Share this :

หลายคนอาจมีขวดน้ำพลาสติกติดตัวไว้ในกระเป๋า ทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพาย แม้กระทั่งมีติดไว้ในรถ วางไว้ข้างโต๊ะทำงาน หรือซุกเอาไว้ใต้โต๊ะเรียน เมื่อวันหนึ่งเราดื่มน้ำหมด ขวดเหล่านี้ก็จะกลายสภาพเป็นขยะ หนึ่งในปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้

อาจเป็นเพราะการมีขวดน้ำพลาสติกไว้ในครอบครองเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย ทั้งมีราคาถูก มีจำหน่ายทั่วไป มีรสชาติที่แตกต่างตามยี่ห้อ หรือบางคนเลือกเพราะความสวยงามของ packaging เลือกเพราะยี่ห้อที่บ่งบอกถึงสถานะบางอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว ปลายทางของขวดเหล่านี้ก็ต้องไปนอนในอยู่ในก้นหลุมขยะเดียวกันอยู่ดี

แม้ว่า “ขวดพลาสติก” ที่เราคิดว่าลงไปอยู่ในถัง แต่ความจริงแล้วกลับกำลังคุกคามธรรมชาติอยู่! เพราะ 90% ของขยะในทะเลมาจากขวดน้ำพลาสติก ซึ่งทุกชิ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นขวด ฝา พลาสติกหุ้มปากขวด หรือแม้แต่ฉลากทางการค้า ก็ต่างกระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ในซอกหิน ปะการัง ฝังตัวในชายหาด หรือบางทีก็นอนกลิ้งอยู่บนหาดทราย ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นอยู่เป็นประจำ

มีข้อมูลชิ้นหนึ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับขวดพลาสติกว่าในสหรัฐอเมริกามีการใช้ขวดพลาสติก 9 หมื่นใบต่อนาที ส่วนประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า ทำสถิติใช้ขวดพลาสติก 4,000 ล้านขวดต่อปี ถ้าลองคิดเล่นๆ ให้นำขวดเหล่านี้มาเรียงต่อกัน เราก็อาจจะได้ตึกใบหยก 3-4-5…ก็เป็นได้

ถึงแม้ว่าขวดพลาสติกจะเป็นขยะที่ขายได้มีราคา หรือมีฉลากรับรองว่าสามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ แต่กระบวนการในการทำขวดพลาสติกจำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาล เพื่อขวดพลาสติกใบใหม่ ที่ถูกใช้เพียง 5 นาทีและกลายเป็นขยะ

ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก เริ่มต้นกันใหม่ เพียงพวกเราทุกคน ช่วยกันลดใช้ขวดพลาสติก แค่นี้ก็ลดปัญหาไปกว่าครึ่ง คำนวณง่ายๆ เฉพาะในจุฬาฯ ถ้านิสิตและบุคลากรลดการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกวันละ 1 ขวด ใน 1 ปี คิดที่ 200 วันทำการ เราก็จะลดการใช้ขวดถึง 200 ขวดต่อคน หากชาวจุฬาฯ 3 หมื่นคนปรับพฤติกรรมเหมือนกัน เราจะลดขยะจากขวดพลาสติกได้ถึง 6 ล้านขวดต่อปีเลยทีเดียว!

สำหรับคนที่ชอบดื่มน้ำเยอะๆ ต้องมีน้ำติดตัวไว้ตลอดเวลา Chula Zero Waste ขอแนะนำวิธีการ พกขวดน้ำของตัวเองแทนการใช้ขวดน้ำพลาสติก แข็งแรงทนทาน ทำความสะอาดง่าย มีลวดลายรูปแบบให้เลือกมากมาย นำมาเติมน้ำได้จากตู้กดน้ำดื่มสีชมพูของโครงการที่มีให้บริการมากกว่า 40 ตู้ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย สะอาด ปลอดภัย มีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยบริษัทจะเปลี่ยนไส้กรองทุก 3 เดือนและมีทีมงานจากภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาช่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มทุก 6 เดือน แค่เพียงเราพกกระบอกน้ำมาเติมก็ช่วยลดขยะได้อย่างง่ายๆ แถมประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย

พกขวดน้ำส่วนตัวช่วยลดขยะและรักษาสุขลักษณะอนามัยได้ด้วยตนเอง
Together we can   มั่นใจเราทำได้!

ข้อมูลจาก greenworld.or.th

Share this :