ส้นฉลองพระบาทที่ลายดอกเลือนหายไปตามอายุการใช้งานและความบากบั่นในทุกหนทางที่ย่ำเสด็จพระราชดำเนินไป หลอดยาสีพระทนที่ถูกรีดจนแบนแล้วยังทรงใช้ต่อได้อีกห้าวัน เมื่อนำมาคิดแล้วหลักการความพอเพียงนั้นมีพื้นฐานจากการใช้ทรัพยากรนั้นๆ ให้คุ้มค่าเพื่อลดการใช้สิ่งใหม่ (Reduce) ความคุ้มค่าก็มาจากความพยายามนำไปใช้ซ้ำ (Reuse) หากใช้จนซ้ำคุ้มค่าแล้วสิ่งที่เหลือทิ้งจริงๆ ยังสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Recycle) ก็จะไม่เหลือสิ่งที่ต้องทิ้งอีกต่อไป
“เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ”
– พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร
ลดการใช้คือการใช้อย่างคุ้มค่า
ในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแต่ละครั้ง หากสังเกตก็จะเห็นว่าสิ่งที่พระองค์ทรงถืออยู่เสมอคือ แผนที่ กล้องถ่ายภาพ และดินสอ มักทรงเลือกใช้ดินสอไม้เป็นส่วนใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้นยังทรงใช้จนกุดสั้นและต่อด้ามเอาจนกว่าจะทรงใช้ไม่ได้แล้ว
“…เมื่อยังไม่หมดแท่งจะทิ้งทำไม และพระองค์ท่านก็ทรงใช้จนหมดสภาพจริงๆ” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าถึงอุปกรณ์ทรงงานที่กว่าจะทรงยอมทิ้งก็คือไม่สามารถใช้งานได้แล้วเท่านั้น ในสารคดีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
อีกหนึ่งการใช้อย่างคุ้มค่าคือ หลอดยาสีพระทนต์ ที่ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถวายการรักษาพระทนต์ประจำพระองค์ กล่าวถึงที่มาไว้ว่า ได้เคยกราบบังคมทูลว่าเคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงใช้จนหมด หลอดแบนราบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งว่า ของพระองค์ก็มี และทรงเล่าว่า วันหนึ่งมหาดเล็กห้องสรงนึกว่ายาสีฟันหมดแล้วจึงนำไปทิ้งและนำหลอดใหม่มาถวาย พระองค์กลับให้เอามาคืนและทรงใช้ต่อได้อีกห้าวัน ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช จึงทูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์ไว้ให้ลูกศิษย์ คณาจารย์ และทันตแพทย์ไว้ดูเป็นแบบอย่าง
ท่านผู้หญิงเพ็ชราเล่าต่ออีกว่า สองวันให้หลังก็มีข้าราชบริพารนำหลอดยาสีพระทนต์มาให้แต่ก็ต้องประหลาดใจที่ “หลอดมีลักษณะแบนราบ แม้แต่ตรงคอหลอดก็มีรอยบุ๋มลงไป ต่อมาได้มีโอกาสกราบทูลถามก็ได้รับคำอธิบายว่า ที่เกิดรอยแบบนั้นเพราะใช้ด้ามแปรงรีดและตรงคอก็ใช้แปรงกดลงไปอีกที และพระองค์ยังรับสั่งว่า ‘แม่สอนมา’” ปัจจุบันหลอดยาสีพระทนต์พระราชทานได้จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ ตึกวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [1]
กว่าจะมาเป็นดินสอหนึ่งแท่งก็ต้องใช้ทรัพยากรหลายประเภท เช่น พื้นที่ ดิน น้ำ สำหรับปลูกต้นไม้ ผงสีสำหรับทำไส้ ยังไม่นับรวมถึงพลังงานที่นำมาผลิตและขนส่งในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับยาสีฟัน การที่พระองค์ทรงปฏิเสธยาสีพระทนต์หลอดใหม่ที่มหาดเล็กนำมาถวายและใช้หลอดเดิมจนหมด เป็นตัวอย่างของการลดการใช้ (reduce) โดยการใช้ให้หมดให้คุ้มค่า
