“โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบมาโรงเรียน” ใครยังจำเพลงคุ้นหูในวัยเด็กเพลงนี้ได้บ้าง
โรงเรียนที่สะอาดเรียบร้อย มีการจัดการขยะอย่างดีน่าจะเป็นโรงเรียนในฝันของหลายๆ คน แต่การจัดการขยะในโรงเรียนดูท้าทายกว่าที่บ้านหรือที่ทำงานหลายเท่า การตามหาโรงเรียนปลอดขยะในฝันยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่เมื่อไม่นานมานี้ทีมงาน Chula Zero Waste มีโอกาสได้พบกับโรงเรียนแห่งนั้นคือโรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย ที่น่าตื่นเต้นคือระดับความปลอดขยะของโรงเรียนนี้ติดระดับประเทศ การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ โรงเรียนปลอดขยะ ปี 2562 โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยิ่งเมื่อได้ทราบว่าทั้งโรงเรียนมีนักเรียน 500 กว่าคน และครู 20 คน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าโรงเรียนนี้ทำได้อย่างไร
มากกว่ารางวัล คืออยากให้เด็กเป็นคนเก่งและคนดี
โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล–มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เส้นทางการเป็นโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีก่อนในปี 2553 กับการทำโครงการธนาคารขยะ ก่อนพัฒนาเป็นโรงเรียนปลอดขยะอย่างเต็มรูปแบบในปี 2556-2558 และยกระดับเป็นโรงเรียนส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน
หลายๆ ที่ที่เริ่มต้นจัดการขยะอาจจะมีจุดเริ่มต้นจากการมีปัญหาขยะในพื้นที่ สำหรับโรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยจุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจของครูที่อยากปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักความสะอาดและให้โรงเรียนสะอาด ด้วยความหวังว่าเมื่อมีความรักสะอาดและรักสิ่งแวดล้อม เด็กๆ จะเติบโตไปเป็นคนที่แผ่ขยายสิ่งเหล่านี้สู่สังคมรอบตัว เพื่อให้ความตั้งใจนี้เกิดขึ้นจริง โรงเรียนจึงให้ความสำคัญกับการทำงานกับครูเป็นอันดับแรก ให้ครูระลึกถึงหน้าที่และจิตวิญญาณความเป็นครู
“เราต้องความเข้าใจกับครูว่า เราทำหน้าที่ดูแลเด็ก เราก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าเราอยากให้เด็กของเราเป็นอย่างไร อย่างเรื่องการจัดการขยะทำให้เขามีวินัยด้วยการจัดการขยะ เรื่องอื่นๆ ก็ตามมาด้วย คำว่าวินัยจะเป็นตัวที่เริ่มสร้างสิ่งต่างๆ ให้กับเด็ก ไม่ใช่ว่าบอกเขาว่ามาทำเรื่องขยะ เรื่องการเรียนเขาจะไม่ได้ เพราะถ้าเขามีวินัย เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย และเขาก็จะนำไปใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง”
ผู้อำนวยการวาสนา บุญทน แห่งโรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยกล่าว
นอกจากการสร้างความเข้าใจกับครูแล้ว ผู้บริหารยังสนับสนุนครูในการทำงานอย่างเต็มที่ด้วยการให้กำลังใจ สื่อสารและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานผู้บริหารก็เข้าไปช่วยเหลือ ทำให้ครูทำงานอย่างเต็มใจ มีความสุข และภาคภูมิใจในความเป็นครู ซึ่งสิ่งเหล่านี้สัมผัสอย่างเห็นได้ชัดในแววตา รอยยิ้มและเรื่องเล่าที่มีพลังจากคุณครู เพราะฉะนั้นสำหรับโรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย การเป็นโรงเรียนปลอดขยะไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่รางวัล เพราะรางวัลที่ได้รับไม่สำคัญเท่ากับว่าสิ่งที่ทำนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีกับโรงเรียน สังคมโดยรอบ และความมั่นใจว่าเด็กๆ จะเติบโตเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขอย่างแน่นอน
