แต่ดั้งแต่เดิมคนไทยใช้แม่น้ำลำคลองในการสัญจร อาบน้ำ ซักผ้า ค้าขาย หรือแม้แต่รอหนุ่มพายเรือแจวมาจีบที่ท่าน้ำ
ยุคสมัยเปลี่ยนความศิวิไลบังเกิด ถนนและรถยนต์ถูกเลือกใช้ในการสัญจรไปมาของผู้คน บทบาทของแม่น้ำลำคลองจึงเปลี่ยนไป หลายสายถูกทิ้งล้าง และที่แย่ที่สุดคือ กลายเป็นแพขยะเคลื่อนตัวอย่าง Slow Life เหมือนสายพายขนส่งกระเป๋าในสนามบิน
ภาพเหตุการณ์ขยะลอยคออยู่ในแม่น้ำคูคลองยังคงมีให้เห็นชินตา จนบัดนี้ ภาพขยะในแม่น้ำคูคลองก็ยังถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องในช่องทางสื่อต่างๆ เช่นเดียวกับตัวอย่างภารกิจการกู้ขยะของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ณ คลองลาดพร้าว พระราม 9 จากสกู๊ปของ THE STANDARD
อ่านสกู๊ปข่าวได้ที่: THE STANDARD
หลังจากที่เห็นแล้วว่าใน 1 วัน จะมีขยะไหลมารวมกันเฉลี่ยวันละ 1 ตัน! โดยมีสถิติในช่วงต้นปี 2560 กรุงเทพมหานครเก็บขยะจากหน้าสถานีสูบน้ำได้ถึง 1,300 ตัน และเก็บขยะในแม่น้ำได้ทั้งหมด 404 ตัน ซึ่งเท่ากับว่ามีขยะเฉลี่ย 13.5 ตันต่อวัน หากวันไหนฝนตกก็จะเก็บขยะที่ลอยมากับน้ำได้เพิ่มอีก 15 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะชิ้นใหญ่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนทิ้งลงแม่น้ำ เช่น ผ้าใบ ป้ายไวนิลโฆษณา โต๊ะ ตู้ ชั้น ยางรถยนต์ ที่นอน รวมไปถึงโซฟาบุนวมขนาดใหญ่
รูป Infographic ประกอบจาก BLT Thailand
อ่านบทความได้ที่: BLT Thailand
แน่นอนว่าถ้าปล่อยขยะเหล่านี้ให้เน่าเปื่อยไปเองและลอยเคว้งคว้างอยู่ในลำน้ำก็คงจะไม่มีวันหมดไป แต่กลับกันขยะเหล่านี้จะย้อนมาทำลายคนที่อยู่บนบกแทน เช่น ส่งกลิ่นเหม็นเน่า แหล่งรวมเชื้อโรค รวมไปถึงสร้างปัญหายอดฮิตของคนเมือง นั่นก็คือ ฝนตก น้ำท่วม และรถติด!
แม้ว่าทางกรุงเทพฯ จะพยายามสร้างอุโมงค์ขึ้นมาเพื่อระบายน้ำในยามฝนตก แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าทุกคนยังคงทิ้งขยะลงแม่น้ำ ต่อให้อุโมงค์ใหญ่แค่ไหน ขยะก็เข้าไปอุดตันอยู่ดี และที่สำคัญ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ “ขยะก็จะเคลื่อนย้ายลงสู่ทะเลและสร้างปัญหาไม่จบไม่สิ้นให้กับระบบนิเวศต่อไป
เนื่องจากวันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวัน “อนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางชลมารค เพื่อตรวจสภาพคลองแสนแสบจากคำกราบบังคมเชิญของชมรมใจภักดิ์รักต้นไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมมาถึงประชาชน หันกลับมาให้ความสำคัญกับแม่น้ำคูคลองอีกครั้งหนึ่ง
อย่าปล่อยให้ขยะนอนเปียกอยู่ในลำคลอง ทางที่ดีควรทิ้งขยะให้ลงถังเสียตั้งแต่แรกจะดีกว่า ถ้าเราช่วยกันคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เราก็จะสามารถคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งช่วยลดการทำลายขยะที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ดีไม่ดี…อาจจะได้แหล่งพักผ่อน แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ปลุกชีพการเดินทาง การสัญจรทางน้ำขึ้นมาอีกครั้ง ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตสัก 10-20 ปีข้างหน้า ยังจะมีหนุ่มพายเรือมาจีบก็เป็นได้ คลาสสิคจะตายไป
Together we can มั่นใจเราทำได้!
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, BLT Thailand, THE STANDARD