The Role of Thai Universities in Fostering Design Students’ Sustainability Mindset บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการสร้างนักออกแบบที่ใส่ใจความยั่งยืน โดย อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ อาจารย์ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สอนวิชาการออกแบบเพื่อความยั่งยืน
ที่มาของภาพ: อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์, 2564
มหาวิทยาลัยคือสถานที่ฝึกฝนวิทยายุทธ์ขั้นสุดท้ายก่อนที่เหล่านักออกแบบจะเรียนจบและออกไปสร้างสรรค์งานในสังคม หากผู้ออกแบบมีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืนจะออกแบบสินค้าหรือบริการอย่างใส่ใจได้ตั้งแต่ต้นและทำให้สินค้า บริการนั้นๆ มีการหมุนเวียน มหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทในการสร้างนักออกแบบที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและคำนึงถึงความยั่งยืน
ในงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน”1 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ อาจารย์ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้บรรยายเรื่อง The Role of Thai Universities in Fostering Design Students’ Sustainability Mindset บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการสร้างนักออกแบบที่ใส่ใจความยั่งยืน ซึ่งเนื้อหาในการบรรยายมาจากผลงานวิจัย Transformative Learning for a Shift Towards Sustainability in Thailand’s Design Education 2 ที่เป็นผลงานวิจัยในระดับปริญญาเอกของอาจารย์ จากผลงานวิจัยดังกล่าว อาจารย์ได้นำมาต่อยอดสู่ประสบการณ์จริงในการเรียนรู้ของนักศึกษา BFA Product Design มหาวิทยาลัยศิลปากร และนิสิต BID Industrial Design จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้เรียน เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงผ่านการลงมือทำ และชวนผู้เรียนคิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น โดยที่อาจารย์ก็มีบทบาทเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ด้วยเช่นกัน
ในการบรรยาย อ.ดร.ตรีชฎากล่าวว่า จากงานวิจัยที่ทำนั้นพบว่าความท้าทายในการเรียนการสอนเรื่องความยั่งยืนในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันคือหลักสูตรเรื่องความยั่งยืนมักจะอยู่ในวิชาการศึกษาทั่วไป (General Education) ของมหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตนักศึกษาด้านการออกแบบอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าวิชาดังกล่าวเชื่อมโยงกับสาขาวิชาหลักที่ตนเองเรียนอยู่ จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชาการศึกษาทั่วไปมากนัก
หากเป็นการเรียนการสอนเรื่องความยั่งยืนในภาควิชา ทั้งที่เป็นวิชาบังคับและวิชาเลือก ก็มีข้อจำกัดคือในวิชาบังคับมีนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก การสอนส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยาย หากเป็นวิชาเลือกจะมีเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ ที่จะเลือกมาเรียน ในขณะเดียวกัน ผู้สอนในรายวิชานั้นอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมากนัก
นอกจากการสอนเรื่องความยั่งยืนผ่านเรียนการสอนในรูปแบบวิชาต่างๆ แล้ว ยังมี “หลักสูตรแฝง” (hidden curriculum) คือสิ่งที่สอดแทรกในการเรียนการสอน แต่ไม่ได้จัดทำเป็นหลักสูตรหรือเอกสาร สามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการสร้างบรรยากาศความยั่งยืนในมหาวิทยาลัย มีอาจารย์หรือบุคลากรที่ทำงานวิจัยด้านความยั่งยืน ถ่ายทอดเรื่องความยั่งยืน ทั้งจากงานวิจัยและประสบการณ์ตรง สู่ผู้เรียนในการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น ชมรม การทำค่ายอาสาก็เป็นสิ่งที่สอนเรื่องความยั่งยืนได้ ซึ่งมีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรแฝงมีบทบาทมากในการขับเคลื่อนความยั่งยืน
หลังจากที่เห็นภาพรวมของการเรียนการสอนเรื่องความยั่งยืนในระดับหลักสูตรแล้ว อ.ดร.ตรีชฎา ได้เจาะลึกเรื่องความยั่งยืนในระดับการเรียนการสอน ซึ่งจากการวิจัย อาจารย์ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวด้วยการสังเกตการณ์ในชั้นเรียน การสัมภาษณ์ การจัดประชุมกลุ่มย่อย เป็นต้น กับนิสิตนักศึกษา 10 กลุ่มในสถาบันการศึกษา 8 สถาบัน พบว่าการเรียนการสอนด้านการออกแบบในประเทศไทยในภาพรวมนั้นยังไม่สามารถนำไปสู่การเรียนการสอนที่สร้างความยั่งยืนได้ อาจารย์จึงเสนอในงานวิจัยว่าในชั้นเรียนควรต้องปรับการเรียนการสอน เพื่อสร้างการเรียนการสอนด้านการออกแบบที่ยั่งยืนและผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ดังนี้
