ขยะ…แยกแล้วส่งไปไหนดี เป็นคำถามที่มีหลายคำตอบ จะขายให้ซาเล้งเจ้าประจำก็ได้ จะแพ็คลงกล่องส่งไปโครงการรับขยะรีไซเคิลอื่นๆ ก็ดี หรือจะให้แม่บ้านเอาไปขายก็เข้าท่า
วันนี้เราอยากมานำเสนออีก 1 คำตอบ ว่าขยะแยกแล้ว ก็ส่งไปชิงโชคได้! แถมรางวัลใหญ่ไม่ใช่ธรรมดาๆ เพราะรางวัลที่ว่าคือทองคำแท่งที่แจกกันทุกเดือน ในแคมเปญ “แยกขยะลุ้นทอง” โดยสตาร์ทอัพหน้าใหม่ชื่อ Trash Lucky นั่นเอง ถึงตอนนี้อยากชวนวางมือจากการแพ็คขยะสักครู่ แล้วมาทำความรู้จักกับ Trash Lucky กัน สักนิด ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นผู้โชคดีคนต่อไปในเดือนหน้าก็ได้
สตาร์ทอัพแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากความรักทะเล
การดำน้ำเป็นกิจกรรมสุดโปรดของคนรักทะเลหลายคน คุณณัฐภัค อติชาตการ หรือคุณแนท หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Trash Lucky ก็เช่นกัน คุณแนทดำน้ำมา 10 ปี และทุกครั้งที่ดำน้ำก็พบกับขยะพลาสติกให้เก็บขึ้นมาด้วยทุกที นับวันขยะพลาสติกในทะเลก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่าหากมนุษย์ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ภายใน 30 ปีในทะเลจะมีขยะพลาสติกมากกว่าปลา และคนรุ่นใหม่อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นทะเลที่สวยงามอีกแล้ว คุณแนทไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปเห็นทะเลที่เต็มไปด้วยพลาสติก แต่อยากให้เห็นทะเลที่สวยงามอย่างที่เขาเคยเห็น ด้วยแรงบันดาลใจนี้ บวกกับประสบการณ์ในการทำงานในวงการสตาร์ทอัพมาก่อน จึงก่อตั้ง Trash Lucky สตาร์ตอัพที่สร้างความสนุกแบบลุ้นๆ ในการแยกขยะด้วยการชวนคนส่งขยะรีไซเคิลมาลุ้นทองคำ
ส่งขยะแบบลุ้นๆ
คนที่แยกขยะเป็นประจำคงคุ้นเคยกับการแยกขยะใส่กล่องส่งไปรษณีย์ไปให้โครงการรับขยะรีไซเคิลกันดี แต่เส้นทางการแยกขยะในแต่ละรอบจะจบลงที่การส่งขยะ สำหรับ Trash Lucky เส้นทางการแยกขยะไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากส่งขยะแล้วยังมีช่วงเวลาให้ลุ้นรางวัลกันต่อ แล้วการลุ้นรางวัลมาจากไหน?
