Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัยและมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรฐานด้านการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานรับรองสินค้าและบริการ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ บทความ Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (2): Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับปัจจัยและมาตรฐานเหล่านี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน”
ในงานเสวนา ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน บรรยายเรื่อง Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นเพียงแค่การหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรเท่านั้น หากต้องทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย และมีมาตรฐานที่เอื้อให้เกิดการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจริงในองค์กร และรับรองสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
8 ปัจจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน
-
- Policy & Strategy: มีนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินการ สำหรับประเทศไทยนั้นมีนโยบาย BCG เป็นวาระแห่งชาติที่มีการประกาศออกมาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2564 และปัจจุบันกำลังพิจารณากลยุทธ์ในการดำเนินการ
- R&D & Innovation: การทำ R&D (research and development) และนวัตกรรม เพื่อทำให้การหมุนเวียนทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด
- Data Platform: การมีแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- Design & Product Development: การออกแบบให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรและการลดของเสีย โดยออกแบบให้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใช้ได้นานขึ้น หรือสามารถหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้
- Management & Marketing: การจัดการกระบวนการผลิต กระบวนการให้บริการ และการตลาดที่จะส่งเสริมการบริโภค
- Standard & Labelling: มีมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน มีฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อได้
- Awareness Behavior Lifestyle & Education: การให้ความรู้ ความตระหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หมุนเวียน และรู้วิธีจัดการบรรจุภัณฑ์
- Legal & Regulation Framework: มีการออกระเบียบ กฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้
มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในตอนนี้มีมาตรฐานในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวกับการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร และมาตรฐานรับรองสินค้าและบริการ มีมาตรฐานที่น่าสนใจคือ
-
มาตรฐานในประเทศ
- มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช. 2-2562)
เป็นแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในองค์กร เป็นมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ ไม่สามารถขอการรับรองได้ แต่สามารถขอรับการทวนสอบ (verify) ได้ เพื่อแสดงความสอดคล้องของการนำมาตรฐานไปปฏิบัติ
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์
โดยมาตรฐานนี้ให้ความรู้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร องค์กรจะนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างไร รวมทั้งหลักการต่างๆ เช่น System Thinking, Innovation เช่น Eco-design การออกแบบโดยคิดตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์, การรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุมากขึ้น ผู้บริโภคจัดการได้ง่าย ใช้ซ้ำได้ ส่งคืนและนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต การสร้างร่วมมือระหว่างองค์กร/ภาคีต่างๆ รวมทั้งกรอบการดำเนินการและข้อแนะนำในการดำเนินการ
- มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.2 เล่ม 2-2564) ระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร เล่ม 2 ข้อกำหนด
เป็นระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในองค์กร ซึ่งองค์กรจะทำเองหรือให้องค์กรอื่นมาตรวจสอบได้ องค์กรที่มีระบบการจัดการจะได้รับฉลาก โดยพิจารณาประเด็นการได้มาซึ่งทรัพยากร การใช้ทรัพยากร และการจัดการของเสียของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ที่องค์กรทำได้ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
- มาตรฐานเฉพาะทาง
เป็นฉลากที่รับรองสินค้าและบริการ เช่น
- Recycled Textile Mark ออกโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ฉลากกับสินค้ากลุ่มสิ่งทอ
- ฉลากเขียว ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยมีการสนับสนุนสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นต้น และมาตรฐานครอบคลุมถึงเรื่องคุณภาพด้วย
- ฉลาก CE จากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สภาอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก ในขณะนี้แต่ละสถาบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถพัฒนาและออกฉลาก CE ให้กับผลิตภัณฑ์เฉพาะทางได้อย่างไรบ้าง
มาตรฐานต่างประเทศ
- ISO
-
- ISO/WD 59004: กรอบการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้
- ISO/WD 59010: ข้อแนะนำในการทำธุรกิจ (business model) และการดำเนินในห่วงโซ่คุณค่า (value chain)
- ISO/WD 59020: กรอบในการระบุจำนวนการหมุนเวียนของวัสดุหมุนเวียนแต่ละประเภท และการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการหมุนเวียน
- ISO/CD (Technical report) 59031: เอกสารแนะนำกรณีศึกษาการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้กับธุรกิจหมุนเวียนในประเทศต่างๆ
- Textile Exchange ไม่ได้มีเพียงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ แต่มีมาตรฐานเกี่ยวข้องกับพลาสติกด้วย ได้แก่
- Global Recycled Standard 4.0 (GRS) เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล มีการผลิตที่มีความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นมาตรฐานที่เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างดีในประเทศไทย
- Recycling Claim Standard 2.0 (RCS) เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล มีการผลิตที่มีความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- Content Claim Standard 2.0 (CCS)
- European Certification for Plastics Recycling (EuCerplast) เป็นมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก หรือ PCR เพราะเป็นมาตรฐานที่ช่วยตรวจสอบว่าพลาสติกรีไซเคิลนั้นมีการรีไซเคิลจริงหรือไม่
เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ในงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FuMmoMWXdeA (นาทีที่ 57.00)
สไลด์ประกอบการบรรยาย โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ https://drive.google.com/file/d/19QX9AoceOxFHMM30asQS0YxrT2Su7Nox/view
ภาพประกอบ ณภัทร ตันติรังสี และ ลฎาภา อินทรมหา