Share this :

เกน – สิรภพ บุญวานิช คือบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Engineering) จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ยังเป็นนิสิต เขาเคยมาช่วยโครงการ Chula Zero Waste ในปีแรก หากใครยังจำแคมเปญ  D-Day 7-11 และร้านสหกรณ์จุฬาฯ เลิกแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อเมื่อปี 2560 ได้ นี่คือผลงานของเขาและเพื่อนๆ

หลังจากเรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกนบินลัดฟ้าไปทำงานกับบริษัทพยากรณ์อากาศที่ประเทศญี่ปุ่น สะสมประสบการณ์อยู่ 2 ปี ก่อนจะมุ่งสู่การเรียนต่อปริญญาโทด้าน Climate Science and Policy

ในตอนนี้เกนมีบทบาทใหม่เป็น Climate Data Analyst ในทีมวิจัยของบริษัทด้าน Physical Climate Risk Assessment ที่สหรัฐอเมริกา เราจึงไม่พลาดที่จะชวนเขามาพูดคุยเรื่อง climate change และอนาคตของงานด้านสิ่งแวดล้อม

1

โลกร้อนก็เป็นงาน

ทำไมจึงสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ตอนเรียนปริญญาตรีก็เป็นสมาชิกชมรม อยู่ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปออกค่าย พอทำค่ายก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีโอกาสได้ไปฝึกงานกับบริษัทพยากรณ์อากาศที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ที่เลือกบริษัทนี้เพราะคิดว่าพยากรณ์อากาศมันดูใกล้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด พอเรียนจบแล้วก็ไปทำงานที่นี่เกือบประมาณ 2 ปี

 

บริษัทนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร

บริษัทที่ทำเป็นบริษัทพยากรณ์อากาศ เราทำงานเป็นวิศวกร ปีแรกเขียนโปรแกรม ทำเซิร์ฟเวอร์ และหลังจากนั้นขอย้ายทีม ได้มาอยู่ทีม R&D ทำโมเดล วิจัย ขายข้อมูลให้กับลูกค้าที่ใช้ข้อมูลสภาพอากาศ เช่น สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น เราก็จะทำนายว่าสภาพอากาศวันพรุ่งนี้หรืออาทิตย์หน้าจะเป็นอย่างไร แล้วจะกระทบกับยอดขายเขาอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้เตรียมของไว้ถูก อย่างวันไหนอากาศร้อน ไอติมจะขายดี ซึ่งสภาพอากาศมีผลกระทบกับแทบจะทุกธุรกิจโดยตรง

พอได้ทำงานนี้รู้สึกว่าสภาพอากาศมันกระทบคนเยอะ กระทบธุรกิจด้วย แต่พอทำงานไป ทุกคนพูดถึงแต่การพยากรณ์อากาศในระยะสั้น ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่อง climate change ซึ่งแปลกมาก เพราะที่จริงสองอย่างนี้เกี่ยวข้องกันมาก แต่บริษัทไม่ได้สนใจในขณะนั้น ส่วนตัวไม่ได้จบด้านพยากรณ์อากาศ ก็เลยสนใจอยากเรียนวิทยาศาสตร์ด้านนี้ด้วย อีกอย่างคือเราดูเรื่องคู่แข่งของบริษัทด้วย ว่าเงินลงทุนไปทางไหนบ้าง ก็เริ่มสังเกตว่าเทรนด์มันมาด้านสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเยอะ มีกองทุนต่างๆ เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก คิดว่าว่าในอนาคตอุตสาหกรรมด้านนี้จะโตมากขึ้น ตอนเรียนต่อปริญญาโทก็เลยตัดสินใจเรียนด้านนี้ เพราะเรามีพื้นฐานทำงานกับบริษัทพยากรณ์อากาศอยู่แล้ว และคิดว่าสิ่งนี้มันจะโตขึ้นในอนาคต เราก็จะโตไปพร้อมกับสิ่งนี้ไปเลย ก็เป็นโอกาสที่ดี และมันก็เป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะพอเรียนจบปุ๊บ มีบริษัทใหม่ๆ ที่ทำเรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะ

 

