ขยะทั่วไปที่เราเห็นกันอย่างชินตา มักจะมีลักษณะสกปรก มีขยะล้นออกมานอกถังและมีขยะทุกประเภทปะปนกันไป รวมถึงส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์จนใครๆ ต่างเมินหน้าหนี ไม่กล้าทิ้ง จะดีกว่าไหม? ถ้าเราลองแยกขยะก่อนทิ้ง แบ่งหมวดหมู่ขยะให้ถูกประเภท ลดการปนเปื้อน สะอาด ลืมภาพลักษณ์ถังขยะเน่าๆ ไปได้เลย
มาทำความรู้จักถังขยะแต่ละประเภท เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ดึงสติ ประลองปัญญาตัวเอง สะกิดต่อม “เอ๊ะ!” ก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง
มาแยกขยะกันเถอะ! ตอน “ขยะเศษอาหาร”
ขยะเศษอาหาร (food waste) จุฬาฯ ใช้สีเขียวเป็นสีประจำถัง ขยะประเภทนี้ทิ้งได้เฉพาะเศษอาหารน้ำหรือน้ำแข็งเท่านั้นไม่รองรับภาชนะเปื้อนอาหาร (สามารถทิ้งได้ในถังขยะทั่วไป) เป็นถังขยะเฉพาะรองรับขยะที่สามารถเน่าเสียได้และมีกระบวนการย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหารและพืชผักที่เหลือจากการรับประทานอาหารหรือการประกอบอาหาร
ปลายทางของขยะประเภทนี้จะแยกเป็น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรกนำไปผลิตเป็นอาหารหมู ปลาและไส้เดือน เส้นทางที่ 2 นำเข้าสู่กระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพ กากเหลือทิ้งก็จะนำไปสผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในการดูแลพรรณไม้ต่อไป
วิธีทิ้งขยะให้ถูกต้อง
อาหารบรรจุกล่องพลาสติก/กระดาษ: เทเศษอาหารลงใน “ถังขยะเศษอาหาร” และทิ้งกล่องพลสติก/กล่องกระดาษที่เลอะลงใน “ถังขยะทั่วไป” (ยกเว้นกล่องบรรจุภัณฑ์ไม่เลอะเศษอาหารมาก สามารถทิ้งในถังขยะรีไซเคิลพลัสเพื่อนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้)
อาหารใส่จานที่ล้างได้: เขี่ยเศษอาหารลงใน “ถังขยะเศษอาหาร” และวางภาชนะที่จุดวางภาชนะเพื่อนำไปล้าง
ผลไม้ (เปลือก-เมล็ด): สามารถทิ้งใน “ถังขยะเศษอาหาร” ได้ทันที ยกเว้นบรรจุภัณฑ์และวัสดุห่อหุ้มผลไม้
ขวดน้ำดื่ม: เทเครื่องดื่มและน้ำแข็งลงใน “ถังขยะเศษอาหา” ส่วนขวดน้ำบิดหรือเหยียบให้มีขนาดเล็กและทิ้งลงใน “ถังขยะรีไซเคิลพลัส”
เห็นไหมล่ะ ทิ้งขยะง่ายนิดเดียวเอง พอลองทิ้งเป็นหมวดหมู่ก็ดูสะอาดขึ้นเยอะ แต่สำหรับใครที่ขี้ลืม จำไม่ได้ว่าขยะชิ้นนี้ควรทิ้งถังไหนก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะถังขยะในจุฬาฯ มีป้ายรูปภาพและสัญลักษณ์ของขยะแต่ละชนิดอย่างชัดเจน สีสันสดใส รูปทรงสวยงามมีทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ทิ้งง่ายเข้าไปอี๊กกก…(เสียงสูง)
อยากให้จุฬาฯ สะอาด อยากให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมดีๆ มาแยกขยะกันเถอะ!
Together we can มั่นใจเราทำได้!