Share this :

ของใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราใช้จนพัง เยิน ใช้ต่อไม่ได้ วิธีการจัดการที่เราส่วนใหญ่ทำกันคือทิ้งไปเป็นขยะหรือไม่ก็บริจาค แต่ลองนึกภาพดูว่าถ้าของใช้ต่างๆ ของเราได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น เมื่อพังก็ซ่อมได้ หรือจะหมุนเวียนไปเป็นวัตถุดิบใหม่ในการผลิตได้ก็คงจะดีมาก

และนี่คือสิ่งที่วงการออกแบบจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ด้วยการสร้างการออกแบบที่ทำให้เกิดการหมุนเวียน หรือ circular design เพราะการจัดการที่ต้นทางคือการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความสมบูรณ์มากขึ้นไม่แพ้การจัดการกับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ปลายทาง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ได้แก่

  • อ.มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์
  • ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (Qualy) บริษัท นิว อาไรวา จำกัด
  • คุณเจนจบ สุขสด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม
  • ผู้ดำเนินรายการ: ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และ Conservation Director of ReReef

เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่จากการขับเคลื่อนแค่จากภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการสร้างนักออกแบบให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และผลิต ออกแบบสินค้าและบริการที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

แนวโน้มโลกด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืนและแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย โดย อ.มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์

 

บรรจุภัณฑ์พลาสติก VS. ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียว

บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างจากผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียว เพราะบรรจุภัณฑ์พลาสติกคือบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้

  1. สามารถปิดสนิทเพื่อยืดอายุการเก็บ ให้ความสะดวกในการใช้งาน
  2. มีฉลากครบถ้วนตามกฎหมาย
  3. สามารถปกป้องสินค้าไม่ให้เสียหายเมื่อลำเลียงขนส่งในระยะทางไกล

แนวโน้มของทั่วโลกด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืน

ในตอนนี้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น จากจำนวนประชากรที่มากขึ้น E-Commerce พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ปลอดภัย และการแพร่ระบาดของ Covid-19 จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์พลาสติกคือมีน้ำหนักเบา ลดค่าขนส่ง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยยืดอายุของสินค้า

อุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมอาหาร ใช้บรรจุภัณฑ์ 69% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกถึง 80%, พลาสติกยืด (ถุงพลาสติก) 55% และ พลาสติกคงรูป (กล่อง ถ้วย ขวดพลาสติก) 25%

แม้จะมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมาก แต่ข่าวดีก็คือตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยก็มีแนวโน้มโตขึ้นในอนาคตด้วย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในปีพ.ศ. 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,100-2,400 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 23% เทียบกับปีพ.ศ. 2563 และในปีพ.ศ. 2568 จะเติบโตถึง 13,000-16,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาด 10% ของมูลค่ารวมบรรจุภัณฑ์

นักออกแบบสามารถใช้แนวคิด 4R คือ Reduce, Reuse, Renewable (Bioplastic), Recycleออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้หมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น โดยที่พลาสติกยังมีคุณสมบัติในการเก็บรักษาสินค้า และมีน้ำหนักเบาได้

  • Reduce เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือลดขนาดและความหนาของบรรจุภัณฑ์ เช่น การใช้เทคโนโลยี Injection Compression ที่ทำให้น้ำหนักของบรรจุภัณฑ์เบาลงได้ถึง 20% โดยที่ยังมีความแข็งแรงเท่าเดิม วิธีนี้ช่วยลดค่าขนส่งและการใช้พลังงานด้วย
  • Reuse ใช้ซ้ำ เช่น ขวดเครื่องดื่ม Coca-Cola ของบราซิลมีการออกแบบขวดเครื่องดื่มพลาสติกให้มีการหมุนเวียนได้ถึง 25 ครั้ง โดยมีระบบการให้ตัวเลข (Serialization) เพื่อควบคุมการใช้ซ้ำ หรือจะเป็นการนำลัง ตะกร้าพลาสติก ที่ใช้หมุนเวียนระหว่างโรงงานผลิตและร้านค้ามาใช้ซ้ำอีกครั้ง
  • Renewable (Bioplastic) ใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านมาตรฐานสากล ซึ่งในประเทศไทยใช้มาตรฐานมอก. 17088 เป็นมาตรฐานรับรองที่เชื่อถือได้

