การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ โดย คุณเจนจบ สุขสด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม
หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวของการส่งเสริมและพัฒนา Eco Design และ Circular Design ในภาคเอกชนจากบทความ Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (4): แบรนด์ Qualy กับบทบาทของภาคเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนา Circular Design แล้ว บทความสุดท้ายจากงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน”จะพาผู้อ่านไปศึกษาว่าภาครัฐจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการออกแบบที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไรบ้าง
โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมีวิทยากรจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน
ในงานเสวนา คุณเจนจบ สุขสด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม บรรยายเรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ว่า
กรมควบคุมมลพิษเริ่มมีการผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย องค์การเอกชน และภาคเอกชนซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศทั่วโลกมีการใช้ฉลากสินค้าเพื่อสื่อถึงมาตรฐานต่างๆ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยใช้ “ฉลากเขียว” เป็นฉลากสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 แต่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคค่อนข้างน้อย ภาครัฐจึงสนับสนุนด้วยการจัดซื้อจากทางภาครัฐ โดยมีข้อกำหนดในมติคณะรัฐมนตรีปีพ.ศ. 2561 ให้มีการจัดซื้อให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำโปรแกรมในลักษณะเดียวกันคือ ตะกร้าเขียว ที่สามารถกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ที่สามารถรับรองสินค้าของผู้ผลิตได้ ในกรณีที่ผู้ผลิตยังไม่มีความพร้อมในการขอฉลากเขียว โดยสามารถใช้ฉลากตะกร้าเขียวได้ 3 ปี หลังจากนั้นกรมควบคุมมลพิษจะพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตสามารถขอฉลากเขียว
ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ
โดย คุณเจนจบ สุขสด
นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีนโยบายในการผลิตและบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ความสำคัญหลายแผนและนโยบาย อันได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนการขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 นโยบายและแผนการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดลอมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนกลยุทธ์ย่อยต่างๆ
มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.จัดซื้อซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ซื้อพัสดุที่สร้างนวัตกรรม หรืออนุรักษ์พลังงานหรือสิ่งแวดล้อม และกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 หมวดที่ 7/2 พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแบบสมัครใจ
ในตอนนี้ภาครัฐผลักดันให้มีการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยวางแผนแก้ไขใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปี 2564-2570 มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้าร่วมจัดซื้อให้มากขึ้น และครอบคลุมทั้งกลไกเชิงนโยบาย การดำเนินงานและการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ
หากดำเนินการผลักดันตามแผน จะมีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้ผู้ผลิตหันมาสนใจและขอรับรองฉลากเพิ่มมากขึ้น
เนื้อหาในบทความนี้สรุปจากการบรรยายหัวข้อ การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ โดย คุณเจนจบ สุขสด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม ในงานเสวนา เศรษฐกิจหมุนเวียน: จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง ครั้งที่ 3 “Circular Design กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 รับชมการบรรยายได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=V7YgTYRUrVs&t=247s (นาทีที่ 26.50)
สไลด์ประกอบการบรรยาย โดย คุณเจนจบ สุขสด https://drive.google.com/file/d/1HlvLyKJMk3n7vYKu6GdFv997-Nkzsbeg/view
เครดิตภาพปกบทความ Photo by Victoria Strukovskaya on Unsplash
ภาพประกอบ ณภัทร ตันติรังสี