หน้ากากอนามัย ทิ้งยังไงให้ปลอดภัยกับเราและคนเก็บขยะ
ก้าวเท้าออกจากบ้าน พร้อมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเต็มที่! เดี๋ยวนี้ออกไปไหนก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่อยู่ในรถ (ถ้ามีคนนั่งเกิน 2 คน) หน้ากากอนามัยกลายเป็นขยะอีกประเภทที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนเก็บขยะก็เหนื่อยกับการเก็บมากขึ้นด้วย จะเก็บทีก็กลัวเชื้อโรคเหมือนกัน งั้นเรามาทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกกันเถอะ!
ก่อนจะทิ้งมาดูกันก่อนว่าหน้ากากอนามัยเป็นขยะประเภทไหน
บางคนอาจจะเข้าใจว่าหน้ากากอนามัยเป็นขยะอันตราย ความจริงแล้วไม่ใช่นะ!
เพราะขยะอันตราย (Solid hazardous waste) คือขยะที่มีสารเคมี สารไวไฟ สารพิษอยู่ เช่น ถ่านไฟฉาย กระป๋องสเปรย์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดน้ำยาทำความสะอาด
ส่วนขยะติดเชื้อ (Infectious waste) คือขยะที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ ส่วนใหญ่คือขยะจากโรงพยาบาล คลินิก สถานอนามัย เช่น เข็มฉีดยา สำลี ผ้าก๊อซ หน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์/คนไข้สวม และถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ป่วย แต่ในช่วงนี้ที่ COVID-19 ระบาด เพื่อป้องกันไว้ก่อนก็จะเก็บหน้ากากอนามัยเป็นขยะติดเชื้อ
คราวนี้มาดูกันว่าจะทิ้งหน้ากากอนามัยกันยังไง
หน้ากากอนามัยตามบ้านเรือนประชาชนทั่วไป ทิ้งตามวิธีนี้
- รวมหน้ากากอนามัยใส่ถุงแยกจากขยะอื่นๆ ถ้าเป็นถุงใสได้ยิ่งดีเพราะจะมองเห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างใน หรือเขียนไว้ที่ถุงให้เห็นชัดๆ ว่าเป็นหน้ากากอนามัยก็ได้
- มัดถุงให้แน่นแล้วทิ้งแยกต่างหากจากขยะอื่นๆ
- เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บขยะจะแยกไว้ในถังขยะท้ายรถและเอาไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล คลินิก สถานอนามัยต่างๆ รวมทั้งหน้ากากอนามัยที่ผู้ป่วยใส่
มีวิธีทิ้งในขั้นตอนที่ 1-3 เหมือนกัน ที่สำคัญคือต้องทิ้งลงถังขยะติดเชื้อเท่านั้นนะ! โดยกรุงเทพฯ จะมีรถสำหรับเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะมารับขยะตามสถานที่เหล่านี้ เป็นรถที่มีการควบคุมอุณหภูมิและปิดอย่างมิดชิดเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรคไม่แพร่กระจายแน่นอน เจ้าหน้าที่จะใส่ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) อย่างดีเพื่อป้องกันเชื้อโรค มีทั้งแว่นตา มาสก์ ถุงมือยาง รองเท้าบูตครบ และจะเก็บขยะไปเข้าเตาเผาขยะติดเชื้อ
การทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี ก็ช่วยให้คนเก็บขยะทำงานได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น และยังเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย มาทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีกันเถอะ!