Share this :

ขยะทั่วไปที่เราเห็นกันอย่างชินตา มักจะมีลักษณะสกปรก มีขยะล้นออกมานอกถังและมีขยะทุกประเภทปะปนกันไป รวมถึงส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์จนใครๆ ต่างเมินหน้าหนี ไม่กล้าทิ้ง   จะดีกว่าไหม? ถ้าเราลองแยกขยะก่อนทิ้ง แบ่งหมวดหมู่ขยะให้ถูกประเภท ลดการปนเปื้อน สะอาด น่าใช้ ลืมภาพลักษณ์ถังขยะเน่าๆ ไปได้เลย

มาทำความรู้จักถังขยะแต่ละประเภท เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ดึงสติ ประลองปัญญาตัวเอง สะกิดต่อม “เอ๊ะ!” ก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง

มาแยกขยะกันเถอะ! ตอน “ขยะรีไซเคิลพลัส”

ขยะรีไซเคิลพลัส (Recycle +) มีสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มาพร้อมรูปลูกศรชี้วนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ถังขยะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิเศษกว่าที่อื่นๆ คือถังขยะรีไซเคิลมีเครื่องหมายบวก “+” ต่อท้าย ซึ่งนอกจากทิ้งขยะที่เป็นวัสดุเหลือใช้สามารถนำกลับมาแปรรูปได้แล้วนั้น ยังรองรับขยะประเภทที่มีมูลค่าการนำกลับไปรีไซเคิลต่ำ แต่สามารถนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง (Energy Recovery) สำหรับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ได้ ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

สำหรับขยะที่จะเข้าไปอยู่ในถังใบนี้ได้จะต้องมีคุณสมบัติที่ค่อน “สะอาด” และ “แห้ง”  เช่นแก้วกระดาษถุงพลาสติก ช้อน-ส้อม หลอดดูดน้ำ แก้วพลาสติก  กล่องนม-น้ำผลไม้ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมีเนียม กระดาษ กล่อง snack box เป็นต้น

เมื่อท่านทิ้งขยะที่ค่อนข้างสะอาดและแห้ง ไม่เปื้อนเศษอาหารแล้ว แม่บ้านจะทำการคัดแยกขยะ โดยจะเลือกขยะที่รีไซเคิลได้เพื่อขายให้กับธุรกิจรีไซเคิล ส่วนขยะที่ขายไม่ได้ จะถูกรวบรวมเพื่อส่งไปเผาเป็นเชื้อเพลิงร่วมที่โรงผลิตปูนซีเมนต์ที่จังหวัดสระบุรี

วิธีการแยกขยะให้ถูกต้อง

ขวดแก้ว/ แก้วกระดาษ/แก้วพลาสติก: เทเครื่องดื่มออกให้หมด หากอยู่ใกล้อ่านล้างจาน ให้กลั้วน้ำก่อน เพื่อป้องกันมดและแมลงที่เข้ามาในถังขยะและทิ้งลงใน “ถังขยะรีไซเคิล +”
ช้อน-ส้อม/ ถุงพลาสติก: ทิ้งลงในถังได้ทันที (ต้องไม่มีการปนเปื้อนของเศษอาหาร)
ขวดน้ำ: เทน้ำออกจากขวด บีบหรือเหยียบขวดน้ำให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดพื้นที่ขยะและทิ้งลงใน “ ถังขยะรีไซเคิล +”
กล่องนม-น้ำผลไม้: ดื่มเครื่องดื่มให้หมด แกะหูข้างกล่องและก้นกล่องออก บีบให้แบบราบและทิ้งลงใน “ ถึงขยะรีไซเคิล +”
กล่อง snack box: แกะชิ้นส่วนของกล่องให้แบนราบและทิ้งลงใน “ถังขยะรีไซเคิล +”
กระดาษ: แกะคลิป/ ลูกแม็ก/ ที่หนีบกระดาษออกให้เรียบร้อยและทิ้งลงในถังได้เลย

เห็นไหมล่ะทิ้งขยะง่ายนิดเดียวเอง พอลองทิ้งเป็นหมวดหมู่ก็ดูสะอาดขึ้นเยอะ แต่สำหรับใครที่ขี้ลืม จำไม่ได้ว่าขยะชิ้นนี้ควรทิ้งถังไหนก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะถังขยะในจุฬาฯ มีป้ายรูปภาพและสัญลักษณ์ของขยะแต่ละชนิดอย่างชัดเจน สีสันสดใส รูปทรงสวยงามมีทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ทิ้งง่ายเข้าไปอี๊กกก…(เสียงสูง)

อยากให้จุฬาฯ สะอาด อยากให้ทุกคนอยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมดีๆ มาแยกขยะกันเถอะ!
Together we can มั่นใจเราทำได้!

Share this :