เรียนต่อปริญญาโทเกี่ยวกับอะไร

เรียน Climate Science and Policy เป็นการเอา 2 ด้านผสมกัน ด้านวิทยาศาสตร์คือเรียนว่า climate change เกิดจากอะไร โดยศึกษาจากงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ทำมา ส่วนด้านนโยบายคือการออกแบบนโยบายจัดการเรื่องโลกร้อน เรื่องก๊าซเรือนกระจก ดูว่าอะไรเวิร์ก ไม่เวิร์ก อะไรเป็นแรงจูงใจของคน สิ่งที่เรียนก็เปิดโลกดี เพราะเราเรียนปริญญาตรีมาทางวิศวกรรมศาสตร์ เราก็คิดว่าต้องใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา ซึ่งเราไม่เคยเห็นด้านการใช้สังคม การใช้นโยบายมาก่อน พอมาเรียนที่นี่ก็เปลี่ยนความคิดเลย เพราะมันต้องคิดมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เอะอะก็จะแก้ปัญหาให้จบๆ ไป เช่น เวลารถติด ถ้ามองแบบวิศวกรรม เราจะมองว่างั้นขยายถนนเพิ่มสิ รถจะได้วิ่งได้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะพอเลนถนนเพิ่มขึ้นก็มีบ้านจัดสรรเกิดปลายทางมากขึ้น คนก็เข้าไปอยู่มากขึ้น สุดท้ายถนนที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยแก้รถติด วิธีแก้ที่ดีกว่าก็คือ ทำอย่างไรให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น หรือทำอย่างไรให้คนใช้ระบบ car pool มากขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนคนต่อรถ

การพรีเซนต์โปรเจกต์เรื่อง Cloud seeding ในวิชา Forum

 

การออก field trip เพื่อศึกษาเกี่ยวกับ Wetlands และการกักเก็บคาร์บอน

 

วิชา Physical oceanography

 

โปรเจกต์จบที่ใช้โมเดลในการคำนวนการเดินทางของคนในเมือง San Diego และเสนอวิธีการลด GHG emissions

 

หลังจากเรียนจบแล้วทำงานอะไร

ตอนนี้ทำงานกับบริษัทด้าน Physical Climate Risk Assessment ตำแหน่ง Climate Data Analyst ในทีม Research งานที่บริษัททำคือการประเมินความเสี่ยงที่มาจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทเอกชน กองทุน ลูกค้าสายการเงิน หรือธนาคารกลางต่างๆ เช่น ถ้าเขาจะลงทุน เขาก็อยากรู้ว่าอีก 10-30 ปี พอร์ตลงทุนของเขาจะได้รับความเสี่ยงอะไรจากโลกร้อนหรือเปล่า เพราะมันกระทบจริงๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น บริษัทจะให้คะแนนความเสี่ยงด้านต่างๆ กับบริษัทในพอร์ต และนักลงทุนจะดูคะแนนเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจเวลาจะลงทุน ซึ่ง climate risk เป็นหนึ่งในคะแนนที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ

งานที่ทำคือ research ดูความเสี่ยงประเภทต่างๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า พายุ โดยใช้ climate models มารวมกับข้อมูลอื่นๆของบริษัท เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ดูว่ามีสาขาที่ไหนบ้าง ถ้าบริษัทนี้ มี 5,000 สาขาทั่วโลก ก็จะประเมินทั้งหมดแล้วเทียบเป็นคะแนนออกมา

แต่ก่อนเราต้องเลือกว่าจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือจะพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ถ้าเราต้องการให้เศรษฐกิจโตและมั่นคง เราต้องเอาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง climate ด้วย ต้องเอาทั้ง 2 อย่าง ตอนนี้มันเหลือทางเลือกเดียวแล้ว ไม่ใช่ 2 ทางเลือก ตอนนี้เราแค่ต้องทำให้มันดีกว่าเดิม ให้มันไวขึ้น เปลี่ยนแปลงสิ่งเก่าๆให้มันดีกว่าเดิม ต้อง win-win ทั้งสองฝ่ายทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

