Share this :

หลังจากที่แกนแอปเปิล เปลือกไข่ และเศษเปลือกผลไม้เข้าพักไปเป็นเดือนๆ ก็เช็คเอาท์ออกไปด้วยชีวิตใหม่ กลายเป็นสารปรับปรุงดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ โครงการแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นนอกเมืองในที่ที่มีพื้นที่ธรรมชาติเหลือเฟือแต่ไม่น่าเชื่อว่ามหานครอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็เต็มไปด้วยที่ทำปุ๋ยหมักแบบนี้

โรงแรมไส้เดือนเป็นทุกอย่างที่การทำปุ๋ยหมักในเมืองควรจะเป็น

ใช้งานง่าย เข้าถึงสะดวก กะทัดรัด และสามารถปรับให้เหมาะสมตามสภาพของแต่ละชุมชน

เชื่อมโยงความเป็นธรรมชาติเข้ามาสู่ชุมชนเมือง แถมยังเป็นจุดกระจายความรู้และจุดสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ดี

ตัวอย่างสภาพแวดล้อมภายในและโครงสร้างภายนอกของโรงแรมไส้เดือน ภาพจาก DUTCHREVIEW

 

โรงแรมไส้เดือนทำให้เห็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำตามวัฒนธรรมเดิมๆ อย่างการใช้แล้วทิ้งและพิสูจน์ให้เห็นว่าขยะเศษอาหารจากแต่ละครัวเรือนสามารถกลายมาเป็นวัตถุดิบที่มีค่าในการทำสวนได้สบายๆ ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่กำลังมาแรงในประเทศเนเธอร์แลนด์ ณ ตอนนี้

โรงแรมไส้เดือนคืออะไร

โรงแรมไส้เดือน คือ ที่ทำปุ๋ยหมักที่มีความสูงถึง 2 เมตร

เป็นบ้านของไส้เดือนพันธุ์ Tiger worm, earthworms, และ red dung worms 

และสามารถรองรับเศษอาหารได้ 1,500 ครัวเรือน (นี่แค่ในอัมสเตอร์ดัมนะ!)

โรงแรมไส้เดือนสามารถผลิตสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยได้ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม และเอาไปใส่ในสวนบ้านใครก็ได้ตามใจชอบ

คนในชุมชนจะจัดการและดูแลโรงแรมนี้ด้วยกัน ช่วยกันบำรุงรักษา จากนั้นก็แบ่งปุ๋ยที่ได้ออกไปใช้ เป็นโอกาสเล็กๆ ที่คนในพื้นที่จะได้พบปะพูดคุยและได้ทำอะไรดีๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

DutchReview ได้พูดคุยกับ Arie Machwerks Van Ziel, สถาปนิกและผู้ทำปุ๋ยหมักจาก Wormenhotels

เขาอธิบายว่า โรงแรมไส้เดือนแต่ละแห่งไม่ได้ออกแบบทีเดียวแล้วเอาไปติดตั้งทุกที่เหมือนๆ กันหมด แต่มีลักษณะต่างกันไป ทั้งรูปร่างและขนาด สิ่งที่มีเหมือนกันก็คือ ทั้งหมดนี้อยู่ในการดูแลของเทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม โรงแรมไส้เดือนมีโครงสร้างทรงระฆังคว่ำหน้าตาคล้ายรังผึ้งขนาดใหญ่ ทำจากวัสดุที่ทนทานอย่าง ecoboard ซึ่งออกแบบให้ดูสะดุดตา ดึงดูดให้เราเริ่มบทสนทนากับเพื่อนบ้าน หรือคนที่เดินผ่านไปมา

 

โรงแรมไส้เดือน พนักงาน (ไส้เดือน) แขก (เศษอาหาร) และคนในชุมชน ภาพจาก Wormenhotels

 