คุณแนทเล่าให้ฟังว่า “เราคิดว่าเราจะสร้างแรงจูงใจ สร้างแพลตฟอร์มอย่างไรให้คนอยากแยก ไม่อย่างนั้นเขาก็ทิ้งไปเป็นขยะธรรมดา ปล่อยให้เป็นหน้าที่หรือปัญหาของคนอื่นที่มานั่งแยก แล้วเห็นว่าคนไทย 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่เป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาทต่อปี เราก็รู้ว่าคนไทยชอบลุ้น แต่ไม่ค่อยชอบแยก เราก็เลยคิดว่าเราเอาคอนเซปต์นี้มาเล่นก็แล้วกัน ทำให้การรีไซเคิลสูงขึ้น แล้วสำหรับหลายคนการที่เขามีโอกาสได้รางวัลใหญ่มันสร้างแรงจูงใจมากกว่าอะไรที่เขาได้เล็กๆ ก็เลยลองดู เป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนมุมมองให้เขาเห็นคุณค่าของของพวกนี้มากขึ้น ว่ามันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นทองได้นะ เงินก็จะเพิ่มขึ้นมา” เพราะเห็นว่าในหลักการ 3Rs การแยกขยะทำได้ง่ายที่สุด จึงเริ่มจากการแยกขยะก่อน แล้วค่อยขยับไปที่การลดและการใช้ซ้ำ
คนที่ส่งขยะมาให้ Trash Lucky จึงมีทั้ง “สายแยก” คือคนกลุ่มที่แยกขยะอยู่แล้วและชักชวนคนในครอบครัว คนรอบตัวมาแยกขยะด้วยกัน Trash Lucky อยากให้คนกลุ่มนี้ได้รับความสะดวกในการแยกขยะมากขึ้น และ “สายลุ้น” คือคนกลุ่มที่ชอบลุ้นรางวัล ซึ่งการมีรางวัลเป็นแรงจูงใจทำให้ “สายลุ้น” ที่ชอบชิงโชค ลุ้นรางวัลอยู่แล้วผันตัวมาเป็นคนที่เริ่มแยกขยะและส่งขยะมาให้ Trash Lucky เรื่องน่ารักในการส่งขยะคือมีสมาชิกของ Trash Lucky ครอบครัวหนึ่งที่แต่เดิมทั้งครอบครัวมีคนแยกขยะแค่คนเดียวอยู่หลายปี ชวนพ่อแม่พี่น้องเท่าไหร่ก็ไม่มีใครมาช่วยแยกด้วยสักที แต่เมื่อมี Trash Lucky ให้แยกขยะลุ้นทอง คนทั้งครอบครัวก็พร้อมใจกันมาช่วยแยกขยะเพื่อส่งไปลุ้นทองคำ จนตอนนี้อาม่าที่เคยไม่แยกขยะกลายเป็นมือเหยียบขวด PET ประจำบ้าน เพื่อให้ขวดแบน ส่งได้ครั้งละมากๆ ได้ทั้งการออกกำลังกายและแยกขยะไปในตัว
แยก แลก ลุ้น
แยก แลก ลุ้น คือ 3 ขั้นตอนในการส่งขยะไปให้ Trash Lucky
แยก แยกขยะออกเป็นพลาสติก (รับพลาสติกประเภท 1-PET, 2-HDPE, 5-PP) แก้ว กระดาษ กล่อง UHT กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก
แลก ส่งขยะไปให้ Trash Lucky เพื่อรับแต้มสะสมแลกตั๋วจับรางวัล โดยสามารถส่งขยะได้ 3 วิธี
- แพ็คขยะส่งให้ Trash Lucky ทางไปรษณีย์
- ซื้อกล่องลังที่รวมค่าส่งแล้วจาก Trash Lucky ทางไลน์ @trashlucky เมื่อรวบรวมขยะรีไซเคิลได้เต็มกล่องแล้วไลน์แจ้งให้มารับ Trash Lucky จะบริการรับขยะรีไซเคิลถึงบ้าน
- นำขยะไปส่งที่จุด Drop point ของ Trash Lucky ด้วยตัวเอง โดยส่งได้ที่ออฟฟิศของ Trash Lucky ที่สามเหลี่ยมดินแดง และซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ได้ หรือหากโรงเรียน หมู่บ้าน ชุมชน มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่เข้าร่วมโครงการกับ Trash Lucky ก็นำขยะไปส่งที่จุด Drop point ในสถานที่เหล่านี้ได้เช่นกัน (บางที่อาจจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า)
การส่งขยะไม่มีกำหนดน้ำหนักขั้นต่ำ แต่แนะนำว่าควรรวบรวมให้ได้อย่างน้อย 1 กิโลกรัมเพื่อให้คุ้มกับค่าขนส่ง โดยขยะแต่ละประเภทจะมีคะแนนต่อกิโลกรัม เช่น พลาสติก 1 กิโลกรัม ได้คะแนนสะสม 4 แต้ม กล่องนม 1 กิโลกรัม ได้คะแนนสะสม 5 แต้ม และเมื่อสะสมคะแนนครบทุก 5 แต้มจะแลกตั๋วจับรางวัลได้ 1 ใบ
ลุ้น ลุ้นรางวัลทองคำแท่งและบัตรกำนัลทุกเดือน หากส่งขยะเยอะยิ่งได้ตั๋วจับรางวัลเยอะ โอกาสถูกรางวัลก็มากขึ้นด้วย
นอกจากการแยกขยะลุ้นทอง Trash Lucky จัดเวิร์กชอปให้กับโรงเรียนและคอนโดที่สนใจเข้าร่วมโครงการฟรีๆ โดยเป็นเวิร์กชอปให้ความรู้เรื่องปัญหาขยะพลาสติก หลักการ 3Rs และจบการเวิร์กชอปแล้วสนใจเข้าร่วมโครงการกับ Trash Lucky ก็สมัครได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
