Share this :

วันที่ 16 กันยายนของทุกปี ถูกจัดขึ้นให้เป็นวันโอโซนโลก (World Ozone day) หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องปกป้องกลุ่มก๊าซที่มองไม่เห็น ทำไมจึงจำเป็นต้องดูแลรักษา วันนี้ Chula Zero Waste จะนำเสนอสถานการณ์เลวร้ายที่หากว่าวันหนึ่ง โอโซนมีจำนวนลดลงอย่างมาก จะน่ากลัวแค่ไหนลองไปอ่านกัน!

โอโซน (Ozone) เป็นกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นฟิล์มกรองแสงจากดวงอาทิตย์ ปกคลุมอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งโอโซนเกิดจากการรวมร่างของออกซิเจน 3 อะตอม โดยโมเลกุลออกซิเจนจะแตกจากการกระตุ้นของรังสี UVC และจับตัวกับอะตอมออกซิเจนอิสระ (O) จนกลายเป็นก๊าซโอโซ (O3)

หน้าที่ของโอโซนนอกจากจะช่วยกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งมีประสิทธิภาพมากถึง 99% แล้ว ยังสามารถกำจัดจุลินทรีย์ขนาดเล็กอย่างแบคทีเรียได้หมดจดอีกด้วย

ผลข้างเคียงแรกที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่านั่นก็คือ ผิวหนังถูกทำลาย เกิดรอยเหี่ยวย่น หมองคล้ำ เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของสาวๆ เลยทีเดียว แต่ที่ร้ายกว่าและลึกลงไปในระดับเซลล์ อาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง สำหรับดวงตาที่บอบบางก็อาจมีแนวโน้มเป็นต้อกระจกได้ ในเรื่องของอุณหภูมิรอบตัวแน่นอนว่าต้องร้อนระอุประหนึ่งซ้อมตกนรก เผลอๆ อาจได้ตายจริงจากเหตุเพราะอากาศร้อนเกินไปนั่นเอง

เมื่อคนได้รับอันตรายสรรพสัตว์ย่อมได้รับผลเช่นกัน ส่งผลให้สัตว์เกิดการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอด หรือบางชนิดก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งรังสีอัลตราไวโอเลตก็ทำให้ผิวหนังสัตว์เกิดผลข้างเคียงเช่นเดียวกับมนุษย์ได้ นั่นก็คือ การก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

ในส่วนของสิ่งมีชีวิตที่ชอบแสงแดดมากที่สุดอย่างพืช ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างการกลายพันธุ์ เช่นในพืชชั้นต่ำตระกูลแพลงก์ตอน สาหร่าย ไดอะตอม ยูกรีนอยด์ เป็นต้น ส่วนพืชชั้นสูงก็จะลดการสังเคราะห์แสงลง โดยปิดปากใบทำให้วัตถุดิบไม่สามารถผ่านเข้าไปในใบได้ จึงส่งผลต่อการเจริญเติบโต ซึ่งอาจทำให้แหล่งอาหารในอนาคตขาดแคลนได้

กรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ความร้อนภายในโลกอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลาย ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรเกิดการขยายตัว ซึ่งกระทบต่อเส้นทางการหมุนเวียนของน้ำและทำให้เกิดความแปรปรวน เกิดภัยพิบัติ อุทกภัย สร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

ในขณะนี้…โลกยังคงมีโอโซนปกคุมอยู่ แต่จำนวนความหนาแน่นลดลงทุกปี ถึงแม้โอโซนจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราสามารถรับรู้ได้ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ถึงคุณประโยชน์ที่มีและควรค่าแก่การรักษา ปัจจัยที่ทำให้อากาศเกิดความเสียหายนั้นก็คือ การที่มนุษย์สร้างอากาศเสียจากควันรถการทิ้งขยะและเผาขยะ การก่อเกิดของอุตสาหกรรม หรือรวมไปถึงการใช้สารเคมีและพลังงานมากเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลด ละ เลิกใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การลดใช้พลังงาน ละการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เลิกสร้างขยะและผลิตขยะ เท่านี้เราก็สามารถรักษาโอโซน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้

จงรักษาในวันที่รู้ว่ายังมีอยู่… ดีกว่าไม่มีอะไรให้รักษา
Together we can มั่นใจเราทำได้!
ข้อมูลอ้างอิงจาก Trueplookpanya, วิกิเพียเดีย, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

Share this :