Share this :

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ขยะล้นเมือง ขยะที่คนจะนึกถึงเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้นขยะพลาสติก แต่จริงๆ แล้วยังมีขยะอีกหลายประเภทที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือขยะอาหาร แค่เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีขยะอาหารมากถึง 45% ของขยะมูลฝอยทั้งหมดแล้ว และข้อมูลที่น่าสนใจคือขยะอาหารบางส่วนไม่ได้มาจากการทานอาหารเหลือแล้วทิ้งอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่มาจากอาหารที่ร้านค้าไม่ได้ต้องการ เช่น เป็นสินค้าที่ขายไม่หมดในวันนั้นและไม่สามารถเก็บไว้ขายต่อได้ตามเงื่อนไขของร้านค้า มีการสต็อกสินค้าใหม่ ทำให้สินค้าเดิมต้องถูกทิ้งไปทั้งๆ ที่ยังมีคุณภาพดี หรือสินค้าบางส่วนมีตำหนิเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำไปวางขายได้

คงจะดีไม่น้อยถ้ามีใครลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้

วันนี้มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้จริงๆ และก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นสตาร์ทอัพโดยนิสิตจุฬาฯ ชื่อว่า eaten ที่มากับสโลแกน ‘Eat at Evening and Night’ เรื่องราวของพวกเขาเป็นอย่างไร ไปอ่านกันเลย

ภาพจาก eaten

 

eaten-จากโปรเจกต์สู่สตาร์ทอัพของนิสิตปีหนึ่ง

เมื่อปี 2562 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovation) เป็นสถาบันใหม่ที่จัดการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ให้นิสิตได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และทักษะผู้ประกอบการ เพื่อเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต และที่นี่เองที่สมาชิกทีม eaten ได้มาเจอกัน พวกเขาได้เรียนวิชา Project Seed เป็นวิชาที่ให้นิสิตได้ทำโปรเจกต์ระยะยาวตลอด 4 ปี จึงแท็กทีมกันทำสตาร์ทอัพโดยมีสมาชิกทีมเป็นนิสิตรุ่นแรกของสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ 5 คน คือ

ต้นไม้พษุ อัคนิวรรณ เป็น CEO

แคมป์ภูศิลป์ ภูริวัฒนพงศ์ เป็น COO

แก่นเปมิกา จอมศิริวัฒนา เป็น CFO

โมจิจิดาภา แซ่เจี่ย เป็น CMO

เอ็มเจพิระ ส่องแสง เป็นดีไซน์เนอร์

และมีวินณัฐวัฒน์ พรธิสาร เพื่อนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาร่วมทีมในตำแหน่ง CTO & Developer

ทั้ง 6 คนได้ระดมสมองคิดไอเดียและเห็นตรงกันว่าอยากทำสตาร์ทอัพที่แก้ปัญหาสังคม สมาชิกทีมจึงแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนสนใจปัญหาอะไร สุดท้ายก็มาลงตัวที่ปัญหาขยะอาหารที่ทุกคนในทีมสนใจเหมือนกันและอยากลงมือแก้ไขจริงๆ แต่ขยะอาหารก็มีหลายประเภทเหลือเกิน ทีม eaten จึงไปทำความรู้จักขยะอาหารให้ลึกขึ้นด้วยการสำรวจร้านค้าในห้างสรรพสินค้า พูดคุยกับพนักงานประจำร้าน เมื่อใกล้เวลาที่ห้างจะปิดก็พบว่าร้านเบเกอรีต้องทิ้งขนมที่ขายไม่หมดในแต่ละวันตามกฎระเบียบของร้าน

พวกเขามองเห็นโอกาสว่าขนมเหล่านี้ยังมีคุณภาพดี เพราะขนมเบเกอรียังมีอายุอยู่ได้อีก 2-3 วัน ไม่ได้เสียทันทีในวันที่ผลิต หากนำไปขายต่อให้กับคนที่ต้องการก็จะเพิ่มมูลค่าได้แทนที่จะต้องทิ้งไป และเห็นว่ายังมีคนกลุ่มที่รายได้น้อยที่อยากทานขนมเหล่านี้แต่ไม่สามารถซื้อได้ ถ้ามีคนนำมาขายในราคาที่ถูกลงก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถซื้อขนมที่มีคุณภาพดีได้

ภาพจาก eaten

eaten จึงเริ่มติดต่อร้านเบเกอรีเพื่อนำขนมมาขายโดยติดต่อเจ้าของร้านโดยตรง แม้ร้านค้าหลายๆ ร้านยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโดยมีเหตุผลหลักเป็นความตั้งใจอยากแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างที่ eaten หวัง แต่ก็ยินดีให้ eaten นำขนมที่เหลือไปขายต่อและร้านค้าก็มีรายได้จากการขายขนมให้ eaten เช่นกัน ขนมที่ นำมาขายมีหลากหลาย เช่น น้ำปลาหวานรสเยี่ยมที่กู้ชีพมาได้จากการโละสินค้าเก่าเพื่อสต็อกสินค้าใหม่ มังคุดยูซุลอยแก้ว สูตรหม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ที่ผลิตมาเกินออเดอร์ และเบเกอรีที่ทำออกมาแต่ไม่ได้ใส่แพกเกจจิ้งทันทีจึงมีตำหนิเล็กน้อยและอดไปอวดโฉมในร้าน eaten ก็นำมาขาย เมื่อรับสินค้ามาแล้วและมีลูกค้าสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มไลน์ eaten จะรวบรวมออเดอร์ทั้งหมดแล้วจัดรอบจัดส่งให้ในหนึ่งรอบส่งได้หลายออเดอร์ สามารถไปส่งได้หลายๆ ที่ในรอบเดียว ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งได้ด้วย

