จากที่ผ่านมาจุฬาฯ มีการจัดงานวิ่งแบบ green running มาหลายงานแล้ว ทั้งก้าบคนละก้าบจากคณะนิเทศศาสตร์ เคมีรันจากภาควิชาเคมี และงานวิ่งสร้างเมืองจากคณะสถาบัตย์ที่เพิ่งจบไป และมีหลายส่วนงานหลายคณะติดต่อเข้ามาอยากรู้กลเม็ดเคล็ดลับที่ทีมงานมอบให้กับทุกงาน CHULA zero waste ไม่เก็บเรื่องราวดีๆ ไว้คนเดียวแน่นอนจึงอยากมาแชร์แนวทางที่เราใช้ให้ทุกคนได้รู้กันว่าขั้นตอนตั้งแต่เตรียมตัววิ่ง ออกสตาร์ต และปลายทาง green running มีอะไรบ้าง
เริ่ม เตรียมตัว ระวัง ไป
ตั้งคติกรีนก่อนสตารต์
โดยเริ่มจากวางแผนการทำงานกันก่อน ในเมื่อตั้งใจว่างานวิ่งครั้งนี้จะมาสาย green ก็ขอให้ green กันตั้งแต่การลงทะเบียนออนไลน์เพื่อลดการใช้กระดาษและจะได้กะจำนวนผู้เข้าร่วมงานได้แม่นยำขึ้นไม่ต้องผลิตเสื้อหรือบิบเผื่อไว้ ที่ต้องเน้นหนักๆ กาดอกจันสักเจ็ดร้อยดอกก็คือการประชาสัมพันธ์แนวทางการจัดงานล่วงหน้า ของดีมีต้องโชว์ให้โลกรู้ว่างานวิ่งนี้ green แค่ไหน และขอความร่วมมือนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาเองเท่าที่สามารถทำได้เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง
จุดเริ่มต้นดีชีวิตกรีน
เตรียมตัวเตรียมใจวิ่งแล้วก็ต้องเตรียมรับมือกับขยะที่จะขึ้นในงานด้วย ประเมินชนิดของขยะและปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในงาน จัดหมวดหมู่แล้วแยกได้กี่ประเภท จากนั้นก็วางปลายทางให้ไป เช่น เศษอาหารเอาไปทำปุ๋ยหมักเอามาบำรุงดินในจุฬาฯ ต่อ ขยะที่แห้งสะอาดเอาไปรีไซเคิลหรือส่งเผาเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน และที่ไม่เข้าพวกค่อยรวบรวมนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธี
หลังจากเตรียมใจว่าจะมีขยะอะไรเกิดขึ้นในงานบ้าง คราวนี้ก็จะมาดูว่าเราลดขยะอะไรในงานได้บ้าง เช่นถ้ามีร้านค้าร้านอาหารในงานให้เพิ่มเงื่อนไงเรื่องงดใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือเปลี่ยนเป็นภาชนะที่ย่อยสลายได้จริงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วิ่งแล้วก็ห้ามหยุดกรีน
ควรมีการประชาสัมพันธ์ในวันงานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออธิบายวิถี green การลดและแยกขยะในงาน และสิ่งที่จะช่วยลดได้มากเลยก็คือจุดพักนักวิ่งเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นแทน เช่นแก้วกระดาษธรรมดา หรือแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (zero-waste cup)
ระหว่างทางก็ขาดเธอไม่ได้
แนะนำดาวเด่นของงานวิ่ง green mentor ที่ผ่านการถ่ายทอดวิชาจากทีมงาน CHULA zero waste เป็นอาสาสมัครผู้เต็มเปียมด้วยความรู้ในการแยกขยะและชื่นชอบที่จะอธิบายปลายทางของขยะแต่ละประเภทในผู้มาร่วมงานที่จุดทิ้งขยะ
จบงานแบบสวยๆ กรีนๆ
งานวิ่งย่อมต้องมีวันเลิกรา แน่นอนว่างานวิ่งสีเขียวจะจบงานด้วยการจัดการขยะตามเส้นทางที่กำหนดไว้ทั้งขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมอบให้ฝ่ายกายภาพ จุฬาฯ หรือกทม.เป็นผู้ดูแล แต่ทีมงานก็ควรจะประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของงานให้โลกรู้ว่าจุฬาฯ เรามีงานวิ่งสายกรีนที่วิ่งเข้าเส้นชัยด้วยอันดับ 0 พร้อมกับรางวัลงานวิ่ง zero-waste
แต่งานทุกงานจะเป็นจริงไม่ได้เลยถ้าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจริงของแต่ละคณะที่มุ่งมั่นช่วยกันลดขยะให้ได้มากที่สุด หัวใจเป็นจิตอาสาของ Green mertor และความร่วมมือจากนักวิ่ง CHULA zero waste ทุกคนที่ทำให้งานวิ่งทุกครั้งเข้าเส้นชัยด้วยอันดับ 0 และหวังว่ากิจกรรมในครั้งต่อไปในจุฬาฯ จะได้เห็นภาพแบบนี้ขึ้นในทุกคณะทุกเขตพื้นที่สีชมพูเลย