นอกจากเดือนสิงหาคมจะมีวันสำคัญอย่างวันแม่หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังมีวันที่สำคัญอีกหนึ่งวัน ก็คือ “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” นั่นเอง
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ทางด้านดาราศาสตร์ ได้ถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม ตามที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากวันนี้ในปี พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หรือ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ได้เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ได้อย่างแม่นยำ
งานวิจัยถือได้ว่าเป็นด้านหนึ่งหรือศาสตร์หนึ่งของงานวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมมากมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนั้น Chula Zero Waste จึงขอหยิบเอาผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ ที่สร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนกำลังพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านนี้อยู่
“ร่างกาย” เป็นส่วนสำคัญของสิ่งมีชีวิตที่ประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ฯลฯ โดยกอดทับพันเกี่ยวโยงใยจนเกิดเป็นรูปร่างที่ซับซ้อน เมื่อร่างกายชำรุดหรือป่วย ผู้ที่เยียวยารักษาหรือคุณหมอต้องผ่านการเรียนรู้และเข้าใจในระบบต่างๆ ของร่างกายเพื่อหาจุดที่ต้องรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สำหรับ “ คุณหมอคน” อาจมีอาจารย์ใหญ่ที่มีคนบริจาคร่างกายเพื่อให้ได้ศึกษาความซับซ้อนของระบบภายในและยังมีหุ่นจำลองที่ช่วยให้เห็นโครงสร้างได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับ “คุณหมอสัตว์” อุปกรณ์การเรียนเหล่านี้ช่างหายากยิ่งนัก ยิ่งแบบจำลองร่างกายต้องซื้อหาจากต่างประเทศซึ่งก็มีราคาแพงเอาเรื่อง!
ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แต่แล้ววันหนึ่งกองเศษกระดาษในคณะสัตวแพทย์ก็ไปสะดุดตาผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิงภาวนา เชื้อศิริ จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยสาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเกิดไอเดียนำขยะจากกระดาษเหลือใช้นำมาทดลองหล่อปั้นเป็น “หัวสุนัขจำลอง” โดยใช้หลักการ Paper Mache เข้ามาช่วยผนวกกับการหล่อยางพาราให้เป็นเนื้อหนังและอวัยวะ นอกจากกระดาษเอกสารเหลือใช้ยังมีกระดาษจาก กล่องนม กระดาษลัง และแกนกระดาษชำระที่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดและขึ้นแบบเป็นชิ้นงาน จนออกมาเป็น หัวสุนัขเสมือนจริงที่มีเส้นเลือดและอวัยวะสำคัญๆ ในร่างกาย แถมสีสันสดใส น้ำหนักเบา และขนย้ายสะดวก
ภาพจาก สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวสุนัขจำลองจากกระดาษเหลือใช้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนิสิตสัตวแพทย์ว่าสามารถมองเห็นเส้นเลือดและโครงสร้างของระบบต่างๆ ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดแจ๋ว แถมไม่มีกลิ่นมากวนใจ ปลอดภัยจากเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในน้องหมาอาจารย์ใหญ่อีกด้วย เมื่อหัวสุนัขจำลองได้รับการตอบรับดีขนาดนี้อาจารย์ภาวนาก็มีกำลังใจอยากพัฒนาต่อยอดชิ้นงานให้เป็นชิ้นส่วนอื่นๆ ในร่างกายของสัตว์เพื่อที่จะได้ลดต้นทุนในการซื้อหุ่นจำลองร่างกายสัตว์จากต่างประเทศ ยังเป็นการช่วยลดขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในองค์กรได้อย่างดีเลยทีเดียว
สามารถอ่านบทความงานวิจัยนี้ได้ที่สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีอีกหลายผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีล้ำๆ แล้วจะรู้ว่างานวิจัยไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก
Together we can มั่นใจเราทำได้
ข้อมูลจาก TK Park, สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(คลิก↵)