 

เส้นชัยที่ 100 กิโลกรัม

หากอยากรู้ว่า eaten จริงจังกับการลดขยะอาหารขนาดไหน พวกเขาตั้งเป้าหมายว่าจะลดขยะอาหารให้ได้ 100 กิโลกรัมในเวลา 1 เดือน และตั้งใจคำนวณน้ำหนักขยะอาหารที่ลดได้อย่างละเอียดด้วยการชั่งน้ำหนักเบเกอรี หรือถ้าแพกเกจจิ้งมีข้อมูลน้ำหนักสินค้าอยู่แล้วก็จดไว้แล้วนำมาคำนวณน้ำหนักขยะอาหารที่ลดได้

ภาพจาก eaten

เพียงแค่สัปดาห์แรกที่เปิดตัว eaten ได้รับการตอบรับอย่างดีและลดขยะอาหารไปได้ถึง 38 กิโลกรัม และเมื่อ eaten เดินทางมาถึงวันที่ 22 ก็ลดขยะอาหารได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ โดยลดได้มากถึง 110 กิโลกรัม สิ่งที่ eaten ให้ความสำคัญไม่ได้มีแค่น้ำหนักขยะอาหารที่ลดได้เท่านั้น eaten เห็นว่าขยะอาหารทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนในปริมาณมาก ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงนำน้ำหนักขยะอาหารที่ลดได้มาคำนวณค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนอีกด้วย และสิ่งที่ลูกค้าได้รับก็มีมากกว่าขนมอร่อยคุณภาพดีในราคาถูก เพราะ eaten โพสต์น้ำหนักขยะอาหาร ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนที่ลดได้ในแต่ละวันลงเฟซบุ๊กเพจ ลูกค้าก็ได้รู้ว่าการสั่งขนมของเขาในวันนี้ช่วยโลกไปเท่าไหร่แล้ว

 

เรียนรู้และก้าวกระโดดต่อไป

ภาพจาก eaten

 

หนึ่งเดือนที่ทำ eaten มา พวกเขาได้เรียนรู้ว่าการมีทีมที่มีเป้าหมายร่วมกัน ทุกคนเป็นกำลังใจให้กัน แม้จะงานนี้จะเหนื่อยและยากแต่ก็ทำให้ทีมยังคงมุ่งมั่นทำเป้าหมายให้สำเร็จ และได้พบกับความสุขจากความสำเร็จเล็กๆ ที่รู้ว่ามีคนสนใจเรื่องนี้และอยากลงมือทำไปด้วยกันอีกหลายคน แต่ความตั้งใจมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างเดียวยังไม่พอ การใช้ Design Thinking เพื่อให้เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง เพราะในตอนแรกทีมคิดว่ารู้จักและเข้าใจลูกค้าพอสมควรแล้ว แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็พบว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับลูกค้า ยิ่งได้คุยกับลูกค้ามากขึ้นก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น ทีม eaten บอกว่าถ้าตอนเราเตรียมตัวเราคุยกับลูกค้ามากกว่านี้จะทำให้การทำงานของเราแน่นมากขึ้น และทำให้ความตั้งใจที่อยากจะแก้ปัญหาขยะอาหารชัดเจนมากขึ้นด้วย

ในตอนนี้ eaten อยู่ในช่วงหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้ลูกค้าใช้บริการได้สะดวกขึ้นและต่อยอดไปสู่การบริจาคอาหารให้กับคนที่ต้องการ เช่น ถ้าคนที่อยู่เชียงใหม่อยากสั่งอาหารให้ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ต้องการอาหารก็สามารถสั่งได้ผ่านแอปพลิเคชันและ eaten ก็จะนำอาหารไปส่งให้ชุมชนนั้น

พวกเขายังมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้เกิดขึ้นจริง และเป้าหมายนั้นคือการเป็นผู้นำในการลดขยะอาหารในประเทศไทย เพราะ eaten รู้ว่ามียังมีอีกหลายคนที่สนใจแก้ปัญหาขยะอาหาร แต่อาจจะยังไม่ได้ลองทำ eaten จึงอยากเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาและส่งเสียงให้คนไทยรู้ว่าทุกคนก็ช่วยกันลดขยะอาหารได้ 

เป็นสตาร์ทอัพที่ดีต่อใจและดีต่อโลกจริงๆ น้องๆ เก่งกันมาก ทีมงาน Chula Zero Waste เป็นกำลังใจให้นะ

ส่งกำลังใจและติดตาม eaten ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Eaten และอินสตาแกรม @eaten.team

Share this :