จริงอยู่ที่กองปุ๋ยหมักแบบปิดนี้จะมีรูปลักษณ์ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจแต่ก็อย่าลืมว่าถังพลาสติกเก่าๆ ก็สามารถใช้จัดการกับขยะอินทรีย์ได้เหมือนกัน จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องใส่ใจก็คือ การดูแลให้ไส้เดือนไม่หลุดออกมาและป้องกันแมลงหรือศัตรูพืชให้หาทางเข้าไปไม่ได้ บวกกับการหาจุดสมดุลของความชื้น มีอากาศที่ถ่ายเทและมีสารคาร์บอนต่างๆ ในปริมาณที่พอดี รักษาความมืดและอุณหภูมิที่เหมาะสมไว้ได้ (5-25 องศาเซลเซียส) ผลลัพธ์ที่จะได้จากการใส่ใจองค์ประกอบต่างๆ นี้อย่างละเอียด คือ ปุ๋ยหมักของคุณจะไม่ส่งกลิ่นเหม็นและไม่มีสัตว์มารบกวนเลย

 

พวกเขาเริ่มโครงการนี้ในเมืองหลวงได้อย่างไร

น่าเสียดายที่การแยกขยะอินทรีย์ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานทั่วไปในจัดเก็บขยะในเนเธอร์แลนด์

จึงมีขยะอินทรีย์มากมายที่ถูกทิ้งเป็นอยู่ทุกวัน

จุดเริ่มต้นของโรงแรมไส้เดือนมาจากสมาชิกในชุมชนและหน่วยงานรัฐที่พยายามจะชูปัญหานี้ขึ้นมา

โรงแรมไส้เดือนกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและหลังจากนั้นพัฒนาเป็นโครงการระดับชุมชนเมืองของเทศบาล

ภาพจากหนังสือชื่อ Community-Scale Composting Systems ใน  Google Books

 

Van Ziel กล่าวว่าโครงการนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือในอเมริกา Community-Scale Composting Systems (กระบวนการการทำปุ๋ยหมักระดับชุมชน) หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างวงจรของอาหารที่ครบทั้งวงจร (ทุกอย่างกลับไปเป็นอาหาร ไม่มีอะไรเหลือทิ้ง) และกล่าวถึงชุมชนกว่า 250 แห่งที่ทำโครงการจัดการขยะอินทรีย์ทั่วอเมริกา เมื่อได้เห็นตัวอย่างที่ทำได้จริง Van Ziel จึงวาดฝันไว้ว่าจะเห็นเศษอาหารของชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมทั้งหมดกลายไปเป็นดินได้ภายใน 10 ปีนี้ ไม่ใช่ด้วยการสร้างโรงแรมไส้เดือนอย่างเดียว แต่ด้วยความพยายามและความร่วมมือกันของคนทั้งเมือง

ต่อไประบบจัดการขยะอินทรีย์ในอนาคตจะมีถังเก็บขยะขนาดใหญ่ใต้ดิน คล้ายๆ กับถังรีไซเคิลและถังทั่วไปที่มีอยู่ตอนนี้ และการเก็บขนก็จะง่ายดายเพราะมีไส้เดือนช่วยย่อยเศษอาหารไปส่วนหนึ่งแล้วทำให้ไม่ต้องการรถขยะหลายคันมาขนไปจัดการต่อ

 

เมื่อมีโครงสร้างพร้อมประชาชนก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น

ในเดือนมีนาคม 2564 มีโรงแรมไส้เดือนกระจายอยู่ทั่วอัมสเตอร์ดัมประมาณ 200 จุด คนให้ความสนใจล้นหลามและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเทศบาลเมืองมีปัญหาในการตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนที่จะใช้โรงแรมไส้เดือนอีก 300 กว่าจุดที่กำลังรอการดำเนินการสร้างอยู่ แต่โชคดีที่โรงแรมไส้เดือน 1 แห่งสามารถรองรับการใช้งานจาก 30 ครัวเรือนได้สบายๆ เพราะฉะนั้นคุณแค่ต้องหาจุดที่อยู่ใกล้บ้านคุณที่สุด