(Chotiratanapinun, 2018)
(Burns, 2011; Chotiratanapinun, 2018)
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง The Role of Thai Universities in Fostering Design Students’ Sustainability Mindset บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการสร้างนักออกแบบที่ใส่ใจความยั่งยืน
โดย อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์
ทั้งนี้ การสร้างการเรียนการสอนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในผู้เรียนได้นั้นเป็นการเรียนการสอนที่มี องค์ประกอบครบถ้วน 4 องค์ประกอบ ซึ่งมาจาก Model of Sustainability Pedagogy (Burns, 2011; Chotiratanapinun, 2018) นำเสนอในรูปแบบแผนภาพต้นไม้ ที่มีกลีบดอกไม้ 4 กลีบ สื่อถึงองค์ประกอบ 4 ประการคือ เนื้อหา (content) กระบวนการเรียนการสอน (process) การเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย (perspectives) และ การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบท (context) มีรายละเอียดขององค์ประกอบ ทั้ง 4 ได้แก่
- เนื้อหา (content) หมายถึงเนื้อหา หลักการ องค์ความรู้ โดยบูรณาการกับการใช้องค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
- กระบวนการเรียนการสอน (process) เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่สอนให้ผู้เรียนคิดเชิงวิพากษ์ สร้างการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนจากภายใน โดยเนื้อหาที่สอนต้องย้อนกลับมาที่ตัวตนของผู้เรียน (inside-out process) ให้ผู้เรียนเข้าใจตัวตนของตัวเองในระดับจิตวิญญาณ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่า เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และตระหนักรู้ว่าสามารถทำอะไรกับสังคมและธรรมชาติได้บ้าง ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนสามารถเสริมด้วยเนื้อหาเพื่อให้เกิดการคิดเชื่อมโยงว่าตนเองจะมีส่วนช่วยได้อย่างไรบ้างทั้งในฐานะปัจเจกและนักออกแบบ
- การเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย (perspectives) ในการเรียนรู้นี้ ผู้เรียนจะได้สัมผัสมุมมองที่หลากหลาย จากการเปิดใจเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นเรียน การลงพื้นที่ รวมทั้งเรียนรู้จากอาจารย์ที่ปรับบทบาทตนเองเป็นผู้เรียน (learner) ร่วมเรียนรู้ไปกับนิสิตนักศึกษาด้วย โดยอาจารย์มีบทบาทในการช่วยแนะนำแนวทาง และ มีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เพื่อให้สามารถเปิดมุมมองให้นิสิตนักศึกษาได้
- การเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบท (context) หากใช้กรณีศึกษาจากต่างประเทศ แม้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดี น่าสนใจ แต่เป็นกรณีศึกษาที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยมากนักก็อาจสอนให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจและเห็นภาพได้ยาก การสอนสิ่งที่เชื่อมโยงกับบริบทของประเทศไทย ผ่านโจทย์ การศึกษา ดูงานในบริบทต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย จะช่วยนักศึกษาเข้าใจและเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องการทำได้ง่ายขึ้น เช่น ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีพ.ศ.2563 อ.ดร.ตรีชฎาพานักศึกษา BFA Product Design ไปทัศนศึกษาที่ฟาร์มลุงรีย์ เป็นฟาร์มไส้เดือนที่มีการหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อเรียนรู้เรื่องการนำความยั่งยืนจากผู้ปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นตัวอย่างของการศึกษาดูงานในบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ที่มาของภาพ: อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์, 2564
อ.ดร.ตรีชฎา กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) นั้น คือ ผู้สอนต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เปลี่ยนบทบาทเป็น facilitator พร้อมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน และสิ่งนี้จะนำไปสู่การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD-Education for Sustainable Development) ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” (change agents) ในสังคม (Burns, 2011; Chotiratanapinun, 2018; Huckle, 1993, 2006; Pavlova, 2013)