ไม่ใช่โครงการของใคร แต่เป็นโครงการของทุกคนในโรงเรียน
โครงการใหญ่และยากอย่างการจัดการขยะ ให้ทำคนเดียวก็ไม่ไหว โดยเฉพาะคุณครูที่มีงานยุ่งตั้งแต่เช้าถึงเย็น “ถ้างานไปหนักที่คนใดคนหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาต้องมองว่ามีภาระงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าแบ่งสิ่งที่ต้องทำ มีคุณครูรับผิดชอบเป็นคณะกรรมการ ทุกคนจะมองว่าเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน” การจัดการขยะที่โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยจึงเป็นโครงการของทุกคนในโรงเรียนตั้งแต่ผู้บริหาร คุณครู และนักเรียนทั้งโรงเรียนที่มีตั้งแต่พี่มัธยมจนถึงน้องอนุบาลตัวเล็ก และทุกคนช่วยกันรับผิดชอบร่วมกัน
เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วม ผู้บริหารได้ประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนเพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน รวมทั้งมีแผนงานระยะยาวเพื่อให้โครงการมีความต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผู้บริหาร (ผู้บริหารสถานศึกษาจะเปลี่ยนทุก 3-4 ปี) ซึ่งการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมยังสอดคล้องกับมาตรฐานทางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานที่ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติ คือมาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา และมาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
เห็นเป้าหมายร่วมกันแล้วก็ได้เวลาลงมือทำ โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกๆ คนในโรงเรียนด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ ที่นี่ใช้หลักการ 3R คือการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ เพราะเด็กในโรงเรียนมีหลายวัยหลายระดับชั้น ถ้าใช้หลักการ 5R หรือ 7R ก็ยากเกินไป ทำให้เด็กไม่เข้าใจ 3Rs จึงเป็นหลักการที่เข้าใจง่ายที่สุดและทุกคนในโรงเรียนทำได้ควบคู่ไปกับการใช้หลักการ Zero Waste คือการจัดการขยะให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ในการทำงานมีทีมงานหลักคือคณะครูแกนนำและนักเรียนแกนนำดูแลโครงการในภาพรวม และทุกคนในโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม
การให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะทำได้ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งมีฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งหมด 6 ฐาน คือฐานเรียนรู้การแยกขยะ ฐานหลักการ 3Rs ฐานสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ฐานการจัดการขยะรีไซเคิล ฐานการจัดการขยะอินทรีย์ (ทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกผลไม้) และฐานการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งพี่ๆ มัธยมรับหน้าที่พาน้องๆ เวียนกันมาเข้าฐานวันละ 1 ห้องเป็นเวลา 30 นาทีก่อนเข้าแถวตอนเช้า ทำให้น้องๆทุกคนในโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ รวมถึงนักเรียนที่เข้าใหม่ที่มีทุกปี ส่วนเนื้อหาวิชาเรียนต่างๆ มีการสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น วิชาคณิตศาสตร์มีใบงานให้จดบันทึกน้ำหนักและราคาของขยะที่นำมาขายที่ธนาคารขยะของโรงเรียน วิชาภาษาอังกฤษมีการสอนคำศัพท์ที่เกี่ยวกับขยะและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การจัดการขยะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนในโรงเรียน ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าห้องเรียน เด็กๆ จะพบกับ “มุมหนูน้อยรักสะอาด” ซึ่งเป็นมุมสำหรับแยกขยะ มีทั้งถังขยะขนาดเล็กสำหรับทิ้งขยะทั่วไป กล่องแยกกระดาษสำหรับขายที่ธนาคารขยะทุกวันศุกร์ และขวดสำหรับทำ Ecobrick ส่วนนมกล่องที่ดื่มแล้ว จะล้างและตากให้แห้ง รวบรวมส่งให้โครงการนำไปรีไซเคิล คุณครูประจำชั้นที่อยู่กับเด็กๆ จึงเป็นคนสำคัญที่คอยสอนให้เด็กๆ รู้คุณค่าของสิ่งของและจัดการขยะเป็นตั้งแต่ชั้นอนุบาล ให้เด็กๆ แยกขยะได้ถูกต้อง พาวิเคราะห์ที่มาของขยะ และดูว่าขยะชิ้นไหนน่าจะยังเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้เพื่อให้มีขยะเกิดขึ้นน้อยที่สุด
มุมโปรดของเด็กๆ อย่างร้านสหกรณ์ที่มีขนมและเครื่องดื่มมากมายให้เลือกซื้อ และเป็นสิ่งที่ปราบเซียนในการจัดการขยะของหลายๆ โรงเรียน ร้านสหกรณ์ที่โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยมีการจัดการขยะด้วยการเป็นสหกรณ์ปลอดถุงพลาสติกและโฟม ส่วนขนม แทนที่จะเป็นขนมกรุบกรอบ ห่อในถุงพลาสติก คุณครูเลือกซื้อขนมปิ๊บมาแล้วนำมาจัดลงกล่องที่ล้างใช้ซ้ำได้อีกที มีเด็กๆ เป็นจิตอาสามาช่วยจัดขนม ส่วนขนมที่จัดใส่กล่องไม่ได้อย่างไอศครีม จะจัดจุดแยกขยะหน้าสหกรณ์ไว้ให้ แบ่งเป็น 3 ตะกร้าคือตะกร้าทิ้งไม้ไอศครีม ตะกร้าทิ้งซองไอศครีมที่เลอะมาก และตะกร้าทิ้งซองไอศครีมที่ไม่เลอะ แน่นอนว่าด้วยจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียนที่มี 500 กว่าคน ครูที่มีเพียง 20 คนดูแลเองได้ไม่ทั่วถึง ในระหว่างวันคุณครูจึงให้ “พี่สอนน้อง” ให้พี่ๆ คอยช่วยดูแลน้อง สอนน้องเรื่องการลดและแยกขยะด้วย
เด็กๆ กับปัญหาทานอาหารไม่หมดจานเป็นของคู่กัน คุณครูที่โรงเรียนนี้คิดหาวิธีแก้ปัญหาโดยให้มีการชั่งน้ำหนักขยะอินทรีย์ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นมากที่สุดในโรงเรียน มีทั้งเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ในช่วงหลังการรับประทานอาหารกลางวันเด็กๆ จิตอาสาจะมาชั่งน้ำหนักขยะอินทรีย์ จดบันทึกน้ำหนักตามช่วงชั้น และช่วงเวลาที่เด็กๆ รอคอยคือการประกาศหน้าเสาธงในเช้าวันรุ่งขึ้นว่าช่วงชั้นไหนจะทานเหลือน้อยที่สุด เด็กๆ ช่วงชั้นไหนทานเหลือน้อยก็ดีใจ ช่วงชั้นไหนทานเหลือมากก็ไม่ยอมแพ้ ตั้งใจทานให้หมดมากขึ้น ซึ่งบางวันพี่มัธยมกินเหลือเยอะกว่าน้องอนุบาลอีก และน้องอนุบาลจริงจังกับกิจกรรมนี้ถึงขนาดที่ว่าขอให้แยกการจดบันทึกน้ำหนักละเอียดขึ้นแยกเป็นแต่ละชั้นเลยทีเดียว เพราะการจดรวมกันทุกชั้นทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าชั้นไหนทานเหลือมากกว่ากัน
ส่วนขยะอินทรีย์ก็นำไปทำประโยชน์ต่อ ทั้งแยกข้าว เศษผักไปทำปุ๋ยหมัก เปลือกผลไม้ต่างๆ ที่มีเยอะ น้ำหนักมาก ก็นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ เลี้ยงสัตว์ หรือผสมทำดินอินทรีย์ขายที่ตลาดนัดและแจกจ่ายให้ผู้ที่สนใจ เด็กๆ ยังนำน้ำหมักชีวภาพไปรดผักสวนครัวที่บ้านของตัวเองและกลับมาเล่าให้ครูฟังว่าใช้แล้วผักโตเร็ว ดีใจกันทั้งเด็กและครู
ให้ความสนุกขยายไปถึงบ้านและชุมชน