แผนที่จุดตั้งโรงแรมไส้เดือนในเมืองอัมสเตอร์ดัม ภาพจาก City of Amsterdam Interactive Map

นอกจากนี้ความต้องการในเมืองอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ที่อัมสเตอร์ดัมและร็อตเตอร์ดัม แต่อีก 11 เมือง อย่างกรุงเฮก , ไอนด์โฮเฟ่น (Eindhoven) และฮาร์เลม (Haarlem) ก็เริ่มลงทุนกับการสร้างโรงแรมไส้เดือนแบบนี้ขึ้นมา 

 

โรงแรมไส้เดือนทำงานอย่างไร

คนในพื้นที่แวะมาทิ้งขยะอินทรีย์ที่โรงแรมไส้เดือน จากนั้นพนักงานไส้เดือนกว่า 100 ชีวิตก็จะกินและอึ เปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็น vermicompost หรือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ทิ้งไว้อย่างน้อย 6 เดือนก็สามารถเก็บปุ๋ยได้ หลังจากนั้นปุ๋ยก็พร้อมที่จะนำไปผสมกับดิน นำใส่ไปในสวนของคุณได้เลย

 

เทศบาลสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าใส่อะไรลงไปในโรงแรมไส้เดือนได้บ้าง

 

หน้าต่างของโรงแรมไส้เดือนและเศษอาหารหลังครัวที่เป็นตัวอย่างสิ่งที่ใส่ได้ในโรงแรมนี้  ภาพจาก Compostier และ Wormenhotels

 

สิ่งที่ใส่ได้

  • เศษอาหารหลังครัวที่ยังไม่ถูกปรุงสุกเช่น เปลือกผักและผลไม้ต่างๆ (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
  • ถุงชา (ที่ไม่ใช่พลาสติก)
  • กากกาแฟ
  • เปลือกไข่

 

สิ่งที่ใส่ไม่ได้

  • เนื้อสัตว์
  • เส้นพาสต้า
  • ขนมปัง
  • น้ำมัน หรือ ซอสต่างๆ
  • เศษอาหารปรุงสุก
  • อึหมาแมวและสัตว์เลี้ยงต่างๆ
  • เศษขยะจากสวน
  • เศษดอกไม้ (แต่ถ้าเป็นดอกไม้จากสวนของคุณเองก็ให้ใส่ลงไปได้)

 

วิธีทำปุ๋ยคือ เทสิ่งที่ใส่ได้ลงไปรวมกับไส้เดือน บวกกับเบดดิ้ง (ฟาง เศษหนังสือพิมพ์ ขี้เลื่อย มูลวัว หรือ ใบไม้แห้ง) และสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว (ตัวปุ๋ยเองที่มี micro-organisms อย่างราและแบคทีเรียต่างๆ ปนๆ กันอยู่) ด้วยส่วนประกอบทั้งหมดนี้ มันก็สร้างคาร์บอนขึ้นมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นความรู้ที่ลึกมาก จริงๆ แล้วถ้าพูดให้ง่ายๆ ก็คือ แค่สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับไส้เดือนแล้วพวกมันก็จะทำงานไปได้ด้วยตัวเอง

 

ประโยชน์ที่ได้คืออะไร

ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นง่ายและเห็นชัดมาก นั่นก็คือ ช่วยลดขยะ และช่วยปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดี

ส่วนประโยชน์ในด้านสังคมก็เห็นผลในวงกว้างไม่แพ้กัน 

งานวิจัยบอกว่าประสิทธิภาพของโรงแรมไส้เดือนคือ

  • โรงแรมไส้เดือนสามารถดึงดูดความสนใจของคนให้เข้าถึงเรื่องการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและเส้นทางขยะที่งครบวงจรผู้ที่มีส่วนรวมกับโครงการนี้รู้สึกถึงการร่วมมือช่วยเหลือกันมากขึ้นภายในชุมชน
  • โครงการนี้ช่วยทำให้การว่าจ้างงานในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างงานกับกลุ่มคนในตลาดแรงงานที่มักจะเสียเปรียบในสังคมอยู่บ่อยๆ 
  • โรงแรมไส้เดือนทำให้เทศบาลเห็นแนวทางที่จะจัดระบบการแยกขยะเศษอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

