Share this :

Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัยและมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรฐานด้านการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร มาตรฐานรับรองสินค้าและบริการ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ บทความ Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (2): Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับปัจจัยและมาตรฐานเหล่านี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน”

ในงานเสวนา ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน บรรยายเรื่อง Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นเพียงแค่การหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรเท่านั้น หากต้องทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย และมีมาตรฐานที่เอื้อให้เกิดการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจริงในองค์กร และรับรองสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

8 ปัจจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

 

    1. Policy & Strategy: มีนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินการ สำหรับประเทศไทยนั้นมีนโยบาย BCG เป็นวาระแห่งชาติที่มีการประกาศออกมาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2564 และปัจจุบันกำลังพิจารณากลยุทธ์ในการดำเนินการ
    2. R&D & Innovation: การทำ R&D (research and development) และนวัตกรรม เพื่อทำให้การหมุนเวียนทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด
    3. Data Platform: การมีแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
    4. Design & Product Development: การออกแบบให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรและการลดของเสีย โดยออกแบบให้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ใช้ได้นานขึ้น หรือสามารถหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้
    5. Management & Marketing: การจัดการกระบวนการผลิต กระบวนการให้บริการ และการตลาดที่จะส่งเสริมการบริโภค
    6. Standard & Labelling: มีมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียน มีฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อได้
    7. Awareness Behavior Lifestyle & Education: การให้ความรู้ ความตระหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หมุนเวียน และรู้วิธีจัดการบรรจุภัณฑ์
    8. Legal & Regulation Framework: มีการออกระเบียบ กฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้

มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ในตอนนี้มีมาตรฐานในประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวกับการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กร และมาตรฐานรับรองสินค้าและบริการ มีมาตรฐานที่น่าสนใจคือ

  • มาตรฐานในประเทศ
  1. มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช. 2-2562)

เป็นแนวทางการใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในองค์กร เป็นมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ ไม่สามารถขอการรับรองได้ แต่สามารถขอรับการทวนสอบ (verify) ได้ เพื่อแสดงความสอดคล้องของการนำมาตรฐานไปปฏิบัติ

ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์

 

โดยมาตรฐานนี้ให้ความรู้ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไร องค์กรจะนำเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างไร รวมทั้งหลักการต่างๆ เช่น System Thinking, Innovation เช่น Eco-design การออกแบบโดยคิดตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์, การรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุมากขึ้น ผู้บริโภคจัดการได้ง่าย ใช้ซ้ำได้ ส่งคืนและนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต การสร้างร่วมมือระหว่างองค์กร/ภาคีต่างๆ รวมทั้งกรอบการดำเนินการและข้อแนะนำในการดำเนินการ

 

  1. มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.2 เล่ม 2-2564) ระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร เล่ม 2 ข้อกำหนด

เป็นระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในองค์กร ซึ่งองค์กรจะทำเองหรือให้องค์กรอื่นมาตรวจสอบได้ องค์กรที่มีระบบการจัดการจะได้รับฉลาก โดยพิจารณาประเด็นการได้มาซึ่งทรัพยากร การใช้ทรัพยากร และการจัดการของเสียของกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ที่องค์กรทำได้ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

  1. มาตรฐานเฉพาะทาง

เป็นฉลากที่รับรองสินค้าและบริการ เช่น

  1. Recycled Textile Mark ออกโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ฉลากกับสินค้ากลุ่มสิ่งทอ
  2. ฉลากเขียว ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยมีการสนับสนุนสินค้าเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เป็นต้น และมาตรฐานครอบคลุมถึงเรื่องคุณภาพด้วย
  3. ฉลาก CE จากหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สภาอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก ในขณะนี้แต่ละสถาบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถพัฒนาและออกฉลาก CE ให้กับผลิตภัณฑ์เฉพาะทางได้อย่างไรบ้าง

 

มาตรฐานต่างประเทศ
  • ISO
    1. ISO/WD 59004: กรอบการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้
    2. ISO/WD 59010: ข้อแนะนำในการทำธุรกิจ (business model) และการดำเนินในห่วงโซ่คุณค่า (value chain)
    3. ISO/WD 59020: กรอบในการระบุจำนวนการหมุนเวียนของวัสดุหมุนเวียนแต่ละประเภท และการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการหมุนเวียน
    4. ISO/CD (Technical report) 59031: เอกสารแนะนำกรณีศึกษาการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้กับธุรกิจหมุนเวียนในประเทศต่างๆ
  • Textile Exchange ไม่ได้มีเพียงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอ แต่มีมาตรฐานเกี่ยวข้องกับพลาสติกด้วย ได้แก่
    1. Global Recycled Standard 4.0 (GRS) เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล มีการผลิตที่มีความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นมาตรฐานที่เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างดีในประเทศไทย
    2. Recycling Claim Standard 2.0 (RCS) เช่น การใช้วัสดุรีไซเคิล มีการผลิตที่มีความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
    3. Content Claim Standard 2.0 (CCS)
  • European Certification for Plastics Recycling (EuCerplast) เป็นมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก หรือ PCR เพราะเป็นมาตรฐานที่ช่วยตรวจสอบว่าพลาสติกรีไซเคิลนั้นมีการรีไซเคิลจริงหรือไม่

 

เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ Circular Design กับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ในงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FuMmoMWXdeA  (นาทีที่ 57.00)

สไลด์ประกอบการบรรยาย โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ https://drive.google.com/file/d/19QX9AoceOxFHMM30asQS0YxrT2Su7Nox/view

 

ภาพประกอบ ณภัทร ตันติรังสี และ ลฎาภา อินทรมหา

Share this :