นอกจากการประเมินความเสี่ยงด้านตำแหน่งที่ตั้งแล้ว มีการประเมินความเสี่ยงด้านอื่นอีกไหม

การประเมินความเสี่ยง climate risk จะมี 2 ด้าน คือ physical risk เช่น น้ำท่วม ไฟป่า พายุ อีกอย่างคือ transition risk คือความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายการเปลี่ยนผ่าน เช่น สมมุติว่าบริษัทเราปล่อยคาร์บอนออกมาเยอะมากทุกปีๆ แต่เราไม่ได้สนใจ จนกระทั่งวันหนึ่ง รัฐบาลบอกว่าถ้าใครปล่อยคาร์บอนจะเก็บภาษีคาร์บอนที่คุณปล่อยออกมานะ อันนี้เป็นความเสี่ยงแล้วเพราะบริษัทจะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

 

Photo by Capturing the human heart. on Unsplash

การทำงานนี้สร้างผลกระทบได้เยอะแค่ไหน

คิดว่างานที่ทำสร้างผลกระทบได้ค่อนข้างสูงเพราะกระทบกับทุกบริษัทและเงินของนักลงทุนโดยตรง เหมือนเราบังคับให้บริษัทสนใจเรื่อง climate risk คือถ้าเขาตั้งอยู่ในที่เสี่ยงหรือมี supply chain ที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change เขาก็จะได้เรตติ้งต่ำ เท่ากับว่าคนก็จะลงทุนกับเขาน้อยลง ทำให้สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องเปลี่ยน ต้องใส่ใจเรื่อง climate change มากขึ้น

 

แล้วตอนนี้บริษัทต่างๆ หันมาสนใจเรื่องนี้เยอะขึ้นไหม

เดี๋ยวนี้บริษัทก็สนใจมากขึ้น เพราะมีกฎหมายบังคับออกมาว่าต้องทำ climate risk disclosure ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของบริษัทตัวเอง ช่วงปีนี้หลายประเทศเริ่มออกประกาศแล้วว่าภายใน 5-10 ปีจะบังคับให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องเปิดเผยความเสี่ยงของตัวเอง จากแต่ก่อนบริษัทพวกนี้ไม่เคยต้องบอกใครก็ต้องหันมาสนใจแล้ว ของอเมริกาตอนนี้ยังไม่ได้บังคับ แต่กำลังผ่านกฎหมายอยู่ ส่วนอังกฤษ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ค่อนข้างจะชัดเจน

 

2

Climate Change ไกลหรือใกล้

เรื่อง climate change ในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเรายังมีเวลาอยู่อีกหลายปีกว่าจะถึงจุดพีค

ปกติเวลาพูดถึงผลกระทบจากโลกร้อน จริงๆ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและก็เกิดขึ้นตอนนี้ด้วย คือผลกระทบจากสิ่งที่มนุษย์เราทำไปในอดีต ผลกระทบมันเกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้แล้ว มันไม่ได้รออีก 9 ปีแล้วค่อยเกิดขึ้นทีเดียว มันเกิดขึ้นแล้ว สร้างความเสียหายแล้ว และอนาคตมันจะแย่ลงกว่านี้ สิ่งที่บริษัทที่ทำงานอยู่ทำคือ ใช้โมเดลมาบอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละสถานการณ์ที่เป็นไปได้ คือต่อให้เราหยุดทุกอย่างวันนี้ ในอนาคตมันก็เกิดขึ้นแน่ๆ เพราะมันล็อคเป้าไว้แล้ว แต่มันไม่ได้สายไปที่จะแก้ปัญหาตอนนี้ เพราะสมมุติถ้าเราหยุดทุกอย่างวันนี้ ถึงมันอาจจะไม่ได้ดีขึ้นในปีสองปี แต่มันก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแบบ 10 ปี 20 ปีได้

ทุกวันนี้คนน่าจะรู้ว่าโลกแย่ขนาดไหน หลายคนอาจจะบอกว่ามันแยกได้ยากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติหรือเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากโลกร้อน แต่หลายๆ อย่างทุกวันนี้ชัดเจนว่าเกิดจากโลกร้อน เช่น ปัญหา PM2.5 ปัญหาสัตว์สูญพันธุ์ อายุขัยที่สั้นลง ก็ชัดเจนว่ามาจากโลกร้อน

