Share this :

Chula zero waste นัดรวมพลัง zero-waste ชวนคนจุฬาฯ ลาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 เป็นต้นไปตามประกาศมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในมหาวิทยาลัย ปลอดโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable งดแจกถุงพลาสติกฟรีทุกร้านค้าทั่วมหาวิทยาลัย ลดขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางเพื่อเป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยในพื้นที่เมือง

 

ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเจตนารมณ์การดำเนินมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ

“จุฬาฯ มีเป้าหมายจะลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562–2564 โดยจะเป็นเขตปลอดโฟม 100% และปลอดถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable ที่แตกตัวเร็ว กลายเป็นไมโครพลาสติก ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วลง 80% ในทุกร้านค้า”

 

ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป (ขวาสุด)

 

ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป จุฬาฯ กล่าวถึงการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน “โดยโครงการ Chula Zero Waste เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน” ตั้งเป้าที่จะเป็นต้นแบบการจัดการขยะมหาวิทยาลัยในพื้นที่เมือง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยลดรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) ”

 



ด้าน ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ได้นำเสนอความสำเร็จของมาตรการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินการมา 2 ปีกว่า (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งช่วยลดปริมาณถุงพลาสติกไปได้ถึง 90% รวมเป็นปริมาณถุงที่ป้องกันไม่ให้เป็นขยะได้กว่า 3 ล้านใบ แต่จุฬาฯ จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น เนื่องจากถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ คิดเป็น 26% ของร้านค้าทั้งหมดในมหาวิทยาลัยและปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 28% ของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ประเภทที่รวมๆ แล้วอาจมีปริมาณการใช้มากกว่า 20 ล้านชิ้นต่อปี ที่ผ่านมา การรณรงค์เชิงสมัครใจไม่ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฯ ดังกล่าวโชว์ผลการทำงาน 2 ปี ลดถุงพลาสติกได้ 90% ในร้านสะดวกซื้อ รวมปริมาณถุงพลาสติกที่ลดได้ไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านใบ นอกจากการเป็นต้นแบบในสถาบันการศึกษาแล้วยังเตรียมจะขยายไปที่พื้นที่เชิงพาณิชย์รอบเขตรั้วจุฬาฯ สิ้นปีนี้อีกด้วย

กิจกรรมประกาศเจนารมณ์ในการลดการใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีตัวแทนจากสาธิตจุฬาฯ เดินลอดผ่านซุ้มถุงผ้าที่สกรีนคำว่า say no to single-use plastic

 

นอกจากนี้ยังมีการเสวนา“ปัญหาขยะพลาสติกกับบทบาทของมหาวิทยาลัย” โดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณ(นุ่น) ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ดารานักแสดงและเจ้าของโครงการ ECOLIFE Application และ น.ส.ณิชา เวชพานิช นิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ประธานชมรม Chula Zero Waste

 

ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการ ถ่ายภาพคู่กับคุณนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ดารานักแสดงและเจ้าของโครงการ ECOLIFE Application

รวมทั้งมีนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะจากโครงการ CHULA zero waste ผลงานออกแบบถังขยะแยกประเภทอัจฉริยะจากนิสิตคณะครุศาสตร์ บูธแสดงผลงานนิสิตชมรม Chula Zero Waste และ torture turtle งานประติมากรรมจากขยะพลาสติกของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่นำขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ มาสร้างสรรค์ผลงานนี้

ถังขยะแยกประเภทอัจฉริยะจากนิสิตคณะครุศาสตร์

งานประติมากรรมจากขยะพลาสติกของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในชื่อผลงาน “torture turtle”

Chula zero waste ขอขอบคุณทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนทุกระดับไม่ว่าจะผู้บริหาร อาจารย์ นิสิต บุคลากร ร้านค้า ทุกท่านที่มีส่วนร่วมทำให้มาตราการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาฯ สามารถดำเนินการมาจนถึงการประกาศเจตนารมย์และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2562 วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมพร้อมรวมพลังเพื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 102 แบบ zero-waste

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งฯ

Share this :