Share this :

ขยะทั่วไปที่เราเห็นกันอย่างชินตา มักจะมีลักษณะสกปรก มีขยะล้นออกมานอกถังและมีขยะทุกประเภทปะปนกันไป รวมถึงส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์จนใครๆ ต่างเมินหน้าหนี ไม่กล้าทิ้ง   จะดีกว่าไหม? ถ้าเราลองแยกขยะก่อนทิ้ง แบ่งหมวดหมู่ขยะให้ถูกประเภท ลดการปนเปื้อน สะอาด น่าใช้ ลืมภาพลักษณ์ถังขยะเน่าๆ ไปได้เลย

มาทำความรู้จักถังขยะแต่ละประเภท เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ดึงสติ ประลองปัญญาตัวเอง สะกิดต่อม “เอ๊ะ!” ก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง

 

มาแยกขยะกันเถอะ! ตอน “ขยะทั่วไป”

ขยะทั่วไป (Garbage) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกสีฟ้าเป็นสีประจำตำแหน่ง เป็นถังขยะที่ทิ้งสิ่งของทั่วไปที่มีการปนเปื้อนของเศษอาหาร อาทิเช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตะเกียบไม้ ถุงขนม-เปลือกลูกอม ภาชนะเปื้อนอาหาร (เช่น แก้วน้ำสมูทตี้ ถุงพลาสติกเปื้อนน้ำแกง กล่องโฟมใส่ข้าวราดแกง  ถุงร้อนเปื้อนซอส ฯลฯ) และกระดาษทิชชู่

ขยะในถังใบนี้มักเป็นวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่เปรอะเปื้อนเศษอาหาร ย่อยสลายยาก ไม่คุ้มค่าที่จะนำกลับไปรีไซเคิล ปลายทางของขยะเหล่านี้จะถูกฝังกลบสถานเดียว ซึ่งต้องผ่านกระบวนการกำจัดที่ถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วิธีทิ้งขยะให้ถูกต้อง กรณีที่พบถังขยะ 3 ประเภท: ถังขยะเศษอาหาร, ถังขยะรีไซเคิลพลัส, ถังขยะทั่วไป

ถุงขนม : ทานขนมให้หมด ถ้ามีเศษขนม ให้เทเศษขนมที่เหลือลงใน “ถังขยะเศษอาหาร” ก่อน และทำถุงให้เรียบแบน แล้วจึงทิ้งลงใน “ถังขยะทั่วไป”

ภาชนะเปื้อนอาหาร: เทเศษอาหารเหลือลงใน “ ถังขยะเศษอาหาร” ก่อน แล้วจึงทิ้งภาชนะทลงใน “ถังขยะทั่วไป”  (สำหรับอุปกรณ์ทานอาหารอื่นๆ อย่างไม้ปลายแหลมอย่าลืมหักหรืองอก่อนทิ้ง)

ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป: เทเศษบะหมี่และน้ำซุปลงใน “ถังขยะเศษอาหาร” ก่อน  ส่วนตัวถ้วยพลาสติกทิ้งลงในถัง “ถังขยะทั่วไป”

กระดาษชำระ,เปลือกลูกอม,ตะเกียบไม้:  ทิ้ง “ถังขยะทั่วไป” ได้เลย ทิ้งให้ลงถังกันด้วยนะ!

เห็นไหมล่ะทิ้งขยะง่ายนิดเดียวเอง พอลองทิ้งเป็นหมวดหมู่ก็ดูสะอาดขึ้นเยอะ น่าใช้ขึ้นมาทีเดียว แต่สำหรับใครที่ขี้ลืม จำไม่ได้ว่าขยะชิ้นนี้ควรทิ้งถังไหนก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะถังขยะในจุฬาฯ มีป้ายรูปภาพและสัญลักษณ์ของขยะแต่ละชนิดอย่างชัดเจน สีสันสดใส รูปทรงสวยงาม มีทั่วทั้งมหาวิทยาลัย  ทิ้งง่ายเข้าไปอี๊กกก…(เสียงสูง)

อยากให้จุฬาฯ สะอาด อยากให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมดีๆ มาแยกขยะกันเถอะ!
Together we can มั่นใจเราทำได้!

Share this :