ในด้านการเรียนการสอนเรื่องความยั่งยืน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่กล่าวว่า ในการเรียนการสอนเรื่องความยั่งยืนโดยทั่วไปอาจารย์หลายท่านใช้วิธีการสอนด้วยการนำสถานการณ์ที่น่ากลัว รูปภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติมาให้นิสิตนักศึกษาดู ผู้เรียนจึงรู้สึกหมดกำลังใจในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาดูใหญ่เกินกำลังของเขาที่จะแก้ได้ (Connell, et al., 1999; Kwong 1997; Saylan & Blumstein, 2011)
ที่มาของภาพ www.japanfs.org
วิธีการสอนเรื่องนี้ที่อ.ดร.ตรีชฎาใช้แล้วได้ผล คือการใช้ภาพกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งคำถาม เช่นในภาพข้างต้นนี้ อาจารย์ถามนักศึกษาว่าเห็นอะไรบ้าง สิ่งที่เห็นในภาพคือพ่อแม่กำลังรับประทานอาหาร และสร้างขยะมากมายรวมทั้งขยะพิษ ในขณะที่ลูกกังวลว่าจะได้รับประทานอาหารไหม หลังจากที่นักศึกษาตอบคำถาม อาจารย์จึงเฉลยว่า ที่จริงภาพนี้เป็นตัวสะท้อนเราทุกคนเอง เราคือคนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะนี้ แต่เราอาจจะลืมว่ามีคนรุ่นหลังที่เขารอใช้ทรัพยากรต่อจากเราอยู่
ในการเรียนการสอน อาจารย์ได้เน้นให้ผู้เรียนเห็นความเชื่อมโยงว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ด้วยการพาผู้เรียนทบทวนการมองโลกของตัวเอง เปิดมุมมองให้ผู้เรียนเห็นว่าโลกมีความสัมพันธ์แบบ Ecological ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบแยกส่วนดังเช่นประเทศที่มีพรมแดน และตัวผู้เรียนเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจว่าการแก้ปัญหานั้นไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
จากประสบการณ์ในการสอนนักศึกษา BFA Product Design มหาวิทยาลัยศิลปากร และนิสิต BID Industrial Design จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบที่ยืดหยุ่น มีการปรับ การเรียนรู้ตามสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตนักศึกษาด้วยกันเอง ระหว่างนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ ตลอดจนวิทยากร ในการเรียนการสอน อ.ดร.ตรีชฎาได้เปิดมุมมองเรื่องความยั่งยืนแก่นิสิตนักศึกษาด้วยการทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น
กิจกรรมคุยกับต้นไม้
ที่มาของภาพ: อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์, 2564
กิจกรรมคุยกับต้นไม้เป็นกิจกรรมโปรดของนักศึกษา โดยอาจารย์ได้พานักศึกษาไปทำกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น พาไปสวนสาธารณะ นำต้นไม้มาไว้ในห้องเรียน เพื่อเปิดมุมมองให้ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งมีชีวิตรอบตัวมีชีวิตจิตใจ เมื่อทำกิจกรรมแล้วผู้เรียนเกิดคำถามว่า ต้นไม้ต้องการเพียงแค่น้ำ แสงแดด ดิน แต่ทำไมมนุษย์ต้องการอะไรมากเหลือเกิน และอาจารย์ได้ชวนคิดว่าในมุมมองของนักออกแบบ เราจะนำหลักการนี้ไปใช้อย่างไร เป็นการพาผู้เรียนเรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวและนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับตนเอง
กิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกันในห้องเรียน
อาจารย์ให้นักศึกษานำอาหารมารับประทานร่วมกันพร้อมกับดูอนิเมชั่นเรื่อง The Story of Stuff ไปด้วย หลังรับประทานเสร็จ นักศึกษาได้วาดแผนผังว่าอาหารที่รับประทานไปมีจุดเริ่มต้นอย่างไรกว่าจะมาถึงจานอาหารของตนเอง (life cycle analysis) ปรากฏว่าอาหาร 1 มื้อ ได้แผนผังใหญ่ขนาดเท่าโต๊ะ 3 โต๊ะ และนักศึกษาได้เห็นว่าการรับประทานอาหารเพียงแค่ 1 มื้อสร้างผลกระทบมากกว่าที่คิดขนาดไหน
จากกิจกรรมนี้ นำไปสู่กิจกรรมให้นักศึกษาวิเคราะห์งานออกแบบที่ตนเองชอบที่สุด นักศึกษาเริ่มเห็นว่างานออกแบบนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเยอะมาก อาจารย์จึงชวนนักศึกษาคิดว่าจะลดผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
