราะมีระบบการจัดการดีมาก มีจุดรีไซเคิลเยอะ กระจายไปทั่วประเทศ
สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมาเลเซียมีกฎหมายการจัดการขยะอยู่ 1 ฉบับ (Solid Waste and Public Cleansing Management) มีกระทรวงหลักในการดูแลคือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการคลัง ที่มีแนวทางการทำงานชัดเจน กระชับ และที่สำคัญคือการให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะ ในขณะที่กฎหมายการจัดการขยะของไทยกระจัดกระจายและอยู่ภายใต้หลายกระทรวงในอีก 5 ปีข้างหน้า มาเลเซียจะออกกฎหมาย EPR Law เพื่อบริหารจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับขยะในกฎหมายฉบับเดียว
นอกจากประเทศมาเลเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็นำ Circular Economy มาปรับใช้เช่นกัน โดยมีทั้งการปรับใช้ในเชิงนโยบายและภาคธุรกิจปรับใช้ด้วยการทำ EPR เช่น ประเทศเวียดนาม มีการแก้กฎหมายนำ EPR ไปปรับใช้ และ PROs ของเวียดนามมีการแข่งขันกันเอง ประเทศสิงคโปร์ให้ผู้ผลิตทำรายงานว่าจะจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตอย่างไร ประเทศอินโดนีเซียมีองค์กรกลางของ Voluntary EPR เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยการนำ EPR เข้ามาปรับใช้จะทำให้เกิดการจัดการขยะอย่างครบวงจร ประหยัดเงินขององค์กรในการจัดเก็บขยะ และยังสามารถทำเรื่องการรีไซเคิลร่วมกัน ซึ่งน่าจะให้ซาเล้งเข้ามาร่วมมือเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ควบคู่ไปกับการทำกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
ในการขับเคลื่อน Circular Economy นอกจากการทำงานเชิงนโยบาย สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนและ ภาคเอกชนก็มีบทบาทในการส่งเสริมมากทีเดียว ในตอนที่ 3 มาดูมุมมองจากภาคเอกชนว่าจะขับเคลื่อน EPR และ Circular Economy ได้อย่างไร