ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดยคุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (Qualy) บริษัท นิว อาไรวา จำกัด
- ที่เก็บถุงพลาสติกรูปวาฬ สะท้อนปัญหาสัตว์ในท้องทะเลที่ต้องตายเพราะพลาสติก
- กล่องใส่ทิชชู่ที่ออกแบบให้เหมือนแผ่นน้ำแข็งและหมีขั้วโลก กับการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกจากภาวะโลกร้อน
- ถังกดน้ำที่ถอดประกอบได้เพื่อลดพื้นที่และขนาดของบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง
นี่คือผลงานของ Qualy บริษัทออกแบบสัญชาติไทยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน วางแผนการออกแบบให้คำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม ความเท่าเทียม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชักชวนธุรกิจ หน่วยงานภาคสังคมอื่นๆ มาร่วมขับเคลื่อนการออกแบบที่หมุนเวียน และไม่ละเลยที่สร้างผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบควบคู่กันไป
และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
ในงานเสวนา คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (Qualy) บริษัท นิว อาไรวา จำกัด บรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy ว่า
Qualy เป็นธุรกิจที่เน้นเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืน โดยนำ SDG มาเป็นแนวทางในการออกแบบ Qualy เห็นว่าธุรกิจของตนอยู่ในกลุ่มของการผลิตและการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ อย่างมากหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จึงปรับจุดประสงค์ของการออกแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานแก่ลูกค้า ให้เน้นด้านสังคม ความเท่าเทียม และเพื่อตอบสนองโลกและสิ่งอื่นๆ นอกจากมนุษย์ เช่น สิ่งแวดล้อม สัตว์ เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ในการออกแบบเหล่านี้ต้องคิดตั้งแต่เริ่มวางแผนการออกแบบ คำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน
Qualy นำ circular design เข้ามาประยุกต์ใช้ ได้แก่
-
- การใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต (recycled material)
- การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ (upcycling design)
- ผลิตภัณฑ์ที่ Qualy ผลิตต้องสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ (recyclable product)
นอกจากนี้ ยังปรับกระบวนการการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เริ่มจากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค แล้วนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ เลือกวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดขยะ เปลี่ยนเป็นการออกแบบที่สอดคล้องกับความยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยแบบองค์รวมคือ นำวัสดุที่ก่อให้เกิดปัญหาในสิ่งแวดล้อมมาเป็นวัตถุดิบ แทนที่จะปล่อยให้หลุดรอดไปในสิ่งแวดล้อม พิจารณาความเป็นไปได้ในใช้วัตถุดิบในการผลิต ความต้องการของผู้บริโภค และผลประกอบการของธุรกิจ
จับมือกับพาร์ตเนอร์ใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์หลังการบริโภค
วัตถุดิบในการผลิตสินค้าของ Qualy มาจากผลิตภัณฑ์หลังการบริโภค (Post- Consumer Recycled: PCR) เช่น ฝาขวด ขวด PET อวน โดยร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดหาวัตถุดิบแต่ละประเภท เช่น ร่วมมือกับโครงการวนรวบรวมพลาสติกประเภท PE (ถุงพลาสติก) ร่วมมือกับ Precious Plastic รวบรวมพลาสติกประเภท PP (ฝาขวด) ร่วมมือกับ Environmental Justice Foundation รวบรวมแหอวนจากการทำประมง
ตัวอย่างการออกแบบของ Qualy
Qualy ใช้การ redesign เช่น เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกล่องใสเป็นกล่องกระดาษ, ออกแบบให้สินค้าสามารถถอดประกอบได้ ช่วยลดพื้นที่และลดขนาดของบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง, ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยกล่องที่ Supplier พิมพ์ผิด แทนที่จะปฏิเสธไม่รับสินค้าก็ใช้สีดำพิมพ์ทับลงไปในส่วนที่พิมพ์ผิดและเอาไปไว้ด้านในแทน เพื่อให้นำอีกด้านมาใช้งานได้