นี่คงเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของพระองค์ที่ดีที่สุดในการสอนให้ประชาชนของท่านมองเห็นคุณค่าของสิ่งของ รู้จักประหยัด และการใช้อย่างคุ้มค่า อีกทั้งเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการช่วยลดขยะอีกด้วย โดยการใช้ยาสีพระทนต์จนหยดสุดท้าย ในขณะที่เราหลายคนใช้ได้ครึ่งหลอดก็ทิ้งแล้ว หากเราลองวิเคราะห์ถึงกระบวนการผลิตจะพบว่า กว่าจะได้ยาสีฟันต้องใช้ทรัพยากร กำลังคน และขั้นตอนการผลิตมากมายขนาดไหน
ใช้ซ้ำ นำไปซ่อม
ครั้งแรกที่ร้านสูท “วินสัน เทเลอร์” ห้องเสื้อเล็กๆ ธรรมดาของช่างสุนทร ชนะศรีโยธิน ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นผ้ารัดอกสำหรับเล่นเรือใบที่สภาพเก่ามากแล้วโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของเป็นใคร
“นายตำรวจท่านนั้นบอกว่า ไม่มีร้านไหนยอมซ่อมให้เลย ผมเห็นว่ายังแก้ไขได้ก็รับมาซ่อมแซม”
ต่อมาช่างสุนทรได้ตัดฉลองพระองค์ทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ก็ยังเน้นไปที่การซ่อมแซมเป็นหลัก “แต่ละฉลองพระองค์ที่ได้รับมาให้ซ่อมแซม ถ้าเป็นคนอื่นผ้าเก่าขนาดนั้นเขาไม่ซ่อมกันแล้ว เอาไปทิ้งหรือให้คนอื่นๆ ได้แล้ว แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีความมัธยัสถ์ แต่ละองค์ที่เอามาเก่ามาก เช่น เสื้อสูทสีฟ้าชัยพัฒนา ผ้าเก่าสีซีดมากแล้ว ตรงตราชัยพัฒนามัวหมอง ตรงดิ้นทองก็หลุดเกือบหมด ผมเอามาแกะหมดเลยให้โรงงานปักใหม่ให้เหมือนแบบเดิม” [2]
เช่นเดียวกับดร.สุเมธ ที่เคยเล่าถึงความพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า
“แม้กระทั่งฉลองพระองค์ก็ทรงมีไม่กี่ชุด ทรงใช้จนเปื่อยซีด ส่วนฉลองพระบาทก็เป็นเพียงรองเท้าหนังสีดำแสนธรรมดา เมื่อเก่าแล้วก็จะถูกส่งไปซ่อม ทำเช่นนี้จนไม่สามารถซ่อมได้แล้วจึงหยุด ซึ่งราคาของฉลองพระบาทของพระองค์มีราคาเพียงคู่ละ 300 – 400 บาทเท่านั้น”
แผ่นรองรองเท้าที่สึกมีรอยเปื้อนเล็กน้อยบ่งบอกร่องรอยการใช้งานมาอย่างโชกโชนคู่หนึ่งได้รับการเก็บรักษาใส่กรอบวางไว้บนหิ้งอย่างดีเป็นสิ่งล้ำค่าและนึกถึงความพอเพียงให้ใช้ของใช้ทุกชิ้นอย่างคุ้มค่า นี่คือชิ้นส่วนพื้นฉลองพระบาทที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งมาซ่อมที่ร้าน ก.เปรมศิลป์ครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่สามารถซ่อมได้อีก
เมื่อย้อนสิบกว่าปีก่อนได้มีผู้นำรองเท้าหนังสีดำธรรมดาสภาพทรุดโทรมและผุกร่อนจากการใช้งานมาหลายสิบปีที่ ช่างไก่ หรือศรไกร แน่นศรีนิล เป็นฉลองพระบาทที่เคยถวายงานซ่อมเป็นคู่แรก “คงประมาณ 30 กว่าปีได้ เก่าผุหมดอายุคล้ายว่าหนังนั้นหมดสภาพแล้ว แต่ก็ยังนำมาซ่อมใช้ เป็นฉลองพระบาทคู่โปรดที่ทรงใส่ทรงดนตรี” [3]
เพียงฉลองพระองค์ไม่กี่ชุดสอนพระองค์ท่านทรงสวมฉลองพระองค์ปะชุนซ้ำๆ หลายปีให้เรารู้ว่า นอกจากการรู้จักคุณค่าของสิ่งของ ยังมีเรื่องของการลดขยะ ความพอเพียง และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