ถ้าถามว่าจากเทรนด์ปัจจุบัน จะแย่ได้ขนาดไหน คือเราจะไปถึงจุดที่อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสแน่ๆ และอาจจะขึ้นไปถึง 2 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ ซึ่งตัวเลขพวกนี้ถ้าแปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือจะเกิดภัยพิบัติมากขึ้น เราจะต้องจ่ายมากขึ้น และจะจนลงทุกคน

พอถึงปี 2030 อุณหภูมิก็คงเกิน 1.5 องศาไปแล้ว

ใช่

 

จริงๆ ตอนนี้คนก็เห็นว่ามี PM2.5 ทุกปี มีน้ำท่วม แต่ทำไมคนยังไม่ได้รู้สึกว่ามันเกี่ยวกับ climate change หรือโลกร้อนเท่าไหร่

อันนี้เป็นปัญหาที่ไทยที่เราไม่ค่อยเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างภัยแล้ง น้ำท่วม กับโลกร้อน แล้วที่ตั้ง การแก้ปัญหา นโยบาย มันแยกกันไปหมด ไม่ได้เป็นองค์รวม

 

มีเรื่องไหนที่คนไทยที่ยังไม่ค่อยรู้หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับ climate change

คนไทยคิดว่ามันไกลตัว แต่จริงๆ ประเทศไทยติด 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 5 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด เช่น ตอนที่ประเทศไทยโดนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่งผลให้ฮาร์ดดิสก์ขาดแคลนทั่วโลกเพราะโรงงานตั้งอยู่ที่ไทย แล้วพอเกิดเรื่องอย่างนี้แล้ว จะมีใครอยากมาลงทุนกับไทยอีกไหม เท่ากับว่าเงินที่เข้าประเทศจะหายไปทันที นี่คือคนไทยคิดว่ามันไกลตัวแต่จริงๆ มันใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

ภาพความเสี่ยงน้ำท่วมในประเทศไทยปี 2030 เทียบกับ ปี 2050

 

การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนในกรุงเทพมหานครย้อนหลัง 37 ปี

 

คิดว่าทางออกของปัญหา climate change สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นอย่างไร

คิดว่าต้องมองปัญหาเป็นปัญหาเดียวกัน และแก้อย่างเป็นองค์รวม เราต้องเห็นว่ามันเป็นปัญหาเดียวกัน มีสาเหตุมาจากอะไร และวิธีแก้มีอะไรบ้าง ซึ่งปัญหามีหลายอย่าง เราไม่สามารถแก้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องมองเป็นปัญหาเดียวแล้วจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรสำคัญกว่า แล้วแก้ที่สำคัญกว่าก่อน อะไรที่สำคัญน้อยกว่าอาจจะแก้ทีหลัง หลายๆ อย่างคือเราต้องเริ่มลงทุนมากขึ้น ทุกวันนี้เหมือนเราแก้ปัญหาไปวันๆ เราไม่ได้มองปัญหาจนสุด ยิ่งเราแก้ช้าเท่าไหร่ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

 

สิ่งที่ต้องทำมี 2 อย่างคือ climate adaptation และ climate mitigation คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คิดว่าในไทยเราอาจจะทำได้ช้ากว่าประเทศอื่นที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเราไม่ได้มีเทคโนโลยีเท่าเขา ไม่ได้มีต้นทุนเท่าเขา เราก็ค่อยๆ ลดไป

ส่วน climate adaptation คือการปรับตัวที่จะอยู่กับโลกที่ร้อนขึ้น เรื่องนี้สำคัญกับไทยมาก เราต้องจะต้องลงทุนกับเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้ เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เราจะปรับตัวอย่างไร เรื่องแล้งเราจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นมันจะยิ่งแย่ ทุกวันนี้เขาก็แก้ปัญหากันอยู่ แต่เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาเดียวกัน งบมันก็กระจัดกระจาย ไม่มีประสิทธิภาพ

 