และสุดท้ายคือ ผู้คนก็ชอบมันมากๆ

ผู้คนให้ความสนใจกับที่จัดการขยะเศษอาหารใหม่ในชุมชน ภาพจาก DUTCHREVIEW

อยากมีส่วนร่วมต้องทำอย่างไร

ถ้าคุณอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์แล้วสนใจอยากจะใช้บริการโรงแรมไส้เดือน ลองเข้าไปดูแผนที่นี้ Map นอกจากจะเห็นที่ตั้งของโรงแรมไส้เดือนแต่ละที่แล้วยังมีช่องทางติดต่อระบุไว้เผื่อให้คุณอีเมลไปถามรายละเอียดต่อ

 

หรือถ้ารู้สึกว่าอยากลงมือลงแรงสร้างโรงแรมไส้เดือนขึ้นมาด้วยตัวเองเลย Le Compostier (รายละเอียดในบล็อกเป็นภาษาดัชต์) ก็มีพิมพ์เขียวแนะนำวิธีประกอบ DIY Kit ให้เอาไปใช้สร้างที่บ้านตัวเองได้ และถ้าใครคิดว่าโรงแรมไส้เดือนมันล้ำไป หรือไม่เหมาะกับบ้านตัวเอง บล็อกนี้เขาก็มีแนะขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนในถังพลาสติกที่ใช้แล้วด้วย (ภาษาอังกฤษ) ตามไปอ่านกันได้

 

การเลี้ยงไส้เดือนในถังพลาสติกที่ใช้แล้ว ภาพจาก Compostier

 

เคล็ดลับข้อหนึ่งจาก Van Ziel สำหรับนักทำปุ๋ยหมักมือสมัครเล่นก็คือ “แค่เริ่มลงมือทำ”

เขากล่าวว่า “คนชอบกลัวว่ามันจะไปไม่รอด แต่บางครั้งธรรมชาติก็สามารถจัดการและดูแลคุณได้อย่างน่าพิศวงนะ แค่คุณเริ่มแยกขยะอินทรีย์ของคุณไว้ด้วยกัน มันก็จะเริ่มย่อยสลายด้วยตัวมันเองแล้ว มันเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลา เพราะฉะนั้นระหว่างทางที่ทำคุณก็ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนไปได้”

เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาถ้าใครยังไม่มีการทำปุ๋ยหมักเพื่อย่อยเศษอาหารที่บ้าน เริ่มตอนนี้ได้เลย!

ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำปุ๋ยหมักด้วยไส้เดือนดีไหม ลองอ่านวิธีการทำปุ๋ยหมักในกล่องกระดาษลังที่ได้มาจากการสั่งของออนไลน์ก่อนได้ ทดลองทำโดยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Wasteเองเลย ลองเริ่มใช้ของที่มีรอบตัวอย่างนี้ก่อนแล้วค่อยขยับปรับเปลี่ยนตามที่เราถนัด

แต่ก่อนจะจากกัน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในไทยเรา หรือในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพ จะมีโอกาสได้เห็นรัฐริเริ่มโครงการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางแบบนี้ทันช่วงชีวิตเรารึเปล่านะ…

 

แปลจาก DUTCHREVIEW – Worm hotels in the Netherlands: an eco-friendly approach to community building 

เขียนโดย BRIN ANDREWS

ภาพจาก DUTCHREVIEW, Compostier, City of Amsterdam Interactive Map, Wormenhotels

เรียบเรียงโดย ปวิตรา ชำนาญโรจน์

Share this :