นำกลับมาใช้ใหม่
ถึงเป็นขยะก็เปลี่ยนเป็นพลังงานได้โดยในปี 2538 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอุทยานวิจัยในงานวันเกษตรแห่งชาติ ได้พระราชทานแนวทางบำบัดและใช้ประโยชน์จากขยะ พระองค์ทรงเป็นปราชญ์เกี่ยวกับเรื่องดินและทรงทราบดีว่าดินจะช่วยให้อินทรีย์วัตถุสามารถย่อยสลายได้เร็ว นำขยะที่หลือจากจากเศษอาหารหรือขยะสดมาใส่รวมกันในหลุมที่ขุดไว้เพื่อให้เกิดความร้อนจากการย่อยสลายจนเกิดเป็นแก็ส เมื่อสูบแก็สออกไปใช้จนหมดแล้วสามารถนำส่วนที่เหลือไปใช้เป็นปุ๋ยต่อ และกากอื่นๆ ที่เหลือก็เผาเป็นถ่านเชื้อเพลิง
โดยระหว่างที่ใช้แก็สจากหลุมแรกเสร็จ กระบวนการหมักบ่มของหลุมที่ 2 ก็เสร็จพอดีสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถแยกขยะและจัดการกากจากหลุมที่ 1 ไปได้ในเวลาเดียว หากบริหารจัดการอย่างพอดีก็จะมีพลังงานแก็สจากขยะได้อย่างไม่มีวันหมด [4]
ไม่เพียงแต่เรื่องขยะเท่านั้น แม้แต่ทรัพยากรที่สิ้นสภาพการใช้งานพระองค์ยังทรงมองเห็นว่าสามารถแก้ไขเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดังเช่นโครงการแกล้งดิน อันเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2524 ทรงพบว่า ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปี ให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ [5]
เมื่อดินที่เสียแก้ได้ น้ำที่เสียก็ต้องแก้ได้เช่นกัน กังหันน้ำชัยพัฒนา ใช้รูปแบบบำบัดน้ำเสียด้วยการเติมอากาศลงไปในน้ำทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี ผ่านระบบกังหันวิดน้ำแบบทุ่นลอย เมื่อน้ำที่เสียถูกเติมออกซิเจินในระดับที่พอดีก็จะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา เมื่อโครงการได้ประดิษฐ์กังหันตัวต้นแบบออกมาก็ได้นำไปทดลองติดตั้งใช้ในกิจกรรมบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 และที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2532 นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาวิจัยปรับปรุงคุณภาพการทำงานของกังหันอย่างต่อเนื่อง จนมีประสิทธิภาพสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้ [6]
ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล การมองเห็นความสำคัญจากสิ่งที่ผู้อื่นมองว่าไร้ประโบชน์ก็พลิกฟื้นกลับมาใช้ใหม่ได้อันจะได้ได้จากโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ของพระองค์ ทั้งการลดการใช้ของใหม่ การใช้ซ้ำ และหลักการรีไซเคิลที่ยึดหลักการนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบการจัดการจากวัตถุดิบเดิมให้กลับมามีประสิทธิภาพและสามาระใช้ประโยชน์ได้ดีอีกครั้งก็เท่ากับว่าเราสามารถใช้ทรัพยากรสิ่งนั้นให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงที่สุดไม่เหลือสิ่งให้ใดทิ้งขว้างเป็นขยะอีกต่อไป
illustration by Navapan Assavasuntakul