สิ่งที่พิสูจน์ถึงความยั่งยืนในการเรียนการสอนนี้คือการเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่ในชั้นเรียนเท่านั้น เพราะนักศึกษานำองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะที่ได้ไปต่อยอดทำโปรเจกต์ เช่น นักศึกษา BFA Product Design มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำโปรเจกต์ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หล่อจากสีเทียนที่ใช้ไม่หมดของเด็กๆ และมีโปรแกรมรับคืนหลังการใช้งาน ในขณะที่นักศึกษาอีกกลุ่มทำโปรเจกต์เกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนในมหาวิทยาลัย โดยสนใจการทำอาคารเรียนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยหลักการอาคารเขียว น่าเสียดายที่โปรเจกต์นี้ไม่สามารถทำกับอาคารเรียนจริงได้ นักศึกษาจึงพัฒนาเป็นบอร์ดเกมการเรียนรู้เรื่อง Green Building แทน โดยมีศิษย์เก่า อาจารย์ เพื่อนๆ มาร่วมทดลองเล่นเกมด้วย หลังจากนั้นนักศึกษานำบอร์ดเกมดังกล่าว (CO-BLOC) ไปต่อยอดส่งประกวดในการประกวดบอร์ดเกมของ Banpu ในขณะที่ฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตกลุ่มหนึ่งทำโปรเจกต์ Amore Amend ชวนคนมารักษารอยขาดในเสื้อผ้า ด้วยการจัดเวิร์กชอปนำเสื้อผ้าที่ขาดมาซ่อมแซมให้เก๋ เท่ ใช้ต่อได้
เรื่องราวทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่มีการเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ทั้งยังมีกระบวนการเรียนการสอน การทำกิจกรรมที่น่าสนใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง อดคิดไม่ได้ว่าอยากให้การเรียนรู้เช่นนี้กระจายไปสู่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศและไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นนักออกแบบที่ใส่ใจความยั่งยืน เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมได้อีกมากอย่างแน่นอน
เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ The Role of Thai Universities in Fostering Design Students’ Sustainability Mindset บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการสร้างนักออกแบบที่ใส่ใจความยั่งยืน โดย อ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ อาจารย์ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สอนวิชาการออกแบบเพื่อความยั่งยืน ในงานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FuMmoMWXdeA (นาทีที่ 1.31.00)
1 งานเสวนาวิชาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 โดยสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 ท่านสามารถเข้าถึงงานวิจัยของอ.ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ได้ที่
Chotiratanapinun, Treechada. (2018). Transformative learning for a shift towards sustainability in Thailand’s design education (Doctoral thesis, Goldsmiths, University of London). doi: 10.25602/GOLD.00023309
รายการอ้างอิง
Burns, H. (2011). Teaching for transformation: (Re)Designing sustainability courses based on ecological principles. Journal of Sustainability Education, 2. Retrieved from https://pdxscholar.library.pdx.edu/elp_fac/20/
Huckle J. (1993). Environmental Education and Sustainability: A view from critical theory. In Fien J. (Ed.) Environmental Education: A pathway to sustainability. Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/344949484_Environmental_education_and_sustainability_A_view_from_critical_theory
Huckle, J. (2006). Education for sustainable development: A briefing paper for the training and development agency for Schools. Bedford, England: John Huckle Consultancy.
Kwong, J. (1997). An American Perspective on Environmental Literacy: A New Goal for Environmental Education, In B. Aldrich-Moodie and J. Kwong, Environmental Education, Studies in Education No. 3, Studies in the Environment No. 9, London: Institute of Economic Affairs, pp. 87–126. Retrieved from https://iea.org.uk/publications/research/environmental-education
Pavlova, M. (2013). Towards using transformative education as a benchmark for clarifying differences and similarities between environmental education and education for sustainable development. Environmental Education Research, 19(5), 656-672. Retrieved from https://eric.ed.gov/?id=EJ1020808
Saylan, C., & Blumstein, D. (2011). The Failure of Environmental Education (And How We Can Fix It). Oakland: University of California Press.