อีกประเภทของ Bioplastic คือ พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ แต่สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น ขวด Bio-PE ที่มีอัตราการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า PE กว่า 2.0-2.5 กิโลกรัมต่อการผลิตพลาสติก 1 กิโลกรัม

  • Recycle พลาสติกที่ผลิตออกมาต้องระบุประเภทของพลาสติกเพื่อให้นำมารีไซเคิลได้ และใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลทำบรรจุภัณฑ์สินค้า ยกเว้นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยังมีแค่ในบางประเทศเท่านั้น ในประเทศไทยยังไม่อนุญาตเพราะพลาสติก rPET นั้นผลิตจาก PET ซึ่งมีการใช้งานหลากหลาย ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง หรือวัตถุอันตราย อย่างน้ำยาทำความสะอาด ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ต้องการใช้ rPET ในการบรรจุอาหารจึงต้องยื่นเรื่องและรับการพิจารณาเป็นรายบุคคล

หรือนักออกแบบจะใช้แนวทางอื่นๆ ก็ได้ เช่น การใช้วัสดุประเภท mono-material ได้แก่ โพลีโพรพิลีน (PP) พอลิเอทิลีน (PE) หรือวัสดุผสมกันระหว่าง PP และ PE แทนการใช้ฟิล์มพลาสติกหลายชั้นหรือชั้นพลาสติกผสมอะลูมิเนียมฟอยล์และกระดาษ เพราะวัสดุเหล่านี้แม้จะช่วยปกป้องสินค้า แต่กลับรีไซเคิลไม่ได้ ในประเทศไทยมีตัวอย่างแบรนด์ที่เปลี่ยนมาใช้วัสดุประเภท mono-meterial คือ เนสท์เล่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ซองกาแฟจากพลาสติกหลายชั้นและอะลูมิเนียมฟอยล์ มาใช้พลาสติกประเภท PE อย่างเดียวแทน

 

ปัญหาการแยกขยะในมุมมองผู้บริโภค

ปัญหาการแยกขยะในมุมมองผู้บริโภคคือ ไม่เข้าใจว่าต้องแยกขยะอย่างไร และไม่มั่นใจในระบบการจัดการขยะเพราะคิดว่าแยกไปแล้วหน่วยงานที่จัดการขยะจะนำทุกประเภทไปรวมกัน หากมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ มีฉลากที่ชัดเจนและช่วยให้เข้าใจวิธีการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ (เช่น On-Pack Recycling Label (OPRL) ของประเทศอังกฤษ Australasian Recycling Label (ARL) ของประเทศออสเตรเลีย) และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะอยากให้ความร่วมมือในการแยกขยะมากขึ้น

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ได้ด้วยการ

  • ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ยั่งยืน ด้วยหลัก Holistic Design คือ การปกป้องสินค้า การขนส่งสินค้า การใช้งาน และความยั่งยืน
  • ใช้หลัก 4R โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อนคือการลดน้ำหนักและความหนาของบรรจุภัณฑ์ ใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ จากนั้นจึงค่อยขยับไปใช้แนวทาง mono-material upcycling และการหมุนเวียน
  • ร่วมมือกันทำงานกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์และผู้ผลิตสินค้า ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) นอกจากนี้ผู้ผลิตวัตถุดิบควรร่วมมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในการหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้หมุนเวียนได้ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ และร่วมมือพัฒนากับผู้ผลิตสินค้า ผู้บริโภค รวมถึงผู้รีไซเคิลด้วย

สื่อสารความรู้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคทราบ เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกน้อยมาก

 

เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ แนวโน้มโลกด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืนและแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย โดย อ.มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ ในงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FuMmoMWXdeA  (นาทีที่ 18.40)

สไลด์ประกอบการบรรยาย โดย อ.มยุรี ภาคลำเจียก https://drive.google.com/file/d/14xcnbU9uFyrqx-9q0kmU9YlZhpC4TMq4/view

 

ภาพประกอบ นวพรรณ อัศวสันตกุล และ ณภัทร ตันติรังสี

Share this :