ในช่วงเปิดเทอมที่มีการประชุมผู้ปกครองผู้อำนวยการจะแจ้งนโยบายการทำโรงเรียนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้ผู้ปกครองรับทราบ และโรงเรียนมีกิจกรรมสนุกๆ ให้เด็กๆ ชักชวนพ่อแม่และชุมชนมาร่วมลดและแยกขยะง่ายๆ ด้วยการให้เด็กๆ สะสมสแตมป์จากการไม่รับถุงพลาสติก เมื่อเด็กๆ ไปซื้อของในชุมชน ห้างสรรพสินค้า จะเก็บสลิปมายืนยันว่าไม่ได้รับถุงพลาสติกมาจริงๆ แล้วสะสมสแตมป์ไว้แลกซื้อของในร้านสหกรณ์ได้ สแตมป์นี้ยังสะสมเป็นคะแนนประจำสี ซึ่งเด็กๆ ทั้งโรงเรียนจะแบ่งออกเป็น 4 สี แล้วช่วยกันสะสมคะแนนจากการจัดการขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงปลายเทอมสีที่มีคะแนนมากที่สุดก็จะได้รางวัลใหญ่ไป การจัดกิจกรรมสนุกๆ และมีการแข่งขันเล็กๆ น้อยๆ ช่วยให้การจัดการขยะเป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่อ และเด็กๆ ได้ทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย นอกจากนี้เด็กๆ ยังชักชวนพ่อแม่พี่น้องที่บ้านให้ช่วยกันแยกขยะและนำขยะมาขายที่ธนาคารขยะของโรงเรียนทุกเช้าวันศุกร์
โรงเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการขยะกับชุมชน มีศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนและสำนักงานเขตเข้ามาให้ความรู้เรื่องการแยกขยะหรือสร้างความร่วมมือกันเรื่องการคัดแยกขยะ เมื่อมีการประชุมชุมชน เด็กๆ ได้เข้าไปเล่าประสบการณ์การจัดการขยะให้ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฟัง และยังมีการจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ให้ความรู้ แจกน้ำหมักชีวภาพให้คนในชุมชน
หากอยากรู้ว่าการปลูกฝังเด็กๆ ให้รักสิ่งแวดล้อมได้ผลดีขนาดไหน ขอเล่าว่าครั้งหนึ่งมีบริษัทเอกชนเข้ามาสอนเรื่องการเขียนโปรแกรม และให้เด็กๆ ลองออกแบบหุ่นยนต์ ปรากฎว่าเด็กๆ อยากทำหุ่นยนต์รักความสะอาด หุ่นยนต์เก็บขยะ และหุ่นยนต์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น นอกจากนี้เมื่อคุณครูพูดคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการขยะ หรือสิ่งใหม่ๆ ที่อยากทำ เด็กๆ จะมีความสุขและคุยกับคุณครูยาว เพียงแค่นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เติบโตขึ้นในจิตใจของเด็กๆ โรงเรียนบ้านลำต้นกล้วยทุกคนจริงๆ
“เราต้องทำเพื่อให้ความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในตัวเด็กจริงๆ ถ้าเกิดวันนี้คุณครูที่เป็นแกนนำไม่อยู่ คุณครูคนอื่นก็ต้องทำต่อได้ ไม่ใช่ว่าคุณครูที่เป็นแกนนำไม่อยู่ ไม่มีใครพูดได้ ครูต้องพูดได้ทุกคน คือคุณครูทุกคน เด็กทุกคนต้องพูดได้”
เมื่อความยั่งยืนและความรักสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นในจิตใจของเด็กๆ นี่คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณครู
สรุปปัจจัยความสำเร็จการจัดการขยะของโรงเรียนบ้านลำต้นกล้วย
- ผู้บริหารและคุณครูในโรงเรียนทุกคนเห็นความสำคัญและช่วยกันปลูกฝังเด็กๆ เรื่องการจัดการขยะ
- ผู้บริหาร คุณครู และนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ขอความร่วมมือง่าย
- ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ด้วยการทำกิจกรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ทำด้วยความสนุกและภูมิใจ
- ใช้หลัก 3Rs และ Zero-Waste คือ ทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคนในโรงเรียนเข้าใจและทำตามได้
- สร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้สามารถจัดการขยะตามหลักการ 3Rs และ Zero-Waste ได้ เช่น มีจุดคัดแยกขยะ กิจกรรมธนาคารขยะ จุดทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
- ทั้งคุณครูและรุ่นพี่ช่วยกันสอนน้องๆ และปลูกฝังให้มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง
- มีการสอน ให้ความรู้ด้วยฐานการเรียนรู้และการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับขยะในวิชาต่างๆ (ทำเป็นใบงานในวิชา)
เรื่องและภาพ: ลฎาภา อินทรมหา