Share this :

นอกจากเดือนสิงหาคมจะมีวันสำคัญอย่างวันแม่หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังมีวันที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ก็คือ “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” นั่นเอง

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทางด้านดาราศาสตร์ ได้ถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม ตามที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากวันนี้ในปี พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หรือ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ได้อย่างแม่นยำ

งานวิจัยถือได้ว่าเป็นด้านหนึ่งหรือศาสตร์หนึ่งของงานวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมมากมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนั้น Chula Zero Waste จึงขอหยิบเอาผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ ที่สร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนกำลังพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านนี้อยู่

ศูนย์เชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวล (Center of Fuels and energy form by Biomass) โดยศาสตราจารย์ ดร.ธราพงศ์ วิทิตศานต์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งศูนย์เชื้อเพลิงที่ส่งเสริมการพัฒนาชีวมวลให้มีประสิทธิภาพในระดับอุตสาหกรรม หรือกล่าวให้เข้าใจมากขึ้นคือการพัฒนาพลังงานให้สามารถนำมาใช้งานได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง ซึ่งการวิจัยเพื่อให้ได้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การแปรรูปขยะพลาสติกและขยะทางการเกษตรให้เป็นพลังงาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีประสิทธิภาพเทียบเท่าเชื้อเพลิงที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับการแปรรูปบ่อขยะเป็นบ่อน้ำมันต้องใช้ระบบไพโรไลซิส (Pyrolysis) หรือกระบวนการกลั่นสลายเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมี เป็นการย่อยสลายขยะให้มีโมเลกุลเล็กจิ๋วให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งในขยะพลาสติกทุกชิ้นจะมีส่วนประกอบเดียวกันกับปิโตรเลียม นั่นหมายความว่าในขยะพลาสติกมีโมเลกุลน้ำมันซ่อนอยู่ และกระบวนการไพโรไลซิสนี้เองสามารถทำให้ขยะกลายเป็นน้ำมันได้

กระบวนการแปลงขยะด้วยระบบไพโรไลซิส ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของโลกนี้ เพราะในต่างประเทศได้มีการใช้ระบบนี้มาแล้ว โดยต่างกันตรงที่ขยะในต่างประเทศมีการคัดแยกอย่างเป็นระบบทำให้ขยะมีความสะอาด นำมาแปรรูปได้ง่าย แต่ขยะในประเทศไทยทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่นๆ ทำให้เครื่องผลิตน้ำมันขยะจากต่างประเทศใช้ได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงต้องมีการคิดค้นเพื่อจัดการกับขยะในประเทศไทยโดยเฉพาะ นี่คงเป็นอีกหนึ่งข้อเสียของไทยที่ไม่มีการคัดแยกขยะและไม่จริงจังกับการสร้างระบบจัดเก็บขยะ หรืออีกนัยหนึ่งคือ จิตสำนึกของประชากรยังไม่ถูกปลูกฝังที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นกระบวนการแยกขยะที่ต้นทางจึงไม่เกิดผล

ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์เชื้อเพลิงฯ ยังมีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอีกทางหนึ่ง นั่นก็คือ เชื้อเพลิงแข็งจากถ่านอัดแท่งและถ่านกัมมันต์ ซึ่งมีความแตกต่างจากถ่านเผาทั่วๆไปโดยมีคุณสมบัติเผาไหม้นานถึง 3 ชั่วโมง ไม่เกิดการแตกปะทุระหว่างเผาไหม้ มีควันและขี้เถ้าน้อย และที่สำคัญผลิตจากขยะทางการเกษตร เช่น กะลามะพร้าว เศษไม้ไผ่ หรือแม้กระทั่งเหง้ามันสำปะหลัง ทำให้ขยะประเภทนี้กลายเป็นศูนย์แถมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย

สามารถอ่านบทความงานวิจัยนี้ได้ที่สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีอีกหลายผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีล้ำๆ แล้วจะรู้ว่างานวิจัยไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

Together we can มั่นใจเราทำได้
ข้อมูลจาก TK Park, สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(คลิก↵)

Share this :