Share this :

23 พฤษภาคม 2561 เป็นวันพุธธรรมดาวันหนึ่งของโลก แต่วันนี้เป็นวันพิเศษสำหรับสัตว์ตัวน้อยหลังตุงที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งวันพุธนี้เป็นวันเต่าโลก หรือ World turtle day นั่นเอง

American tortoise Rescue เป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรผู้ก่อตั้งวันเต่าโลกนี้ขึ้น โดยมีภารกิจในการอนุรักษ์และคอยช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล รวมถึงเป็นกระบอกเสียงในการปลุกจิตสำนึก และให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์เต่าแก่ประชาชน สืบเนื่องมาจาก “เต่า” เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประเภทหนึ่งที่มีจำนวนและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สาเหตุหลักล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกที่อยู่อาศัยและพื้นที่วางไข่ การทำประมงในพื้นที่หาอาหาร และที่สำคัญการทิ้งขยะลงในทะเล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เต่าทะเลเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ เพราะขยะบางประเภท อย่างเช่น ถุงพลาสติกมีลักษณะคล้ายแมงกะพรุนหรือสาหร่ายที่เป็นอาหารของเต่า ทำให้เต่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารขยะเหล่านี้เข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะอาหาร เกิดอาการอาหารไม่ย่อยและทำให้เต่าเสียชีวิตในที่สุด หรือแม้แต่ขยะบริเวณชายหาดที่สุมกองบนหาดทรายก็ทำให้เต่าไม่สามารถวางไข่ได้ หรือถ้าเต่าพยายามวางไข่จนสำเร็จ ลูกเต่าก็มีโอกาสในการรอดชีวิตน้อย เพราะครีบน้อยๆ นั้นไม่สามารถว่ายข้ามผ่านภูเขาขยะเพื่อออกไปสัมผัสทะเล รอเวลาเป็นเพียงแค่อาหารของนกทะเลเท่านั้น

สำหรับการรณรงค์ในประเทศไทยได้มีกฎหมายประกาศให้เต่าเป็นสัตว์คุ้มครองโดยห้ามมีการล่า ห้ามครอบครอง ตลอดจนห้ามค้าและห้ามนำเข้าหรือส่งออก จำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ รวมถึงสร้างศูนย์รักษาและอนุรักษ์เต่าทะเลอีกด้วย

รูปจากเฟสบุ๊ค: Thon Thamrongnawasawat

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข่าวการตายของเต่าออกมาเป็นระยะ เพราะเต่าไม่สามารถแยกแยะระหว่างขยะกับอาหารออกจากกันได้ อย่างเช่น ข่าวการพบศพของแม่เต่าตนุนอนตายอยู่บนหาดทราย โดยผลชันสูตรพบเศษขยะเต็มกระเพาะอาหาร ซึ่งข่าวนี้เป็นข่าวในช่วงเดือนมีนาคม 2560 ข้อมูลข่าวจาก Facebook “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แชร์เรื่องราวพร้อมภาพประกอบเต่านอนตาย โดยสิ่งที่ถูกนำออกมาจากกระเพาะนั้นก็คือ เศษเชือก และมีแนวโน้มว่าจะมีขยะประเภทอื่นๆ อยู่ในกระเพาะของแม่เต่าด้วย

รูปจากเฟสบุ๊ค: Thon Thamrongnawasawat

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจที่ ดร. ธรณ์ ฝากไว้นั่นก็คือ

  1. เราสูญเสียแม่พันธุ์เต่าตนุไป 1 ตัว หมายความว่าเราเสียลูกเต่าในอนาคตไปอีกนับพันตัว ทำให้วัฏจักรห่วงโซ่อาหารมีผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากเนื่องจากแมงกะพรุนเป็น อาหารชนิดหนึ่งของเต่า  เมื่อเต่ามีจำนวนลดลงส่งผลให้แมงกะพรุนมีจำนวนมากขึ้น สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นมนุษย์อยู่ดี
  2. ประเทศไทยจะถูกจับตามองมากขึ้นในเรื่องของการทิ้งขยะลงสู่ทะเลซึ่งส่งผลไปถึงภาพลักษณ์และอาจลุกลามไปถึงประเด็นเรื่องการประมงในระดับนานาชาติ
  3. ความสูญเปล่าจากความพยายามอนุรักษ์ของคนจำนวนหนึ่งที่พยายามฟูมฟักรักษาและเพาะพันธุ์เพื่อส่งเต่าคืนสู่ทะเล แต่สุดท้ายก็ต้องมาตายทั้งที่ยังไม่โตเพราะความมักง่ายของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงการสูญเสียแรงกาย แรงใจ แต่รวมไปถึงการสูญเสียงบประมาณมหาศาลที่ให้การสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย

ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

ข่าวการตายของเต่ายังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ข่าวในช่วงเดือนตุลาคม 2560 “เจ้าแสมสาร” เต่าตนุเพศเมียอายุเพียง 20 ปี ป่วยเพราะพิษจากเศษขยะจนขาดใจตาย ความทรมานนี้ไม่ใช่แค่การกินเศษขยะและถูกสะสมในกระเพาะอาหารเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดชื้น ติดเชื้อในกระแสเลือด ขาดน้ำ โลหิตจาง และมีแผลติดเชื้อที่กระดอง ซึ่งสาเหตุมาจากการคิดว่าเศษขยะของมนุษย์นั้นเป็นสาหร่ายหรือแมงกะพรุนที่กินอยู่เป็นประจำนั่นเอง

นอกจากในประเทศไทยแล้ว เต่าในต่างประเทศก็ประสบปัญหาเรื่องขยะเช่นกัน เหมือนกับแม่เต่าตัวหนึ่งในเกาะคริสต์มาส ในอาณาเขตดินแดนออสเตรเลีย ก็เจอปัญหาขยะของมนุษย์เหมือนกัน โดย BBC Earth และAlucia productions ได้บันทึกภาพแม่เต่าตนุกำลังพยายามกวาดทรายที่ปนเปื้อนไปด้วยขยะออกเพื่อวางไข่ อีกทั้งยังมีภาพลูกเต่าหลายสิบตัวที่เพิ่งฟัก พยายามตะเกียกตะกายออกจากกองขยะเพื่อมุ่งหน้าทะเล

นี่เป็นตัวอย่างของสัตว์โลกเพียงชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบจากขยะของมนุษย์ ยังมีสัตว์อีกหลากหลายสปีชีส์กำลังประสบปัญหาเดียวกัน ในฐานะของสัตว์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีสติปัญญาดีที่สุดอย่าง “ มนุษย์ “ จงลุกขึ้นมาช่วยกันทำบางอย่างเพื่อเพื่อนร่วมโลกตัวอื่นๆ อย่างเช่น การลดใช้ถุงผ้าพลาสติก  การลดใช้บรรจุภัณฑ์ การทิ้งขยะให้ถูกต้องลงถัง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ของเราสามารถช่วยชีวิตเต่าและสัตว์อื่นๆ ได้มากกว่า 1-2 ตัว

อย่าให้วันเต่าโลกกลายเป็นวันที่ไม่มีเต่าอยู่บนโลก
ถ้าช่วยกันเราทำได้ together we can มั่นใจเราทำได้!

ข้อมูลจาก sanook, ไทยรัฐออนไลน์, โพสต์ทูเดย์, เฟซบุ๊คส์ Thon Thamrongnawasawat, บีบีซีไทย

Share this :