ถ้าเราลองเทียบกับประเทศอื่น ความตื่นตัวของคนเรื่อง climate change กับการแก้ปัญหา มีความเหมือนความต่างอย่างไรบ้าง

เรื่อง climate change เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องของทั่วโลกอยู่แล้ว คือแต่เดิมรัฐบาลไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ จนกระทั่งประชาชนเริ่มออกมา เกรต้า ธันเบิร์ก เริ่มออกมา คนก็เริ่มออกมากันมากขึ้น หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น พอประชาชนแต่ละประเทศเรียกร้องมากขึ้น เอกชนกับรัฐบาลก็เริ่มสนใจ

Photo by Li-An Lim on Unsplash

 

แต่สิ่งที่อยากเน้นคือ รัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ตอนนี้สนใจไม่ใช่แค่เพราะว่ารักโลก แต่มันคืออนาคตของเศรษฐกิจ ยิ่งถ้าเรายิ่งลงทุนกับเรื่องการลดคาร์บอนช้าเท่าไหร่ เราก็จะตามหลังประเทศอื่น แล้วเราก็จะไม่มีเงินเข้าประเทศ ไม่มีเงินเข้าเศรษฐกิจของตัวเอง มีคำพูดของนายกนิวซีแลนด์ว่า เราจะเป็น Net Zero ไม่ใช่เพราะเราจะทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เรา “can’t afford” ไม่ทำไม่ได้ เพราะถ้าเกิดไม่ทำ เราจะขาดรายได้จากประเทศอื่น เราจะขาดงานวิจัย ขาดเทคโนโลยีที่เราจำเป็นต้องใช้ในอนาคต ซึ่งต้องลงทุนตั้งแต่ตอนนี้เพื่อที่อนาคตเราจะอยู่รอดได้ มีกินมีใช้ มีเศรษฐกิจ

และมันคือเรื่องธุรกิจด้วย อย่างด้านพลังงาน ด้านอาหาร หลายประเทศตอนนี้ลงทุนเยอะมากเพราะเขาอยากเป็นผู้นำในอนาคต ถ้าวันนี้เรายังไม่ลงทุนเรื่องพวกนี้ เท่ากับว่าอนาคตต้องซื้อเขามาใช้อย่างเดียว  อย่างสิงคโปร์ลงทุนเรื่องอาหาร plant-based ไปเยอะมาก จนแทบจะเป็นฮับด้านนี้แล้ว คืออาหารในอนาคตเราจะต้องทำอย่างไร ที่จะผลิตอาหารโดยใช้ทรัพยากรน้อย แต่ผลิตออกมาได้มีคุณภาพ อร่อย รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนกับเรื่องนี้เยอะมาก เช่น การปลูกผักในตึก ก็มีบริษัทรับทำเรื่องนี้เต็มเลย และเขาก็ขายเทคโนโลยีให้ประเทศอื่นด้วย

 

สิ่งเหล่านี้เริ่มจากรัฐบาลก่อนหรือเปล่า ที่รู้สึกว่าต้องทำแล้ว และให้คนเข้ามาลงทุน

ใช่ ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศจะตั้งศูนย์วิจัยเรื่อง climate change มันไม่ใช่แค่วิจัยด้านวิทยาศาสตร์ แต่มีด้านอื่นๆ ด้วย ด้านสังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ ว่าเราจะปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้ยังไง หรือจีนที่ตอนนี้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งเรื่องการผลิตโซลาเซลล์ อเมริกาก็อยากเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดแต่ก็ยังต้องสู้กับธุรกิจเก่าๆ อย่างน้ำมันอยู่

 

ไทยสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ไหม และนอกจากด้านพลังงานทางเลือก ไทยมีศักยภาพในการปรับตัวเข้ากับโลกร้อนด้านไหนอีกบ้าง

