Share this :

นอกจากเดือนสิงหาคมจะมีวันสำคัญอย่างวันแม่หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังมีวันที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ก็คือ “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” นั่นเอง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทางด้านดาราศาสตร์ ได้ถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม ตามที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากวันนี้ในปี พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หรือ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ได้อย่างแม่นยำ

งานวิจัยถือได้ว่าเป็นด้านหนึ่งหรือศาสตร์หนึ่งของงานวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมมากมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนั้น Chula Zero Waste จึงขอหยิบเอาผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ ที่สร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนกำลังพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านนี้อยู่

ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฟ้าฝนเป็นเรื่องที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ นอกจากไหว้เจ้าขอฟ้าขอฝนแบบดั้งเดิม เกษตรกรยุคใหม่ก็เลือกที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ได้ผลผลิตแน่นอนกว่า เข้ามาช่วยทำให้ผลิตผลงอกงามได้ดังใจ พลาสติกคลุมดินจึงเป็นอีกวัสดุทางการเกษตรที่ถูกหยิบมาใช้ เพื่อช่วยให้ดินชุ่มชื่น ชะลอการเหยของน้ำในดิน และช่วยป้องกันวัชพืชที่จะเติบโตมาแย่งสารอาหารจากต้นไม้ที่เพาะปลูก แต่เมื่อพลาสติกเหล่านี้หมดสภาพก็จะแตก แห้ง และกรอบ กลายเป็นเศษขยะที่ฝังลงในดิน ส่งผลร้ายต่อดินเพาะปลูก หากมีการเปลี่ยนพลาสติกคลุมดินก็กลายเป็นขยะอยู่ดี แถมเป็นขยะที่ชิ้นใหญ่เสียด้วยสิ!

ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะทำให้เกษตรกรไทยพัฒนาเป็นเกษตรกรยุคใหม่เวอร์ชั่นอัพเกรดใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยศาสตราจารย์ ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันวิจัยกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใช้ศาสตร์ความรู้คิดค้นออกมาเป็น “ฟิล์มคลุมดินเพื่อระบบนิเวศ”(Eco-Mulch Film) ที่มีคุณสมบัติคล้ายพลาสติกคลุมดินทั่วไป แต่ที่เจ๋งกว่า คือ สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ วกกลับมาเป็นปุ๋ยให้กับพืชผล และไม่ทิ้งสารตกค้างไว้ในดิน เพราะมีส่วนประกอบที่ทำมาจากธรรมชาติที่ได้รับการดัดแปลงทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้สามารถขึ้นรูปได้และกลายมาเป็นฟิล์มคลุมดินในที่สุด

ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ยังคงพัฒนาต่อโดยนำไปใช้กับชิ้นงานอื่นๆ เช่น ผลผลิตเกี่ยวกับช้อน ส้อม มีดถ้วย หรือแม้กระทั่งถาดอาหารสำเร็จรูปตามร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้วัสดุที่ใช้แล้วทิ้งเหล่านี้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สามารถอ่านบทความงานวิจัยนี้ได้ที่สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีอีกหลายผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีล้ำๆ แล้วจะรู้ว่างานวิจัยไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

Together we can มั่นใจเราทำได้
ข้อมูลจาก TK Park, สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(คลิก↵)

Share this :