หลอดดูดน้ำ นวัตกรรมของคนเมือง เครื่องประดับแก้วกาแฟที่มีมากกว่าใช้ดูดน้ำ สามารถบ่งบอกสถานะในสังคม โชว์ไลฟ์สไตล์ความเป็นคุณ หลอดดูดน้ำสีน้ำตาลให้ความรู้สึกคลาสสิคเหมาะกับเครื่องดื่มตามร้านกาแฟดัง ดูดีมีระดับ ส่วนหลอดน้ำสีพลาสเทลมาใน look สดใสเหมาะกับเครื่องดื่มฟาสฟู้ด รวดเร็วว่องไว หรือจะเป็นหลอดดูดน้ำโปร่งใสพาดเส้นสีแดง สีเขียว สีฟ้า มาแนวลูกทุ่ง บ้านเราคนกันเอง สไตล์เรียบๆ ร้านขายป้าแดง-ลุดำก็มีให้ใช้
คุณคิดว่าหลอดดูดน้ำพลาสติกดีขนาดนั้นเลยเหรอ? เราเคยตั้งคำถามบ้างไหมเวลาหยิบหลอด ว่าเราหยิบมาทำไมกัน?
- หลอดดูดน้ำ ขยะชิ้นเล็กๆ แต่ร้ายไม่ใช่เล่น
ไปทะเลก็ต้องดื่มน้ำมะพร้าวปักหลอดดูดน้ำประดับด้วยดอกกล้วยไม้ สวรรค์สุดสัปดาห์ของมนุษย์ที่หยุดงานมาเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่หลังจากหมดวันหยุด เรากลับสร้างนรกให้กับสัตว์น้ำน้อยใหญ่ทั้งในทะเลและชายหาด เพราะหลอดดูดน้ำเราใช้ถูกทิ้งหรือทำหล่นไว้ตามหาดทราย บ้างก็จมไปพร้อมกับทราย บ้างก็ลอยคว้างอยู่กลางทะเล ไม่มีใครสนใจเก็บขยะชิ้นเล็กๆ ที่เป็นหนึ่งในขยะที่คราชีวิตสัตว์ทะเลมากกว่าปีละ 1 แสนตัว โดยมีค่าเฉลี่ยที่น่าตกใจว่าเราใช้หลอดดูดน้ำพลาสติกตกวันละ 1.5 หลอด ซึ่งหมายความว่า แค่ประเทศไทยประเทศเดียวมีแนวโน้มว่าจะสร้างขยะชนิดนี้มากถึง 100 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 35,000 ล้านชิ้นต่อปี นี่ไม่ใช่ขยะชิ้นเล็กๆ อย่างที่เราคิดแล้วหล่ะ!
- กระดาษหุ้มหลอด หุ้มโลกด้วยขยะ
ถึงแม้ว่าหลอดดูดน้ำที่มีบรรจุภัณฑ์จะทำให้ดูน่าใช้ แต่หารู้ไม่ว่า เรากำลังสร้างขยะเพิ่มเป็น 2 ชิ้นต่อหนึ่งครั้งเมื่อเราดื่มกาแฟ และยิ่งบรรจุภัณฑ์หลอดดูดน้ำมีน้ำหนักเบา เมื่อฉีกทิ้งไม่ลงถังขยะ ขยะเหล่านี้จะปลิวไปตกตามซอกมุมต่างๆ ของถนน หรือตกไปในท่อน้ำ พอไปรวมกับขยะชิ้นอื่นๆ ก็เข้าไปอุดตันทางระบายน้ำ สุดท้ายก็จบที่เราต้องเดินลุยน้ำขังออกจากบ้านทุกทีที่ฝนตก รองเท้าพังไปแล้วกี่คู่ เท้าเปื่อยไปแล้วกี่หน จากปัญหาขยะชิ้นเล็กๆ ที่เราสร้างเอง จะโทษใครได้
ภาพ: ReReef
- สุดท้ายหลอดดูดน้ำก็เป็นขยะที่ไม่ได้อยู่ในถัง แต่อยู่ในรูจมูกของเต่าทะเล
หลายคนอาจเคยเห็นรูปน้องเต่ากำลังถูกช่วยเหลือโดยการใช้คีม (หรือที่คีบ) ดึงหลอดออกจากจมูก (Chula zero waste ก็ใช้รูปน้องเต่าตัวนี้ในการรณรงค์ลดใช้หลอดเหมือนกัน) ภาพนี้เป็นภาพจากเพจสำรวจโลก โดยอธิบายที่มาว่า นักวิจัยทางทะเลในคอสตาริกา กำลังช่วยน้องเต่าหญ้าแปซิฟิกเพศผู้ที่กำลังทรมานกับสิ่งประหลาดที่อยู่ในรูจมูก ซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นปรสิต แต่ที่ไหนได้กลับเป็นหลอดดูดน้ำพลาสติกขนาดความยาว 12 ซม. ที่ออกมาพร้อมกับเลือดและความทรมานที่น้องเต่าแสดงให้เห็นตลอดการดึงหลอดออกจากกจมูก เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้ขยะที่เราทิ้งลงถัง ใครจะรู้ วันดีคืนดีอาจมีน้องเต่าสูดหลอดดูดน้ำของเราเข้าจมุกก็ได้ และไม่ใช่น้องเต่าทุกตัวจะโชคดีได้รับความช่วยเหลือเหมือนน้องเต่าตัวนี้เสมอไป
- คิดให้ดีก่อนหยิบหลอด จำเป็นแค่ไหนถึงใช้หลอด?
สำหรับคนชอบดูด ติดหลอด แนะนำให้มีหลอดเป็นของตัวเอง ที่แข็งแรง ทนทาน สามารถล้างทำความสะอาดและใช้ซ้ำได้ มีหลอดเป็นของตัวเองอุ่นใจ ปลอดภัยจากโรคร้าย ช่วยลดโลกร้อน ไม่ want สร้างขยะ
ส่วนใครสายฮาร์ดคอร์ เน้นกระดก ก็พกกระบอกน้ำส่วนตัว ไม่ต้องพกหลอดให้เกะกะ ไม่ต้องกลัวหลอดหาย ไม่ต้องทำความสะอาด ไม่ต้องใช้หลอดใหม่ ไม่ต้องสร้างขยะ
มาร่วมกันทำสิ่งเล็กๆ เพื่อสร้างปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่
“จุฬาฯ ลดใช้หลอดพลาสติก” together we can มั่นใจเราทำได้!
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Health kapook ReReef
และ ข่าวสด / สำรวจโลก
หลอดซิลิโคน สามารถทำความสะอาดใช้ซ้ำได้ พกพาสะดวก
จากเพจ ReReef ทางเลือกใหม่ของคนติดหลอด