ในเดือนมิถุนายนของทุกปีจะมีวันที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมถึง 2 วัน ภายในหนึ่งอาทิตย์ ได้แก่ วันที่ 5 มิถุนายนเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) และวันที่ 8 มิถุนายน เป็น“วันมหาสมุทรโลกหรือวันทะเลโลก “ (World Oceans Day)
วันที่ 8 มิถุนาของทุกปีเป็นวันมหาสมุทรโลกหรือวันทะเลโลกจัดขึ้นโดยองค์กรสหประชาชาติ (UN) เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนสนใจปัญหาและการอนุรักษ์ท้องทะเล โดยมีความคิดมาจากประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Submit) ณ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ซึ่งมีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการมาโดยตลอดทุกปี จนกระทั่งสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายนเป็นวันมหาสมุทรโลกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2552
ปัญหาขยะในทะเล พวกเราได้รับทราบมาโดยตลอดจากทุกช่องทางสื่อว่าตอนนี้ขยะจากบนบกกำลังขนทับลงสู่ทะเล ไม่เพียงแต่ลอยฟุ้งอยู่บนผิวน้ำเท่านั้น ขยะบางชิ้นยังจมอยู่ใต้มหาสมุทรนอนรอวันย่อยสลายในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็สร้างปัญหาให้กับสัตว์ทะเลไม่น้อยและการจัดการขยะโดยการเก็บกู้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยแรงนักดำน้ำที่มีประสบการณ์พอสมควรและแข็งแรงพอที่จะดึงขยะขึ้นมาบนผิวน้ำ ซึ่งแรงต้านระหว่างน้ำกับแรงดึง ทำให้ขยะมีน้ำหนักมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะฉะนั้นการเก็บขยะในทะเลจึงไม่ใช่งานง่ายเลย
National Geographic ได้นำเสนอสารคดีขนาดสั้นประมาณ 1 นาทีครึ่ง ที่แสดงให้เห็นปริมาณขยะจากขวดพลาสติก (ส่วนหนึ่ง) ในเกาะแห่งหนึ่ง ที่ประเทศไต้หวัน โดยมีนักดำน้ำคนหนึ่งกำลังเก็บขวดพลาสติกลงในถุงตาข่าย ซึ่งดูเหมือนว่าปริมาณขยะจะไม่ลดลงเลย โดยภาพที่เห็นเป็นขยะเพียงชนิดเดียวที่ถูกนำเสนอ ยังมีขยะอีกหลายประเภทที่มีขนาดใหญ่และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ เช่น ยางรถยนต์ เบ็ดตกปลา สมอเรือ เชือก แห ถุงพลาสติก ฯลฯ
ชมคลิปสารคดีสั้นเรื่อง Here’s How Much Plastic Trash is Littering the Earth โดย National Geographic
ในประเทศไทยก็มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาขยะในมหาสมุทรเช่นกัน โดยข่าว 3 มิติได้นำเสนอผลกระทบซึ่งเกิดจากขยะในทะเลแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก กลายเป็นอาหารของกุ้ง หอย ปู ปลา และกลับมาเป็นอาหารของมนุษย์ในลำดับถัดมาตามห่วงโซ่อาหาร ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์ จะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง แต่การมีพลาสติกอยู่ในร่างกาย ก็คงไม่ใช่เรื่องดีหรอก! จริงไหม?
ชมคลิปข่าว 3 มิติเรื่อง “ปัญหาขยะในมหาสมุทร คาดอีก 33 ปี ขยะใต้ท้องทะเลจะมากกว่าประชากรปลา” ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยมีบทสัมภาษณ์ เรื่อง ไมโครพลาสติก จาก รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบข่าวด้วย
ปิดท้ายด้วยคลิปน่ารักๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับขยะในทะเลเปลี่ยนเป็นไมโครพลาสติกได้อย่างไรด้วยภาพประกอบที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น รวมไปถึงวิธีที่ทำให้เราช่วยกันลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากช่องรายการทางเว็บไซต์ You Tube โดย “ It’s OK To Be Smart” ในชื่อเรื่อง “How Much Plastic is in the Ocean?”
หวังว่าเรื่องราวจากผู้คนทั่วทุกมุมโลกที่พยายามให้ข้อมูลและนำเสนอเป็นข้อมูลคลิปวีดีโอที่ดูง่ายเข้าใจง่าย จะทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลก็เกิดวิกฤตใหญ่ไม่แพ้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมบนบก ถ้าช่วยกันดูแลรักษา คนละไม้คนละมือ ยังไงก็มั่นใจว่าต้องทำได้
Together We Can มั่นใจเราทำได้!
ข้อมูลจาก greenpeace, Youtube ข่าว 3 มิติ, Youtube National Geographic, Youtube It’s OK To Be Smart