Share this :

ในช่วงปีแรกของโครงการ CHULA zero waste เรามุ่งไปที่การลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง เราได้มีนโยบายขอความร่วมมือให้ร้านสะดวกซื้อในพื้นที่การเรียนการสอนจุฬาฯ ได้แก่ ร้านสหกรณ์จุฬาฯ และบูธ 7-11 งดแจกถุงพลาสติกฟรี เปลี่ยนเป็นการเก็บเงินค่าถุง 2 บาท และในปลายปีที่ 2 (ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561) ร้าน 7-11 สาขาหอพักปรีดาลัย คณะแพทยศาสตร์ ก็เข้าร่วมโครงการงดแจกถุงเช่นกัน

 

ผลที่ได้ คือ จุฬาฯ สามารถลดถุงพลาสติกได้กว่า 88% คิดเป็นปริมาณถุงที่ลดได้รวมกว่า 3 ล้านใบในเวลา 2 ปี แต่เรายังไม่หยุดอยู่แค่นั้นเพราะยังมีร้านค้าอื่นๆ ที่ยังแจกถุงพลาสติกอยู่ อีกทั้ง ยังมีพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประเภทอื่นๆ ที่มีการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ทำให้กลายเป็นขยะจำนวนมาก ได้แก่ แก้ว หลอด ช้อนส้อม อีกทั้งในตลาดถุงพลาสติก ยังมีถุงที่อ้างว่า “ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ” ซึ่งแท้จริงแล้ว คือ ถุงประเภท Oxo- degradable ที่ใส่สารเติมแต่งเพื่อช่วยให้แตกสลายเป็นไมโครพลาสติกได้เร็วขึ้นซึ่งต่างประเทศเริ่มแบนกันแล้ว

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเป็นที่มาของประกาศจุฬาฯ เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านอธิการบดีได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วันกับเขตพื้นที่การศึกษา ใกล้กับวันสถาปนาจุฬาฯ เลยขอกำหนดให้เป็นวันสถาปนาจุฬาฯ 26 มีนาคม 2562 เป็นวันดีเดย์ของมาตรการลดขยะพลาสติกฯ ดังกล่าว โดยร้านค้าทุกร้านในมหาวิทยาลัยจะงดแจกถุงพลาสติกฟรี แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีของร้อนพร้อมทาน รวมทั้งงดใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกประเภท Oxo-degradable ส่วนหลอดพลาสติก ช้อนส้อม ก็ขอให้ร้านค้าลดการแจกและลูกค้าลดการรับ ส่วนแก้วพลาสติก ก็จะให้ร้านค้าในโรงอาหารทุกโรงใช้แก้วแบบล้างใช้ซ้ำได้หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup) ที่โครงการฯ พัฒนาขึ้น

 

มาตรการงดแจกถุงพลาสติกฟรีมีความมุ่งหมายที่จะให้ชาวจุฬาฯ หรือคนที่เข้ามาใช้บริการในจุฬาฯ ขยันพกถุงผ้าหรือถุงที่ใช้ซ้ำได้มากขึ้น

โดยใช้หลักการทางจิตวิทยาที่คนส่วนใหญ่จะไม่ยินดีจ่ายค่าถุงพลาสติกซึ่งมาตรการเก็บเงินเป็นมาตรการทางกฏหมายที่มีการนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรป ในเอเชีย ก็จะเห็นได้ในไต้หวัน ฮ่องกง บางประเทศใช้มาตรการเชิงสมัครใจแต่ก็ให้ห้างร้านเก็บเงินค่าถุงกับลูกค้าเช่นกัน ดังเช่นกรณีของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น

ส่วนเงินค่าถุง ไปไหนนั้น โครงการฯ จะรวบรวมเพื่อนำไปสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของนิสิตและบุคลากร รวมทั้งบริจาคให้กองทุนรักษาเต่าบาดเจ็บ เนื่องจากเต่าทะเลมักจะเป็นเหยื่อของถุงพลาสติกที่คนไทยใช้ปีละ 45,000 ล้านใบ! นอกจากนี้ ไม่ต้องห่วงว่าเราจะได้เงินค่าถุงเยอะ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า 80% ของคนจุฬาฯ ไม่ยอมจ่ายเงินค่าถุง 2 บาท (ที่เห็นว่ายังมียอดใช้ถุง ส่วนใหญ่มาจากการซื้อของร้อนพร้อมทานที่ยังอนุโลมให้ร้านค้าแจกถุงฟรีอยู่)

แม้มาตรการเก็บเงินและการลดแจกหลอด ช้อนส้อมพลาสติกจะพรากความสะดวกสบายของคนส่วนใหญ่แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับวิกฤตขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนก ณ เวลานี้ เพราะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมีอายุการใช้งานสั้นมาก ๆ

ใช้หลอดดูดน้ำแค่ 10 นาทีแต่หลอดนั้นจะอยู่กับโลกไปอีก 100 ปีและไปทำร้ายสัตว์หรือกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารของมนุษย์

มาตรการลดขยะพลาสติกฯ ของจุฬาฯ จะครอบคลุมร้านค้าในพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วยแต่ให้เวลาเตรียมตัว 1 ปี และยังไม่กำหนดให้ร้านค้าต้องงดแจกถุงพลาสติก เนื่องจากมีบุคคลภายนอกมาใช้บริการจำนวนมาก แต่ที่จะขอให้งดแน่ๆ คือ งดใช้กล่องโฟมและถุงพลาสติกชนิด Oxo-degradable แต่ถ้ามีร้านค้าที่อยากจะเข้าร่วมมาตรการงดแจกถุง เราก็ยินดีสนับสนุน

 

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง มาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งฯ

 

Chula zero waste ขอมาแจ้งข่าวให้เตรียมตัวกันล่วงหน้ายาวๆ ตั้งแต่ปีนี้จนถึงกลางปีหน้า ช่วยกันคนละนิดละหน่อยพกถุงผ้าติดไว้ เปลี่ยนจากทีมติดหลอดเป็นทีมยดซด หรือพกกระบอกน้ำไว้กดน้ำดื่มสะอาดฟรีหรือเป็นส่วนลดเวลาซื้อเครื่องดื่มก็ได้ด้วย ถ้าใครมีไอเดียปรับตัว มาลองแชร์คอมเมนต์กันหน่อย

Share this :