Share this :

ภาพแม่เต่าที่อุ้มท้องแก่บรรทุกไข่หลายร้อยฟองในท้องพร้อมฝ่าคลื่นลมทะเลและกระแสน้ำวนมาถึงหาดไม้ขาว อุทยานสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต และอุทยานหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา สองหาดสำคัญของประเทศไทยในฤดูวางไข่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ที่ใกล้จะมาถึงกลับไม่เกิดขึ้น มีเพียงซากเต่าที่ตายเกยตื้นและอีกเล็กน้อยที่บาดเจ็บสาหัสอาการร่อแร่ในวันนี้

 

ระบุว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถและพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเต่าเกยตื้นแล้วทั้งหมด 32 ตัว (Cr. facebook.com/thon.thamrongnawasawat)

 

เหยื่อครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเต่าหญ้า เต่าสายพันธุ์หายากที่สุดของไทย ที่เหลือคือเต่ากระ เต่าตนุ และเต่ามะเฟือง(ที่ไม่แวะเวียนมาเป็นปีที่สี่) ในอดีตลูกเต่าทั้งหมดเคยโผล่พ้นทรายละเอียดสีขาวที่หาดไม้ขาวและหาดท้ายเหมืองก่อนจะโกอินเตอร์ไปเติบใหญ่ที่มหาสมุทรอินเดียจนพบรักและพร้อมจะให้กำเนิดทายาทเต่าสัญชาติไทยนับร้อยนับพันตัว แต่วงจรชีวิตของแม่เต่าทั้งหลายจบลงก่อนถึงฝั่งฝันของการเป็นแม่คนด้วยแพขยะมหาศาลที่รัด พัน ตัด แขนขา กระดอง หาง หรือล่อให้ปลาเล็กปลาน้อยเข้าไปติดบ่วงแล้วล่อแม่เต่าที่หิวโหยเข้าไปติดตาม 

 

ผลที่ตามมาคือตลอด 2 เดือนที่ผ่านมามีเต่าเกยตื้นไปแล้วทั้งหมด 32 ตัว

 

1 ในซากเต่าที่มาเกยตื้นเพราะติดกับขยะทะเล
(Cr.facebook.com/thon.thamrongnawasawat)

 

ภาพเต่าหัวค้อนที่ติดอวนพลาสติกเก่าในทะเลมิดิเตอร์เรเนียนนอกชายฝังสเปน (Cr.nationalgeographic)

 

เต่าทะเลและวาฬถือเป็นสัตว์ทะเลที่ได้รับอันตรายจากขยะพลาสติกมากสุดเพราะวาฬอ้าปากระหว่างว่ายน้ำเพื่อกรองแพลงก์ตอนเป็นอาหารและกรองรวมขยะทะเลที่ลอยอยูเข้าไปด้วย  ส่วนเต่านั้นใช้ปอดเป็นอวัยวะในการหายใจถ้ามันไม่สามารถยื่นหัวพ้นผิวน้ำได้ก็ไม่รอด หรือหากมีทางหายใจได้แต่ขยับตัวไม่ได้เต่าก็จะอยู๋ในสภาพบาดเจ็บจากแดดเผาหรือติดเชื้อจากแขนขาที่ขาด หรืออดตายในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเพียงปฐมบทของฤดูวางไข่เท่านั้น วันต่อไป เดือนต่อไปและต่อๆ ไป แน่นอนว่าแม่เต่าอีกมากมายกำลังหาทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน พวกเธอจะทำภารกิจสำเร็จหรือติดกับดักมรณะก่อนหรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน มนุษย์ที่ได้ชื่อว่าประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมแห่งโลก ‘พลาสติก’ และเราก็ใช้นวัตกรรมนี้โดยเฉลี่ยถึงคนละ 15 ชิ้นต่อวัน

รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โพสต์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมขอเพียงลดการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง มันก็ช่วยได้ แม้มันไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ยังมีพลาสติกจากอีกหลายประเภทที่พร้อมทำร้ายแม่เต่า แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากมือเราหรือมือลูกเรา ถุงพลาสติกอาจไม่ได้รัดคอเต่าแต่ถุงล่อให้ปลาเข้ามาทำให้ติดเศษอวนและเศษเชือกจึงเป็นคำพูดที่ปราศความรับผิดชอบมากเกินไป หากบอกว่าชั้นไม่เกี่ยว

“เราต้องพยายามในส่วนของเราให้ดีที่สุด”

 

ภาพปริมาณขยะจากนิทรรศการหมุนเวียน Go Zero Waste ชีวิตหใม่ไร้ขยะ” จาก สสส. Cr.Warangkana Suksabayjai

 

จากปริมาณขยะพลาสติก 750 ล้านชิ้นต่อปี ไหลลงน่านน้ำเปิดและกลายเป็นแพขยะทะเลราว 50,000 – 60,000 ตันต่อปี เป็นร้อยละ 10 ของการจัดการขยะไม่ถูกวิธี นี่เป็นเพียงการประเมินจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียเท่านั้น ส่วนผลที่มีการบันทึกจริงๆ จากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ซึ่งระบุว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร หรือเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะเต็มคันนำขยะไปเททิ้งลงทะเล ทุกนาทีในทุกๆ วัน และปัญหาขยะพลาสติกที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ทำให้ประเทศไทยติดอันดับ 5 ในฐานะประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก

ขยะมหาศาลไม่มีวันหมดสิ้นไปภายในเร็ววันนี้แต่อย่างน้อยที่สุดการไม่ใช้พลาสติกเพิ่มเพียงคนละ 1 ชิ้นต่อวัน เช่น ปฏิเสธการรับถุงเพิ่มจากร้านสะดวกซื้อด้วยการเอาถุงพลาสติกเดิมมาใช้ซ้ำหรือเอาถุงผ้าไปเอง พกขวดน้ำไปแทนการซื้อน้ำดื่มขวดใหม่ หรือแค่บอกแม่ค้าว่าไม่รับหลอด วิธีง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ทุกวัน

 

และขยะพลาสติก 70 ล้านชิ้นในวันพรุ่งนี้จากคนไทยทุกคนก็จะไม่มีวันไปอยู่ที่ภูเขาขยะและเล็ดลอดไหลลงแม่น้ำในวันฝนตกหนักก่อนจะลอยออกสู่ทะเลเป็นแพขยะอย่างแน่นอน แม่เต่ารุ่นใหม่เจนแซตก็อาจจะรอดพ้นจากแพขยะกลับมายังมาตุภูมิของเธอและเต่าเชื้อชาติไทยรุ่นต่อไปที่ใช้พละกำลังแรงใจหรือสัญชาตญาณการมีชีวิตรอดกระเทาะเปลือกไข่ทรงมน พร้อมหยีตาสู้แสงแดดแรกของชีวิตหลังโผล่พ้นเม็ดทรายขาวละเอียดจากหาดสัญชาติไทยออกมาให้เราตั้งครีเอตชื่อรุ่นเจนก่อนจะมุ่งหน้าลงทะเลก็เป็นได้

 

 

อ้างอิงข้อมูลขยะทะเล
oceanconservancy.org
issuu.com/oceanconse

อ้างอิงเหตุการณ์และข้อมูลเต่าเกยตื้นและภาพประกอบ
facebook.com/thon.thamrongnawasawat
รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

cover by Phummarin Wanitcharoennum
Share this :