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างมักไม่ได้ใช้ต่อ เพราะพัง ตกรุ่น หรือดูเก่า Qualy จึงมีแนวทางการยืดอายุผลิตภัณฑ์ ด้วยวิธีการต่างๆ คือ
ผลิตภัณฑ์พัง ชำรุด: ยืดอายุด้วยการออกแบบให้มีอะไหล่สำรอง
ผลิตภัณฑ์ดูสภาพเก่า แต่ยังใช้งานได้ดี: ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ดูใหม่ เก่าช้าลง เช่น เปลี่ยนสีพลาสติกจากสีขาวที่เหลืองเร็ว ดูเก่าเร็ว เป็นสีเทาหรือสีเข้มแทน
ผลิตภัณฑ์ตกรุ่น: ออกแบบให้สินค้าให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้ในระยะยาว รวมถึงลดการโฆษณาที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กระตุ้นห้ผู้บริโภคอยากซื้อของใหม่เรื่อยๆ
การจัดการหลังการบริโภค: ออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ให้ใช้งานต่อได้หลังจากใช้งานฟังก์ชั่นแรกแล้ว เช่น ออกแบบกล่องบรรจุของ (ฟังก์ชั่นแรก) ให้เปลี่ยนเป็นถังขยะได้ (ฟังก์ชั่นที่สอง)
สื่อสารกับผู้บริโภคให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น
Qualy สื่อสารกับผู้บริโภคให้มีความรับผิดชอบในการบริโภคมากขึ้นและสร้างความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น
-
- กล่องทิชชู่ Polar Bear Iceberg กล่องทิชชู่ที่จำลองเป็นภูเขาน้ำแข็งของหมีขั้วโลก เป็นกล่องใส เมื่อดึงทิชชู่ใช้งานเรื่อยๆ ทิชชู่จะลดลง เหมือนน้ำแข็งที่กำลังละลาย
- ที่เก็บถุงพลาสติกรูปวาฬ ที่ผู้ใช้จะดึงถุงพลาสติออกมาจากปากของวาฬ เหมือนเป็นการช่วยวาฬที่กินถุงพลาสติก และเป็นการลดการใช้พลาสติกด้วยการใช้ซ้ำอีกด้วย
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
-
- สื่อสารข้อมูลหรือความรู้ต่างๆ ลงในบรรจุภัณฑ์อีกด้วย เช่น พิมพ์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนบนกล่อง เล่าปัญหาสิ่งแวดล้อม พิมพ์ข้อความให้รู้ว่ากล่องรีไซเคิลได้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพันธมิตรที่ Qualy ร่วมมือด้วย เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับผู้บริโภค
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
ประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนกับการทำธุรกิจและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
บางคนอาจจะคิดว่าเศรษกิจหมุนเวียนจะทำให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้ธุรกิจลดค่าใช้จ่ายลงได้ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร และเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า
เศรษฐกิจหมุนเวียนยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือปัญหาในการผลิตและการบริโภค ที่มีการผลิตเกินความจำเป็น การสั่งวัตถุดิบมาสำรองการผลิตที่ผิดพลาด และการผลิตสินค้าคงคลังสำรองในการขาย แต่สินค้าส่วนมากกลับไม่ได้รับการซื้อทั้งหมด และบางครั้งก็ซื้อสินค้าแล้วไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมด ดังนั้นหากมีความสมดุลระหว่างความต้องการที่แท้จริงของผู้คนกับทรัพยากรที่มีอยู่ จะทำให้รักษาทรัพยากรไว้ได้อีกมาก ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบ สามารถนำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาดูแลระบบควบคู่ไปกับ circular design
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นต้องสร้างคือผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบ เป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบคัดแยกขยะ การเลือกซื้อหรือสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่มีความรับผิดชอบ หรือผู้ที่สนใจเริ่มต้นทำธุรกิจให้เริ่มทำธุรกิจโดยคิดถึงความยั่งยืน
เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ ความพยายามของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Eco/Circular Design จากแบรนด์ Qualy โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (Qualy) บริษัท นิว อาไรวา จำกัด ในงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=V7YgTYRUrVs&t=247s
สไลด์ประกอบการบรรยาย โดย คุณธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ https://drive.google.com/file/d/1idtX2cGAeTA-DhICYYGtRBS3uFpezdVZ/view
อนุเคราะห์ภาพประกอบบทความ Qualy