จริงๆ ไทยใช้ได้ มีเพียงพอ ถ้าลองไปดูแผนพลังงานหรือบริษัทที่ทำด้านพลังงาน ตอนนี้เราลงทุนเรื่องพลังงานทางเลือกไปเยอะมาก แต่มันยังไม่พอ เมื่อสิบปีที่แล้วมีคนบอกว่าใช้ไม่ได้ เพราะไทยเดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดอออก ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่จริง ผิดหมดเลย ต้องดูข้อมูล ถ้าเราลงทุนไปตั้งแต่ตอนนั้นป่านนี้เราคืนทุนแล้วด้วยซ้ำ เผอิญเราลงทุนช้า มาลงทุนตอนนี้ เราก็กำลังตามเขาอยู่ ถ้าเราดูปริมาณคาร์บอนที่ไทยปล่อย แล้วเราอยากลดคาร์บอนของไทย พลังงานมาเป็นอันดับหนึ่งเลย คือต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด ถ้าด้านเศรษฐกิจที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น คิดว่าที่ไทยแข่งได้น่าจะเป็นเรื่องอาหาร ตอนนี้มีบริษัทของไทยที่ทำ plant-based food หรือบริษัทพลังงานของไทยก็ไปลงทุนต่างประเทศเยอะ ไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ต่างประเทศเยอะมาก ส่วนด้านเทคโนโลยี ก็ต้องวิจัยเรื่องนี้ให้มากขึ้น ด้านเกษตร เรามีที่ดิน มีน้ำอยู่ แต่เราไม่ได้พัฒนาให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์ ว่าเราจะมองอนาคตอีก 10 ปี 20 ปี ยังไง แล้วเราก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ อย่างเรื่องแล้ง เรื่องอาหาร เรารู้อยู่แล้วว่าอนาคตจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนสำหรับอนาคตตั้งแต่ตอนนี้

 

การแก้ปัญหา climate change ในประเทศไทย ควรเป็นหน้าที่ของใครและใครมีบทบาทมากที่สุด

คิดว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดจริงๆ แล้วน่าจะเป็นประชาชน เพราะประชาชนต้องเลือกตั้ง เลือกผู้แทนเข้าไป แต่อาจจะใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบันนะ (หัวเราะ) ในความเป็นจริงแล้วเราต้องมีผู้แทน เราก็ต้องเรียกร้องผ่านผู้แทน ติดตาม บอกสิ่งที่เราต้องการให้ผู้แทนรู้ และเวลาเราใช้ชีวิตประจำวัน เราเลือกซื้อของยี่ห้อไหน แบรนด์ไหน ก็มีผลกระทบเยอะมาก เราจะกินอะไร อาหารที่เรากิน จนกระทั่งธนาคารที่เราฝากเงินด้วย คือเรามีส่วนในการตัดสินใจเยอะมาก เราอาจจะคิดว่ามีเราคนเดียว แต่จริงๆ แล้วอาจจะมีหลายคนที่คิดเหมือนเรา แล้วเรารวมตัวกัน อย่างเช่นเราบอยคอตบริษัท หรือธนาคาร มันก็จะมีผลกระทบค่อนข้างเยอะมาก แต่ท้ายที่สุดเราต้องเปลี่ยนที่ระบบนั่นแหละ ถึงแม้ตอนนี้มันจะยังเปลี่ยนไม่ได้ มันเปลี่ยนยาก แต่เราทำไปเรื่อยๆ สักวันมันก็จะเปลี่ยนแน่ๆ อย่ายอมแพ้

 

มีตัวอย่างการบอยคอตธนาคารที่สร้างผลกระทบไหม

ที่ต่างประเทศ นักกิจกรรมเขาจะดูว่าธนาคารหรือกองทุนเอาเงินไปลงทุนกับอะไรบ้าง และถ้าธนาคารไหนไปลงทุนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมันเยอะ เขาก็ไปประท้วงหน้าธนาคาร ไปปิดธนาคาร และเรียกร้องให้ทุกคนเอาเงินออกจากธนาคาร ย้ายเจ้ากัน จนสุดท้ายธนาคารหรือกองทุนก็ทนไม่ไหว ก็ออกมาประกาศว่าจะถอนเงินลงทุนจากบริษัทต่างๆ ที่ทำโลกร้อนเอง หรือผลกระทบที่จะเกิดในประเทศไทยที่หลายคนอาจจะไม่รู้ ก็คือไม่ว่าเราจะทำงานเป็นเอกชนหรือข้าราชการ เรามีกองทุนบำนาญอยู่ ถ้าทุกวันนี้กองทุนของเราเอาเงินไปลงทุนกับธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจที่เสี่ยงกับโลกร้อน อนาคตเงินฝากของเราอาจจะหายไปในพริบตาโดยที่เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ มันเป็นความเสี่ยงกับทั้งภาคธุรกิจด้วยและความเสี่ยงกับเงินของเราด้วย มันไม่ใช่แค่เรารักโลกแล้วอยากจะทำ แต่มันคือตัวเรา มันคือความเสี่ยงของเรา