วิ่งให้ทันการจัดการขยะของต่างประเทศ
เมื่อมองเรื่องการจัดการขยะในระดับประเทศ ประเทศไทยอยู่ในระดับเพิ่งเริ่มต้น แต่ในทวีปยุโรปเริ่มมาก่อนราว 40-50 ปี และประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ มีการออกนโยบายในการจัดการขยะ ที่น่าสนใจคือนโยบายเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมและบริษัทใหม่ๆ มารองรับการจัดการขยะให้ดี กระตุ้นให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain เข้ามาใช้ในการจัดการขยะ
เมื่อหันกลับมาดูประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มจริงจังกับการจัดการขยะ และมีความท้าทายใหญ่ว่าจะจัดการขยะให้ดีขึ้นอย่างไรในระยะเวลาที่น้อยกว่าให้ทันกับความเร่งด่วนของปัญหา ข่าวดีคือในตอนนี้ในเมืองไทยจะมีคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีคนตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องมีเพิ่มขึ้นคือคนที่ลงมือทำ ลงมือแยกขยะ ลดขยะ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะการแยกขยะรีไซเคิลในประเทศไทยในตอนนี้ขับเคลื่อนด้วยซาเล้งซึ่งไม่มีทางแยกขยะของทุกคนไหว หากทุกคนช่วยกันแยกตั้งแต่แรก อัตราการแยกขยะในประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย
ภาครัฐเองก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการจัดการขยะให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกนโยบาย สร้างกลไก และมาตรการต่างๆ เช่น
- การสนับสนุนโรงงานรีไซเคิลและธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมในการรีไซเคิล โดยเฉพาะวัสดุที่รีไซเคิลลำบาก เช่น multilayered material ถุงขนมขบเคี้ยว เพราะประเทศไทยยังไม่มีแหล่งรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้
- การเพิ่มภาษีเม็ดพลาสติกใหม่ (virgin plastic) เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกใหม่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน และยังมีราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ทำให้ไม่เกิดความต้องการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล
- การออกแบบสินค้าให้ลดการใช้พลาสติก ในตอนนี้รัฐบาลได้ยกเลิกการพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มแล้ว หากขยายไปสู่สินค้าอื่นๆ จะดีมาก
- การสนับสนุนการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกอย่างจริงจัง รวมทั้งสร้างระบบสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรม
- การนำเข้าวัตถุดิบ ต้องมีการตรวจอย่างเข้มงวดว่าไม่มีขยะปนเปื้อนหรือขยะอื่นๆ หลุดรอดเข้ามา รวมทั้งต้องสนับสนุนการจัดการขยะในประเทศให้ดีขึ้น
ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีจุดเริ่มต้น บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดที่ระดับโครงสร้างและบางครั้งจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากจุดเล็กๆ กับความฝันอย่างที่ Trash Lucky มีความมุ่งมั่นว่า “อยากให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเขาเอง และลูกหลานเขาด้วย ว่าตอนนี้เรากำลังสร้างมรดกขยะให้คนอื่นต่อไป แต่ยังไม่สายไปถ้าเราจะเริ่มหันมาแยกขยะแล้วก็ลดใช้ หันมาใช้ซ้ำ หันมารีไซเคิล เราจะสามารถส่งมอบโลกที่มันสะอาดกว่า สวยกว่า ให้คนอื่นต่อไปได้”
——————————————
Trash Lucky เปิดรับนิสิตนักศึกษาที่สนใจฝึกงานตลอดปี สามารถส่ง CV เขียนจดหมายแนะนำตัวและติดต่อฝึกงานได้ที่อีเมล careers@trashlucky.com
Website https://www.trashlucky.com/
Facebook www.facebook.com/trashlucky
เรื่อง: ลฎาภา อินทรมหา
สัมภาษณ์ คุณณัฐภัค อติชาตการ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564