 

เราจะมีวิธีสร้างความตระหนักเรื่องนี้ให้คนไทยเพิ่มขึ้นอย่างไร และต่างประเทศมีวิธีสร้างความตระหนักอย่างไรบ้าง

คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนค่อนข้างเยอะนะ แต่เราไม่ได้มองภาพรวมและไม่ได้ปะติดปะต่อกัน อยากจะให้ลองมองภาพรวมมากขึ้นและปะติดปะต่อกันมากขึ้น จริงๆ ข้อมูลหลายๆ อย่างเราหาได้ไม่ยากเลย เช่น เราอยากรู้ว่าใครปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่บ้าง เราเสิร์ชแล้วก็จะเจอเลยว่าภาคส่วนไหนปล่อยมากที่สุด มีชื่อเลยว่าใครเป็นคนปล่อยบ้าง

 

3

อนาคตจะไม่มีงานที่ทำลายโลก

Photo by Shane Rounce on Unsplash

ต่อไปงานด้านสิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืนจะะมีความสำคัญมากแค่ไหน

ถ้าสรุปง่ายๆ งานอะไรก็ตามที่ทำลายโลก จะไม่มีในอนาคต เตรียมตกงานได้เลยถ้าตอนนี้ทำงานที่ทำลายโลก งานในอนาคตจะมีแค่ว่าแก้ปัญหาเดิม หรือทำให้ดีขึ้น เท่านั้นเอง และจะไม่ได้จำกัดแค่งานสายใดสายหนึ่ง แต่คือทุกงานเลย เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน climate change ทุกงานจะล้อมรอบด้วยเรื่องหลักพวกนี้ เพราะผู้บริโภคเองก็ต้องการด้วย ไม่มีใครอยากซื้อของที่ทำลายโลก เรื่อง climate risk เรื่องคาร์บอนก็จะมาตกอยู่ในต้นทุนของธุรกิจ และธุรกิจไหนที่ปล่อยเยอะสุดท้ายก็จะทำไม่ได้ ก็ต้องมาลดเพราะไม่อย่างนั้นต้นทุนจะสูงเกินไป

 

จะมีอาชีพไหนบ้างที่ต้องมาทำงานเกี่ยวกับ climate risk

การตลาด Product Manager นักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม บัญชี การเงินก็กลายเป็นฝ่ายที่ต้องมาดูเรื่อง climate risk มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานหลักเลย เช่น งานประเมินความเสี่ยง แต่ก่อนไม่มีความเสี่ยงเรื่องโลกร้อน พอมีความเสี่ยงเรื่องโลกร้อน คนที่ทำเรื่อง data ก็ต้องเอาเรื่องนี้ไปคิดแล้ว สายที่เราอาจจะไม่คิดอย่างเช่นสายก่อสร้าง จะรักโลกอย่างไร ต้องสร้างตึกใช่ไหม ก็มีวิศวกรใหม่ๆ มีบริษัทใหม่ๆ ที่ทำซีเมนต์ให้เอาคาร์บอนเข้าไปเก็บได้หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้วัสดุที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง สายอาคาร สายออกแบบ ก็ต้องออกแบบตึกให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือแทบทุกฝ่าย ทุกงาน เข้ามาเกี่ยวข้องหมด

 

มหาวิทยาลัยไทยจะปรับตัวทันไหม

อาจจะไม่ใช่แค่ในไทย ต่างประเทศก็เป็นเหมือนกัน ต่างประเทศก็มีคนจบมาไม่มีงานทำ เราอาจจะเรียนจบมา 4 ปีบางทีมันก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ตลาดแล้ว แล้วที่เห็นก็คือคนจบมาก็เปลี่ยนสายตัวเอง เพราะว่าอาจจะไม่ชอบหรือไม่มีงานให้ทำก็เลยเปลี่ยนสาย แต่คิดว่าเปลี่ยนสายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะในตอนนี้เราก็ต้องเรียนทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว

 

ในเมืองไทยมีโอกาสที่งานด้านนี้จะเติบโตมากขึ้นไหม

มันเกิดขึ้นแน่นอน และมันจะเร็วมาก เพราะนี่เป็นยุคอินเตอร์เน็ต มันมีหลายอย่างที่ตอนแรกเหมือนจะช้า แต่สุดท้ายเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ปกติเราคิดว่ามันจะอีก 3 ปี 5 ปี แต่จริงๆ มันจะเร็วกว่านั้นเยอะ เดี๋ยวนี้ 1-2 ปีก็มาแล้ว หลายๆ อย่างมันจะเร็วกว่าที่เราคิดเสมอ

 

เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้เราเห็นเทรนด์อนาคตแล้วว่าจะไปทาง low carbon, green economy, circular economy ความยั่งยืน ตอนนี้ทุกคนรู้แล้ว คำถามคือเรากำลังรออะไรอยู่ เรารอให้คนอื่นทำก่อนแล้วเราค่อยทำตาม เพื่อเราจะเสียโอกาสให้กับตัวเองเหรอ หรือว่าเราจะทำเลย เพื่อที่วันหนึ่งเราจะเป็นผู้นำและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ยิ่งเราช้าเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งแย่และยิ่งเสียโอกาสในอนาคตมากขึ้น ดังนั้นทำไมเราจึงไม่เริ่มทำเลย

 

สำหรับน้องๆ ที่ยังเรียนอยู่ อยากฝากว่างานที่เราอยากทำ เราอาจจะยังหาไม่เจอตอนนี้ แต่มันไม่ได้หมายความว่างานนั้นไม่มี ลองดูว่างานที่ต่างประเทศมีไหม และเผลอๆ เราอาจจะมาทำเองที่ไทยก็ได้ คือถ้ามันไม่มีให้สมัครเราก็เริ่มทำด้วยตัวของเราเอง ทุกวันนี้เวลาจะเริ่มทำอะไรมันไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด ต้นทุกมันถูกลงไปมาก เราสามารถเริ่มทำได้ แล้วก็อยากให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ งานที่ทำอยู่ในตอนนี้มันยึดติดกับระบบเก่าๆ โครงสร้างเก่าๆ ซึ่งระบบพวกนี้มันไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้ว และจะมีพื้นที่ มีโอกาสให้กับงานใหม่ๆ เยอะมากที่เข้ามาแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราหางานไม่ได้ในไทย ก็ไปดูเทรนด์จากต่างประเทศ เพราะในไทยก็ตามต่างประเทศแน่นอน ในต่างประเทศในทุกสาขาอาชีพมีงานที่มีส่วนช่วยทำให้ด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเยอะมาก เราก็ต้องสู้เพื่ออนาคตตัวเอง อนาคตของเราเอง เราสู้คนรุ่นก่อนๆ ได้เพราะตอนนี้มันคนละเกมกันแล้ว เราอาจจะคิดว่าเราเรียนจบมาไม่มีประสบการณ์ เราอาจจะไปสู้คนที่มีประสบการณ์มา 30 ปีได้อย่างไร แต่มันไม่สำคัญแล้วเพราะตอนนี้เกม กติกามันเปลี่ยนไปแล้ว คือคนที่มีประสบการณ์มาก่อนก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะทุกอย่างมันต้องคิดใหม่ เพราะฉะนั้นเราก็สู้ได้

 

เรื่อง: ลฎาภา อินทรมหา

สัมภาษณ์ คุณสิรภพ บุญวานิช 10 มิถุนายน 2564

รูปถ่ายประกอบบทความ (บางส่วน) คุณสิรภพ บุญวานิช

Share this :